สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วินัยการคลังไร้ค่าสุดท้ายดึงเงินธกส.อุดข้าว

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...บากบั่น บุญเลิศ/กนกวรรณ บุญประเสริฐ

การพลิกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่ยอมถอยกรูดปรับเพิ่มราคาในโครงการรับจำนำข้าวจาก 1.2 หมื่นบาทต่อตัน กลับมาเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ในฤดูกาลผลิตข้าวนาปรัง 2555/2556 ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 30 มิ.ย. หลังจากรัฐบาลเจอม็อบชาวนาบุกทำเนียบฯ

แค่หมัดแรก รัฐบาลก็แพ้น็อกราบคาบ

ยิ่งหากพิจารณาถึงเหตุผล ทุกคนก็อึ้ง มึน และไม่เข้าใจว่า ทำไมเพียงแค่ระยะเวลา 10 วัน วินัยการคลังที่เป็นเสมือนไม้ตายในการยกมากล่าวอ้างกับชาวนาถึงไร้ปัญหาโดย สิ้นเชิง

หากย้อนไปสัปดาห์ก่อนหน้านี้ ตอนที่ บุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็น รมว.พาณิชย์ และยังนั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน กขช. ได้ให้เหตุผลของการลดราคาจำนำข้าวลงมาเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท เพราะ “ต้องการรักษาวินัยการคลัง”

วันที่ 20 มิ.ย. บุญทรงให้เหตุผลว่า การรับจำนำที่ 1.2 หมื่นบาทต่อตัน จะทำให้โครงการรับจำนำมีผลขาดทุนไม่เกิน 67 หมื่นล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับคำยืนยันจาก กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เช่นกันว่า ต้องการรักษาวินัยการคลัง

ขณะที่ที่ผ่านมาข้อสรุปผลปิดบัญชีการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวปี 2554/2555 รวม 2 ฤดูกาล ขาดทุนแล้วกว่า 1.36 แสนล้านบาท และการปิดบัญชีข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2555/2556 รอบแรกในเบื้องต้นส่อแววว่าจะขาดทุนอีก 8.4 หมื่นล้านบาท โดยที่ยังไม่รวมผลการรับจำนำข้าวนาปรังที่เหลืออยู่ 2.93 ล้านตัน

ในขณะที่ขีดความสามารถในการก่อหนี้ของรัฐบาลนั้นเหลือแค่ 5,000 ล้านบาท ก็ชนเพดานการก่อหนี้ตามกฎหมายแล้ว

ทว่า ในการประชุม กขช. เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีกิตติรัตน์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เป็นประธาน กขช. กลับพลิกมติให้หวนไปใช้ราคารับจำนำที่ 1.5 หมื่นบาทต่อตันตามเดิม โดยจำกัดการรับจำนำไม่เกิน 5 แสนบาทต่อครัวเรือน เพราะเห็นว่ายังเหลือข้าวที่รอเข้าโครงการอีกเพียง 2.9 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เงินอีก 56 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ กิตติรัตน์ยังเชื่อใจในฝีมือของ ยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ ที่อ้างข้อมูลว่าก่อนสิ้นปีนี้จะระบายข้าวได้ทั้งแบบจีทูจี และสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ถึง 56 ล้านตัน คิดเป็นเงินกว่า 7.2 หมื่นล้านบาท

ไม่มีปัญหาเรื่องวินัยการคลัง

ทำให้เกิดคำถามคาใจประชาชนผู้เสียภาษีว่าแล้วที่ รมว.คลัง เคยให้เหตุผลว่า การปรับลดราคาจำนำลงมาก็เพื่อ “รักษาวินัยการคลัง” คืออะไรกัน หรือว่านี่คือ ไวท์ลาย หรือโกหกสีขาว รอบ 2 ของ รมว.คลัง คนนี้

ทั้งๆ ที่ข้อมูลข้าวที่เหลือเข้าโครงการก็ตัวเลขเดิมคือ 2.93 ล้านตัน จำนวนเกษตรกรประมาณ 2 แสนราย ใช้เงินก็ตก 4.55 หมื่นล้านบาทเท่าเดิม

เป็นไปได้ว่า ที่ประชุม กขช.เชื่อมือ รมช.พาณิชย์ ยรรยง ว่าสามารถระบายข้าวออกไปแล้วนำเงินมาใช้รับจำนำข้าวได้

แต่จะเป็นจริงและทำได้หรือไม่ต้องรอลุ้น

ข้อมูลที่ไม่ต้องลุ้นแต่เป็นจริงคือ ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เสนอให้รัฐบาลควบคุมผลการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวไว้ไม่เกินปีละ 1 แสนล้านบาท เพื่อให้ภาคการคลังยังรับมือได้ เพราะหากมากกว่านี้ ฐานะการคลังอาจมีปัญหาได้ เพราะมีสัญญาประชาคมว่าจะมีการทำงบสมดุลในปี 2560

ขณะที่หากวิเคราะห์โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมา 2 ปี จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลรับจำนำข้าวไปแล้ว 39.88 ล้านตัน ใช้เงินไปแล้วกว่า 6.3 แสนล้านบาท แยกเป็นเงินกู้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กู้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณ 4.1 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินจากสภาพคล่องจาก ธ.ก.ส.อีกกว่า 2.2 แสนล้านบาท ส่วนเงินที่ได้จากการขายข้าวแค่กว่า 1.13 แสนล้านบาท

ยังเหลือสต๊อกข้าวจำนวนมากที่ต้องระบายออกไป แล้วนำเงินมาใช้จำนำข้าว

หากกระทรวงพาณิชย์ขายข้าวไม่ได้อย่างที่อวดอ้างไว้ เชื่อแน่ว่ารัฐบาลก็น่าจะหวนเข้าไปล้วงเอาเงินจาก ธ.ก.ส.มาอุดรับจำนำข้าวที่เหลือ 2.9 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้เงินอีก 56 หมื่นล้านบาท รวมๆ แล้ว ธ.ก.ส.จะต้องควักเงินอุ้มจำนำข้าวเป็นเงินรวมๆ ไม่น้อยกว่า 2.72.8 แสนล้านบาท ถ้าหากพาณิชย์ขายข้าวไม่ได้

ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่การระบายข้าวจะไม่ง่ายอย่างที่ “ยรรยง” ตั้งเป้าหมายไว้

หนึ่ง เพราะผู้ซื้อในต่างประเทศต่างก็รู้ถึงปัญหา และรอซื้อข้าวในตอนที่รัฐบาลหมดหนทางต้องลดราคาลงมา เพราะรู้กันว่าในการเปิดรับจำนำฤดูกาลต่อไปรัฐบาลอาจลดราคาจำนำลงแน่นอน

สอง การที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าว่าจะขายข้าวนำเงินมาใช้หนี้ ธ.ก.ส.เดือนละ 1 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างน้อย ไม่สอดคล้องกับจำนวนข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ 2.93 ล้านตัน ในช่วงเดือนนี้ถึงเดือน ก.ย. ซึ่งต้องใช้เงินประมาณ 4.55 หมื่นล้านบาท

หาก ยรรยง รมช.พาณิชย์ ขายข้าวได้เดือนละ 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือนก็ได้เงินมา 3 หมื่นล้านบาท แต่ต้องควักเงินไปจ่ายชาวนาสำหรับข้าวรอบนี้ 4.55 หมื่นล้านบาท

ยังมีช่องห่างกันอยู่ 1.52 หมื่นล้านบาท

เงินก้อนนี้จะไปหาจากไหน ไม่ให้กระทบวินัยการคลัง

คำตอบ ต้องมิใช่รัฐบาลกู้โดยตรง เพราะมีช่องว่างจริงๆ ตามกฎหมายแค่ 5,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่นั่นคือแอบล้วงและควักเงินสภาพคล่องจาก ธ.ก.ส.ออกมาใช้ก่อนแล้วค่อยหักและผ่อนทีหลังนั่นเอง

นี่คือช่องทางพิเศษในการใช้แบงก์รัฐมาซุกหนี้สาธารณะไว้ เพื่อไม่ให้กระทบวินัยการคลัง

แน่นอนว่าในการดำเนินงานนั้นคงไม่กระทบฐานะของ ธ.ก.ส. เพราะสามารถมีรายได้ค่าบริการโครงการ เป็นค่าดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และเครือข่าย 2.5% ของวงเงินสินเชื่อที่จ่ายในโครงการรับจำนำ

นอกจากนี้ ยังมีผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่รัฐยืมสภาพคล่องของธนาคารใช้จำนำข้าวไปก่อน โดยคิดค่าเฉลี่ยดอกเบี้ย 4 แบงก์ใหญ่บวกอีก 1% ในภาพรวมธนาคารได้ค่าตอบแทนจากโครงการจำนำข้าวเฉลี่ยกว่า 5%

ยิ่งรัฐบาลแอบกู้เงิน ธ.ก.ส.เพิ่มขึ้นมามากเท่าไหร่ ธนาคารก็รวยในทางบัญชีเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติอาจได้รับการลงบัญชีแบบแปะโป้งไว้ แล้วค่อยไปดึงเงินงบประมาณในแต่ละปีมาใช้

ซึ่งนั่นหมายถึงการซุกหนี้ไว้ในแบงก์รัฐ

ขณะเดียวกัน ยิ่งรัฐบาลไปดึงเอาสภาพคล่องมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวมากขึ้นเท่าไหร่ หมายถึงว่าธนาคารรัฐแห่งนี้จะแปรสภาพจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตรมาเป็นธนาคารเพื่อชาวนาไปทันที

เพราะจะไม่มีเงินสภาพคล่องเหลือไปใช้ปล่อยกู้หรือดูแลเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ

เพราะปัจจุบันนี้ ธ.ก.ส.มีสินทรัพย์สภาพคล่อง ทั้งที่อยู่ในรูปเงินสด เงินฝากที่ ธปท. และหลักทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันแค่ 2.27 แสนล้านบาทเท่านั้น

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลนั้นค้างจ่ายเงินให้กับ ธ.ก.ส.ในโครงการแทรกแซงผลผลิตทางการเกษตร 13 บัญชี รวมเงินทั้งสิ้นในปัจจุบัน 1.9 แสนล้านบาทแล้ว หากนับรวมกับค่าบริหารโครงการและดอกเบี้ยจากเงินที่ยืมไปกว่า 2 แสนล้านบาทเข้าไปด้วยก็ถือว่ามากโขอยู่

เมื่อหาเงินมาใช้หนี้ใหม่ไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีแปะโป้งตามนิสัยเดิมไว้ก่อน

แล้วรัฐบาลจะรักษาวินัยทางการคลังได้อย่างไร เครดิตย่อมเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วินัยการคลัง ไร้ค่า สุดท้าย เงินธกส. อุดข้าว

view