สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลากตั้ง สว. ควบอำนาจเบ็ดเสร็จ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ผ่านมาแล้ว 3 วัน สำหรับการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ สว.ในวาระที่ 2 แต่ปรากฏว่าเดินหน้าไปอย่างล่าช้าทั้งที่ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเพียง 13 มาตราเท่านั้น ทั้งนี้มีแนวโน้มว่าอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 15-20 วัน เพื่อให้จบวาระที่ 2 ก่อนที่จะทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 ต่อไป

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างแก้ไขที่มา สว.อยู่ในสถานการณ์ “ลากยาว” มาจากการกัดไม่ปล่อยของพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 สว. ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมียุทธศาสตร์เดียวกัน คือ ใช้เวทีรัฐสภาที่มีการถ่ายทอดสดให้สังคมเห็นว่าการรื้อโครงสร้างวุฒิสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยมีผลเสียมากกว่าผลดี

“กินรวบประเทศไทย” เป็นวาทกรรมหลักที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำมาใช้เป็นเครื่องมืออธิบายความบกพร่องของวุฒิสภาภายใต้โครงสร้างใหม่

ฝ่ายเสียงข้างน้อยพยายามฉายภาพว่าหากปล่อยให้รัฐสภาเห็นชอบกับร่างรัฐ ธรรมนูญที่ถูกแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มี “สามารถ แก้วมีชัย” สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน อาจมีผลต่อการแทรกแซงวุฒิสภาทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากฝ่ายการเมืองได้ และผลสุดท้ายวุฒิสภาจะกลับไปสู่จุดตกต่ำจนเป็น “สภาทาส” เหมือนก่อนปี 2549

อย่างไรก็ตาม ความไม่ลงรอยส่วนหนึ่งในการแก้ไขที่มา สว. เกิดจากรอยรั่วในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีถึง 3 ประการสำคัญด้วยกัน

1.การยกเลิกระบบสรรหา สว. และให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง 200 คนเท่านั้น

ข้ออ้างของฝ่ายเสียงข้างมากพยายามชี้แจงมาตลอดทั้งในชั้นคณะ กมธ.และที่ประชุมรัฐสภาว่า “ต้องการให้ สว.มีจุดยึดโยงประชาชน”

ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามได้พยายามเสนอทางออก ว่าไม่ได้คัดค้านระบบเลือกตั้ง สว. แต่ควรให้มีกระบวนการเลือกตั้งทางอ้อมจากองค์กรวิชาชีพผสมกับการเลือกตั้ง ทางตรง เพราะถ้าใช้ระบบเลือกตั้งโดยตรง 100% ทำให้ผู้สมัคร สว.ต้องไปพึ่งพิงฐานเสียงของพรรคการเมืองจนอาจมีผลต่อการใช้ดุลยพินิจในฐานะ สว.ในอนาคต แต่สุดท้ายเสียงข้างมากก็ยืนตามในสิ่งที่ตัวเองเสนอ

2.การเปิดโอกาสให้เครือข่ายนักการเมืองเข้ามาสมัคร สว.

เดิมทีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในชั้นรับหลักการวาระที่ 1 ได้สร้างกำแพงป้องกันเอาไว้เพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายึดวุฒิสภาถึง 4 ชั้น ประกอบด้วย

ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งทาง สส. หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

สิ้นสุดการเป็นสมาชิกหรือตำแหน่งในพรรคการเมืองไม่ต่ำกว่า 5 ปี จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

พ้นจากตำแหน่ง สส.มาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีหรือผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 5 ปี จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

ปรากฏว่ากำแพงหนา 4 ชั้นได้ถูกรื้อถอนลงบางส่วนด้วยอิทธิฤทธิ์ของเสียงข้างมาก

เริ่มตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ครอบครัว สส. และผู้มีอำนาจทางการเมืองลงสมัคร สว. ซึ่งเสี่ยงต่อการกระทบกับหลักการตรวจสอบถ่วงดุล ต่อด้วยการยกเลิกข้อห้ามที่กำหนดให้ผู้สมัคร สว.ต้องเว้นวรรคจากตำแหน่งการเมือง 5 ปีก่อน ทั้งหมดนี้นำมาสู่การอำนวยความสะดวกให้ใครก็ตามที่หลุดจากเก้าอี้รัฐมนตรี หรือ สส.ในวันนี้ สามารถไปสมัคร สว.ได้ในวันรุ่งขึ้นทันที

3.เปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิเป็น สว.ได้สองสมัยติดต่อกัน รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 116 ได้กำหนดข้อห้ามเรื่องการลงสมัครติดต่อกันสองวาระเอาไว้ โดยบัญญัติว่า “บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่ง สว. และสมาชิกสภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกิน 2 ปี จะเป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้”

ทว่าในร่างแก้ไขและคณะ กมธ. ก็ได้เห็นชอบให้ตัดโซ่ตรวนเส้นนี้ และเขียนถ้อยคำตามลีลาของนักกฎหมายว่า “บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่ง สว.และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้ว ยังไม่เกิน 2 ปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมิใช่ สว.มิได้”

แปลไทยเป็นไทย หมายความว่า อดีต สว.ที่พ้นตำแหน่งแล้วแต่ยังไม่เกิน 2 ปีนั้นเป็นรัฐมนตรีและตำแหน่งการเมืองอื่นๆ ไม่ได้ ยกเว้นการเป็น สว. (ละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าต้องได้รับการเลือกตั้ง)

โครงสร้างวุฒิสภาในรูปแบบนี้ ได้สร้างความไม่มั่นใจว่าบุคคลที่เข้ามาเป็น สว.ตามช่องทางนี้จะสามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างเป็นกลางหรือไม่ โดยเฉพาะการแต่งตั้งและถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในระดับสูง

อำนาจแต่งตั้งของ สว.นั้นมีสิทธิสถาปนาบุคคลเข้าไปในหลายองค์กร เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น

ส่วนอำนาจถอดถอนก็นับว่ามีอาญาสิทธิอยู่ไม่น้อย เพราะสามารถดำเนินการกับบุคคลระดับสูงได้ตั้งแต่ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ช่องโหว่เหล่านี้ได้นำมาซึ่งสมมติฐานแห่งการสร้างความเบ็ดเสร็จทางอำนาจตั้งแต่การสร้างอำนาจ การใช้อำนาจ และการรักษาอำนาจ

ดังนั้น วงจรอำนาจที่เป็นได้จากช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญจึงกลายเป็นความวิตกว่าการ เมืองกำลังเดินไปสู่ทางตันอีกครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่ที่ฝ่ายเสียงข้างมากจะมองเห็นหรือไม่เท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ลากตั้ง สว. ควบอำนาจเบ็ดเสร็จ

view