สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประเทศอยู่ไม่ได้ ถ้ารัฐไม่เอาจริงกับคอร์รัปชัน

ประเทศอยู่ไม่ได้ ถ้ารัฐไม่เอาจริงกับคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ระยะนี้ข่าวความห่วงใยของประชาชนเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในหน้าหนังสือพิมพ์มีค่อนข้างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีจำนำข้าว

ความห่วงใยกรณีการลงทุนในโครงการภาครัฐ รวมถึงการนำเข้ารถหรู ที่อาจมีประเด็นการประพฤติมิชอบ นอกจากนี้ พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันในแง่การติดต่อราชการก็มีการพูดถึงกันมากในหมู่นักธุรกิจ ทำให้รู้สึกว่าขณะนี้ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในสังคมมีทุกระดับ และนับวันจะรุนแรงและโจ่งแจ้งขึ้น

ความรู้สึกและข้อสังเกตเหล่านี้ตรงกับข้อมูลที่ทางสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD ร่วมกับบริษัท GFK Marketwise ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำธุรกิจเกี่ยวปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยเมื่อต้นปี ซึ่งมีข้อมูลสำคัญ ดังนี้

หนึ่ง ผู้นำธุรกิจกว่าร้อยละ 93 มีความเห็นว่า ระดับความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชันปัจจุบันอยู่ในระดับสูงและสูงมาก โดยร้อยละ 75 ของผู้นำธุรกิจเห็นว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในช่วงที่ผ่านมาได้เพิ่มมากขึ้น ใกล้เคียงกับข้อมูลที่สำรวจปี 2553 ที่ร้อยละ 77 มีความเห็นว่าการทุจริตเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

สอง ผู้นำธุรกิจมองว่า ผลที่การทุจริตคอร์รัปชันมีต่อประเทศมากที่สุด คือ ลดทอนประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศ นำประเทศสู่ความตกต่ำด้านจริยธรรม และสร้างชื่อเสียงที่ไม่ดีให้กับประเทศ (ในแง่การทำธุรกิจ)

สาม ความรุนแรงของปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ส่งผลต่อการทำธุรกิจของบริษัทเอกชนในเกณฑ์สูงและสูงมาก ขนาดของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมีตั้งแต่ระดับ 1-5 เปอร์เซ็นต์ ไปถึงระดับมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จนถึงระดับที่ไม่สามารถระบุได้

สี่ กระบวนการที่เกิดการทุจริตมากที่สุด สามอันดับแรก คือ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ การจดทะเบียนและการขออนุญาตต่างๆ และการร่วมประมูลโครงการภาครัฐ ทั้งสามกระบวนการ เป็นความเห็นของผู้นำธุรกิจเกือบ ร้อยละ 50 ที่ให้ความเห็น

ห้า รูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันที่พบมากที่สุดก็คือ อันดับหนึ่ง การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคพวกของตนเอง คิดเป็นร้อยละ 20 ของบริษัทที่ให้ความคิดเห็นในการสำรวจ อันดับที่สอง ก็คือ การให้ของขวัญหรือการติดสินบน (ร้อยละ 17) และอันดับสาม คือ การทุจริตเชิงนโยบาย โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ร้อยละ 15)

หก สาเหตุสำคัญในความเห็นของผู้นำธุรกิจ ที่ทำให้ประเทศไทยมีการทุจริตคอร์รัปชันมาก อันดับหนึ่ง คือกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งต่างๆ เปิดโอกาสให้บุคลากรภาครัฐสามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้ออำนวยให้สามารถเกิดการทุจริต สอง กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ยาก และสาม ผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งผู้นำธุรกิจกว่าร้อยละ 49 เห็นว่า สามเรื่องนี้เป็นต้นเหตุหลักของการทุจริตคอร์รัปชันในปัจจุบัน

เจ็ด แม้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะรุนแรงแต่ หนึ่ง ใน สี่ ของผู้นำธุรกิจ เชื่อในเกณฑ์ค่อนข้างสูงและสูงมากว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน จะสามารถแก้ไขได้ และบุคคลที่จะต้องมีบทบาทช่วยในการแก้ปัญหาในความเห็นของผู้นำธุรกิจ ก็คือ รัฐบาล (ร้อยละ 68) นักการเมือง (ร้อยละ 66) และสถาบันในภาคธุรกิจ (ร้อยละ 52)

และ แปด ร้อยละ 51 ของผู้นำธุรกิจ พร้อมที่จะเข้าเป็นแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตแน่นอน สูงกว่าร้อยละ 14 ซึ่งเป็นตัวเลขเมื่อสามปีก่อน ขณะที่อีกร้อยละ 46 พร้อมเข้าร่วมหากมีแผนที่ปฏิบัติได้

ข้อมูลทั้งหมดย้ำเตือนว่า ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในความรู้สึกของภาคธุรกิจขณะนี้รุนแรง และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหา และถ้าไม่แก้ ก็มั่นใจได้ว่าการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยจะยิ่งรุนแรงขึ้นและจะทำลายความเป็นเศรษฐกิจ ความเป็นสังคม และอนาคตของความเป็นประเทศในที่สุด เพราะไม่มีใครอยากทำธุรกิจในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันรุนแรง

ที่สำคัญการทุจริตคอร์รัปชัน คือ การทำผิดกฎหมาย ถ้าสังคมมีการทำผิดกฎหมาย แต่ไม่มีการเอาผิดลงโทษ สังคมก็จะอยู่เป็นสังคมที่ดีได้ยาก เพราะบ้านเมืองเหมือนไม่มีขื่อมีแป ในทางเศรษฐศาสตร์ การไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย (Rule of law) ที่เข้มแข็ง จะทำลายแรงจูงใจให้คนในสังคมอยากทำมาหากิน อยากร่ำรวยอย่างสุจริต ทำให้คนไม่อยากลงทุน ไม่อยากทำธุรกิจ เพราะกฎหมายไม่เอาผิดคนที่รวยจากการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้แรงจูงใจในระบบเศรษฐกิจถูกบิดเบือน ซึ่งเป็นอันตรายมากต่ออนาคต และการเติบโตของประเทศ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นก็เพราะผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย ไม่ทำหน้าที่ เอาผิดกับผู้ทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

ในประเทศที่เคยมีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงแต่สามารถแก้ไขหรือลดทอนได้ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ สิ่งที่สำคัญที่สุด และเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ต้องเกิดขึ้น ที่ทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันประสบความสำเร็จ ก็คือ การเอาจริงของรัฐบาลที่จะจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่ทุจริต แม้จะเป็นคนในระดับสูงของรัฐบาลก็ตาม แต่รัฐบาลจะเอาจริงก็ต่อเมื่อผู้นำสูงสุดเอาจริงและสั่งการ และเมื่อผู้นำสูงสุดเอาจริง การแก้ไขปัญหาก็จะเกิดขึ้นตามมาทันที

ในทุกประเทศที่แก้ปัญหาคอร์รัปชันได้สำเร็จ จุดเปลี่ยนสำคัญ ก็คือ ผู้นำเอาจริง สั่งการ จับกุม และดำเนินคดีกับปลาตัวใหญ่ที่ทุจริตคอร์รัปชัน อันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นสำคัญในการแก้ปัญหา ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม จากที่เชื่อว่า คอร์รัปชันไม่มีการเอาผิด ไม่มีการลงโทษ มาเป็นการทุจริตคอร์รัปชันมีการเอาผิด มีการลงโทษจริงจัง ทำให้คนในสังคมไม่กล้าทำ ไม่กล้าทุจริตและนำมาสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคมในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในที่สุด

ดังนั้น ข่าวเรื่องคอร์รัปชันที่ออกมาและเป็นความห่วงใยของสังคมมากขณะนี้ อีกด้านหนึ่งก็คือโอกาสให้ผู้นำประเทศแสดงฝีมือ แสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ตามที่แถลงไว้ว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล และตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ อันนี้คือโอกาส แต่ถ้ารัฐไม่ใช้โอกาสนี้ ไม่แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นจริง พวกคอร์รัปชันก็ยิ่งได้ใจ และจะเป็นแรงส่งให้มีการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ประเทศ อยู่ไม่ได้ รัฐไม่เอาจริง คอร์รัปชัน

view