สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ล้อมคอกการเงินโลกเหลวต่างคนต่างทำ-ไร้อำนาจบังคับ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์

ในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ถือเป็นช่วงระยะเวลาที่มีข่าวคราวอื้อฉาวเกี่ยวกับการบิดเบือนกลไกการกำหนด ราคากลางของตลาดในวงการต่างๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่ธนาคารยักษ์ใหญ่หลายแห่งพากันรวมหัวปั่นอัตราดอกเบี้ย กู้ยืมระหว่างธนาคารของธนาคารอังกฤษ (ไลบอร์) ในช่วงระหว่างปี 2005-2009 จนนำไปสู่การสั่งปรับเป็นจำนวนเงินมหาศาลไปแล้ว และที่อยู่ระหว่างการสอบสวนก็มีอยู่อีกหลายราย

ขณะที่กลไกการกำหนดราคาน้ำมันและตลาดซื้อขายเงินตราระหว่างประเทศก็มี เรื่องอื้อฉาวไม่แพ้กัน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทางสหภาพยุโรป (อียู) ได้ออกมาดำเนินการสอบสวนบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เช่น บีพี เชลล์ สแตรทออยด์ ที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการรวมหัวกันยื่นราคาให้กับหน่วยงานกลางที่ชื่อว่า แพทส์ (Platts) ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น

จากเหตุอื้อฉาวเกี่ยวกับกลไกการกำหนดราคากลางของตลาดที่มีจุดบกพร่องทั้ง ในตลาดการเงินไปจนถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนี้ ก็ได้ทำให้เกิดการร่วมมือกันในระดับนานาชาติในการแก้ไขจุดบกพร่องในกลไก เหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งในช่วงปลายสัปดาห์หน้าคาดว่าคณะกรรมาธิการตลาดหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ (ไอโอเอสซีโอ) ผู้รับหน้าที่ในการศึกษาและร่างข้อกำหนดการปรับปรุงแก้ไขการกำหนดกลไกการ กำหนดราคากลางต่างๆ จะเปิดเผยแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวออกมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ ไอโอเอสซีโอจะสามารถนำเสนอแผนการ ปฏิรูปให้กลไกการกำหนดราคากลางในตลาดการเงิน การกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้มีความโปร่งใสและมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมาก ขึ้น แต่นักวิเคราะห์รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็มองว่าโอกาสที่แผนการปฏิรูปดัง กล่าวจะนำไปสู่การปฏิบัติจริงนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการบังคับใช้ในระดับสากลให้เป็นไปบนบรรทัดฐานเดียวกัน

เพราะไอโอเอสซีโอ ไม่มีอำนาจในการบังคับให้ประเทศอื่นๆ ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อเสนอที่มอบให้ เนื่องจากต้องไม่ลืมว่าแต่ละประเทศก็มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเองในการกำหนด ว่าจะยอมรับกฎกติการะหว่างประเทศเข้ามาบังคับใช้ในประเทศหรือไม่

“ไม่มีองค์กรด้านการกำหนดกติการค้าระดับโลกใดที่มีอำนาจมากพอในการบังคับ ให้ประเทศเปลี่ยนแปลงกฎกติกาในประเทศได้” ทอม ไวท์ จากหน่วยงานคลังปัญญาเจดับเบิลยูจี กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น โอกาสที่การกำหนดมาตรฐานและการกำกับดูแลในระดับโลกให้เป็นไปในแนวทางเดียว กัน ก็ดูเหมือนว่าจะยิ่งเป็นไปได้ยากมากขึ้น เพราะว่าในขณะนี้แต่ละประเทศได้พากันผลักดันแนวทางการแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ออกมาในแนวทางของตนเองกันแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ที่ภายหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวการปั่นอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารสิงคโปร์ (ไซบอร์) ของเทรดเดอร์มากกว่า 100 ราย ก็ได้ทำให้ทางการสิงคโปร์ออกมาดูแลและปรับแก้กลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยดัง กล่าวให้เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงดำเนินการสอบสวนและเอาผิดกับผู้กระทำผิดดังกล่าว

ด้าน ฮ่องกง ทางหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางฮ่องกงก็ได้ปรับเปลี่ยนผู้ที่จะมา ดูแลกำกับกระบวนการการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารในฮ่องกงให้ไป อยู่ในความดูแลของผู้บริหารในภาคเอกชน พร้อมกับเตรียมยกเลิกการอ้างอิงตัวอัตราดอกเบี้ยที่มีผู้ซื้อขายน้อยราย เพื่อหลีกเลี่ยงการรวมหัวกันปั่นและกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าความเป็นจริง

ส่วนที่ ญี่ปุ่น ซึ่งเคยเกิดกรณีอื้อฉาวหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่หลายแห่งไปเกี่ยว พันกับการปั่นดอกเบี้ยไลบอร์ ล่าสุดทางกลุ่มสมาคมธนาคารแห่งแดนอาทิตย์อุทัยก็เตรียมที่จะหันมาเพิ่มความ เข้มงวดในการกำกับดูแลกระบวนการการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร มากขึ้น

ส่วนใน ยุโรป ก็ดูเหมือนจะหันมาดำเนินมาตรการที่รุนแรงกว่าใครเพื่อน ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่ทางการของสหภาพยุโรป (อียู) สั่งห้ามไม่ให้ธนาคารซิตี้แบงก์ ธนาคารยูบีเอส และธนาคารโรโบแบงก์ ยุ่งเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารของยุโรปทุกประการ ไม่เพียงเท่านั้น ทางอียูยังได้เตรียมการที่จะยกเลิกอัตราดอกเบี้ย ยูริบอร์ ในอนาคตอีกด้วย พร้อมกับนำอัตราดอกเบี้ยผสม ซึ่งจะเป็นการอ้างอิงกับราคาแลกเปลี่ยนซื้อขายทางการเงินในตลาดแทน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารจะเป็นไปอย่าง โปร่งใสอย่างแท้จริง

ขณะที่ อังกฤษ ก็ถึงขั้นลงมือทำการเปลี่ยนองค์กรผู้ทำหน้าที่ดูแลและกำกับการจัดทำอัตราดอก เบี้ยไลบอร์ จากเดิมที่อยู่ในความดูแลของสมาคมธนาคารแห่งสหราชอาณาจักร (บีบีเอ) ให้ไปอยู่ในความดูแลของเอ็นวายเอสอียูโรเน็กซ์ ผู้ให้บริการด้านการเงินยักษ์ใหญ่จากสหรัฐแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างสหรัฐกับ ยุโรปแทน

เนื่องจากทางการอังกฤษเชื่อว่าการเข้ามาทำหน้าที่กำกับดูแลอัตราดอกเบี้ย ไลบอร์ ซึ่งถูกนำไปใช้อ้างอิงในผลิตภัณฑ์การเงินทั่วโลก ตั้งแต่สัญญาจำนองบ้านไปจนถึงบัตรเครดิตในสหรัฐ รวมมูลค่ากว่า 550 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ให้ไปอยู่ในความดูแลของเอ็นวายเอสอีนั้น จะทำให้มีการตรวจสอบดูแลให้กระบวนการจัดทำดอกเบี้ยไลบอร์มีความโปร่งใสมาก ขึ้น

ความกังวลต่อความล้มเหลวในการผลักดันการตรวจสอบและกลไกการกำหนดอัตรา ดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคาร รวมถึงกลไกราคากลางในผลิตภัณฑ์การเงิน และสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่การที่ประเทศต่างๆ หันมาเดินในแนวทางของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความยุ่งยากในการกำกับดูแลในความเป็นจริงอีกด้วย

เพราะต้องยอมรับว่าตลาดการเงินและการซื้อขายแลกเปลี่ยนมีขนาดใหญ่มาก และเกิดขึ้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะมีองค์กรใดองค์กรหนึ่งขึ้นมากำกับดูแลในระดับ โลกให้เดินไปในแนวทางเดียวกัน

“ตลาดการเงินมีขนาดใหญ่โตมากและยังมีผู้เกี่ยวข้องหลากหลายมาก ไล่ตั้งแต่ธนาคารกลางในเอเชียไปจนถึงกลุ่มกองทุนเก็งกำไรจากทั่วโลก ซึ่งนั่นจะทำให้กฎข้อบังคับที่ออกมาอาจจะไม่สามารถกำกับดูแลให้ทุกฝ่ายยอม รับและปฏิบัติตามได้ทั้งหมด” หัวหน้าฝ่ายซื้อขายค่าเงินในกองทุนเฮดจ์ฟันด์จากอังกฤษรายหนึ่ง กล่าวให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ส

นอกจากนี้ ในมุมของบรรดาเทรดเดอร์และผู้เกี่ยวข้องในตลาดการเงินทั่วโลก ก็กลัวอีกว่า หาก ไอโอเอสซีโอ ออกกฎและแผนการกำกับดูแลตลาดการเงินออกมา อาจทำให้กระบวนการจัดทำเกิดความยุ่งยากและขาดประสิทธิภาพในการนำไปใช้ได้ จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกฎใหม่ที่ออกมามีการกีดกันธนาคารและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับการกำหนดออกไปจากกระบวนการการจัดทำดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่าง ธนาคาร ซึ่งนั่นจะเท่ากับเป็นการกีดกันองค์กรและหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญออกไป

ดังนั้น โอกาสที่ทุกฝ่ายจะได้เห็นการกำกับดูแลในด้านตลาดการเงิน รวมไปถึงตลาดโภคภัณฑ์โลกให้เกิดความโปร่งใสและแปรผันเป็นไปตามกลไกตลาดอย่าง แท้จริงในเร็ววันนี้คงเป็นไปได้ยากยิ่ง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ล้อมคอก การเงินโลก เหลว ต่างคนต่างทำ ไร้อำนาจบังคับ

view