สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เผยคอร์รัปชันพุ่งเฉียด3%ของจีดีพี

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

คอร์รัปชันไทยกร่อนจีดีพีเฉียด 3% หลังผลสำรวจชี้มากกว่า 50% ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะเพิ่มขึ้นสัดส่วน 25-35% ของมูลค่างาน

นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย จากการสำรวจเมื่อมิ.ย.ที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 ตัวอย่าง พบว่าดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (Thai CSI) มิ.ย. 2556 เท่ากับ 41 ซึ่งสูงกว่าการสำรวจเมื่อ ธ.ค. 2555 ซึ่งอยู่ที่ 39 ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปัจจุบัน เท่ากับ 40 สูงขึ้นจาก 38 และ ดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทย เท่ากับ 42 ไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อสอบถามผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (ใต้โต๊ะ) แก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาหรือไม่ ส่วนใหญ่ 78% ตอบว่าจ่าย 12% ตอบว่าไม่รู้ และ10% ตอบว่าไม่จ่าย ในจำนวนผู้ที่จ่ายใต้โต๊ะ พบว่าการสำรวจครั้งนี้มีสัดส่วนผู้ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อมูลค่าสัญญา หรือ สัดส่วนตั้งแต่ 25-35% มีสูงถึง 50.8% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยสัดส่วนการจ่ายเงินใต้โต๊ะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจปีที่ผ่านมา โดยปี 2555 การจ่ายเงินใต้โต๊ะในสัดส่วนนี้ มีเพียง 38.5% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น

ทั้งนี้ พฤติกรรมคอร์รัปชันดังกล่าวสร้างความเสียหายต่องบประมาณและจีดีพีประเทศ โดย โดยประมาณการณ์ว่า ปี 2556 การจ่ายใต้โต๊ะในสัดส่วน 25% ของมูลค่าสัญญา จะคิดเป็นเม็ดเงิน 2.35 แสนล้านบาท หรือ สัดส่วน 9.82% ของงบประมาณรายจ่าย และ 1.88% ของจีดีพี ส่วนการจ่ายเงินใต้โต๊ะในสัดส่วน 30% จะมีมูลค่า 2.82 แสนล้านบาท สัดส่วน 11.78% ของงบประมาณ และ 2.25% ของจีดีพี ขณะที่สัดส่วนการจ่ายใต้โต๊ะที่สูงสุดมากกว่า 35% จะมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 3.29 แสนล้านบาท สัดส่วน 13.75% ของงบประมาณรายจ่ายและ 2.63% ของจีดีพี

นางเสาวณีย์ กล่าวถึงการให้คะแนนองค์กรที่แก้ปัญหาการคอร์รัปชัน พบว่า ความเชื่อมั่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และองค์กรอิสระอื่น ได้คะแนน 5.50 จากคะแนนเต็ม 10 ซึ่งเป็นคะแนนที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อน คือเมื่อ ธ.ค. 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งได้คะแนน 5.44 ส่วนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ได้ 4.40 คะแนน ซึ่งสูงขึ้นจาก 4.20 แต่เป็นคะแนนที่ยังถือว่าสอบไม่ผ่าน ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อสมาคมของภาคธุรกิจ ได้คะแนน 5.71 คะแนน สูงขึ้นจาก 5.71คะแนน ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการ 5.35 คะแนนสูงขึ้นจาก 5.21 คะแนน ความเชื่อมั่นต่อสื่อมวลชน 5.47 คะแนน สูงขึ้นจาก 5.40 คะแนน ความเชื่อมั่นต่อภาคประชาชน 5.55 คะแนนสูงขึ้นจาก 5.51 คะแนน

เมื่อถามถึงโครงการภาครัฐมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้มากน้อยเพียงใด ส่วนใหญ่ 40.6% ตอบว่ามาก 25.7% ปานกลาง 15.3% มากที่สุด 10.4% น้อย 7.8% น้อยมาก 0.2% ไม่มีโอกาส โดยโครงการจำนำข้าว มีโอกาสทุจริตคอร์รัปชันสูงสุด 9.2 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 รองลงมาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน 9.1 คะแนน โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน 9.0 คะแนน โครงการระดับจังหวัด 8.8 คะแนน โครงการระดับท้องถิ่น 8.9 คะแนน

นางเสาวนีย์ กล่าวอีกว่า เมื่อถามถึงความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน เทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นว่าเพิ่มขึ้น 74% เท่าเดิม 20% และ 6% ลดลง ถามถึงสาเหตุสำคัญของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ส่วนใหญ่ 24.3% กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต 16.2% กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก 11.5% ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ ส่วนรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อย ส่วนใหญ่ 24.9% การให้สินบน ของกำนัลและรางวัลต่างๆ 17.5% การให้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก 11.6% การเอื้อประโยชน์แก่ญาติ พรรคพวก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : คอร์รัปชันพุ่ง เฉียด3% จีดีพี

view