สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้ทันอันตรายจาก แร่ใยหิน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ รู้ทันโรค

นาทีนี้เรื่องราวของ "สุขภาพ" คงหนีไม่พ้นอันตรายจากการพัฒนาทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การคมนาคม ฯลฯ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น "แร่ใยหิน" ที่ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์กระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งจริงๆ แล้ว คนไทยใช้ผลิตภัณฑ์มุงหลังคาที่มีแร่ใยหินกันมานาน มีในช่วงหลังๆ ที่ผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญ โดยยกเลิกการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังคงใช้ "แร่ใยหิน" ในกระบวนการผลิตอยู่ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

เป็นที่ทราบกันดีว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ จากการยืนยันขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization, ILO) และสำนักงานวิจัยโรคมะเร็งสากล (International Agency for Research on Cancer, IARC) พบว่า อันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ที่เป็นสารก่อมะเร็งและทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และมะเร็งชนิดอื่น ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมุ่งมั่นไปให้ถึงจุดที่จะยกเลิกการใช้แร่ใยหินอย่าง สมบูรณ์ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญสองประการคือ 1) แร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และ 2) ปัจจุบันมีสารทดแทนที่เทียบเท่าทั้งในด้านคุณภาพและราคา

ด้วยเหตุนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วในทวีปต่างๆ ทั่วโลก 57 ประเทศ จึงได้ยกเลิกการใช้ "แร่ใยหินไครโซไทล์" ทำให้ทวีปเอเชียกลายเป็นผู้ใช้แร่ใยหินมากที่สุดในโลก ถึงประมาณร้อยละ 71 ในอาเซียน ประเทศไทยมีการใช้แร่ใยหินสูงอยู่ในสามประเทศที่มีการใช้แร่ใยหินมากที่สุด ในขณะที่สิงคโปร์และบรูไนได้ยกเลิกการใช้ใยหินและมีมาตรการเข้มงวดในการรื้อ ถอนและกำจัดใยหินในอาคาร ทั้งนี้ผู้ผลิตแร่ใยหินไครโซไทล์ที่มีการส่งออกมาประเทศไทยมากที่สุด คือ ประเทศรัสเซีย

จากเหตุผลดังกล่าว นักวิชาการและเครือข่ายองค์การด้านสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภคทั้งภาครัฐและ เอกชน เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) ซึ่งประกอบด้วย สมาคมวิชาชีพ องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายแรงงาน และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้ง นักวิชาการคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีความกังวลต่อการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจาณาข้อเสนอของกระทรวง อุตสาหกรรม โดยขาดความตระหนักต่ออันตรายจากแร่ใยหินไครโซไทล์ที่นานาประเทศได้มีบทเรียน และผลกระทบอย่างรุนแรงมาแล้ว จึงได้มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีขอให้ ครม. มีมติ

1) ยกเลิกการนำเข้าวัตถุดิบแร่ใยหินไครโซไทล์ภายในปี 2556

2) ยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ ภายในปี 2557

3) ยกเลิกการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ทั้งหมดภายในปี 2558

สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อเสนอให้รัฐบาลยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ ที่มีแร่ใยหิน รวมทั้งยกเลิกการผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยได้นำเข้าแร่ใยหินจากหลายประเทศหลักๆ คือ รัสเซีย แคนาดา และจีน ประมาณปีละ 58,000 ตัน และประมาณร้อยละ 90 ของแร่ใยหินที่นำเข้ามานั้นนำไปผลิตกระเบื้องมุงหลังคา และประมาณร้อยละ 8 ใช้ในการผลิตเบรคและคลัทช์ และกระเบื้องยางปูพื้น ส่วนที่เหลือใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ

การเคลื่อนไหวเพื่อลดและเลิกใช้แร่ใยหินในประเทศไทย ได้ดำเนินการมาหลายครั้งโดยกลุ่มนักวิชการ ในครั้งแรกประมาณปี 2539 - 2540 อย่างไรก็ตามในขณะนั้นผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องพิจารณาว่าประเทศไทยยังไม่ พร้อมที่จะลดเลิกด้วยข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารทด แทนแร่ใยหิน รวมทั้งคุณภาพและราคาของสินค้าทดแทนต่างๆ และอีกครั้งหนึ่งในสิบปีต่อมาคือ ปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากข้อจำกัดที่กล่าวข้างต้นหมดไป นั่นคือได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นในประเทศเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนที่มี คุณภาพและราคาใกล้เคียงกับสินค้าที่มีแร่ใยหินได้แล้ว ทั้งกระเบื้องมุงหลังคาและเบรคและคลัทช์

ในปี 2549 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศยกเลิกการใช้ใยหินภายใน 5 ปี (Bangkok declaration on asbestos ต่อมา ครม. ได้มีมติในเดือนเมษายน 2554 ให้มีการยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ภายในปี 2554 และยกเลิกการผลิตและนำเข้าสินค้าใยหินทั้งหมดภายในปี 2555 โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดทำแผนในการยกเลิกการนำเข้า ผลิต และจำหน่ายแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบทุกชนิด ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอแผนงานเพื่อการลดและเลิกใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบจำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมติ ครม. โดยยืดเวลาการยกเลิกกระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ใยหิน ผ้าเบรกและคลัทช์ ไปจนถึงปี พ.ศ. 2560

เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าหากภาครัฐการยกเลิกการนำเข้าล่าช้าออกไปอีก จะทำให้เกิดความสูญเสียต่อประเทศมากกว่า ทั้งในด้านการงบประมาณแผ่นดินเพื่อการรักษาดูแลผู้ป่วยด้วยโรคที่มีแร่ใยหิน เป็นสาเหตุ นั่นคือ แอสเบสโตสิส มะเร็งปอด และมะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายไปในการเฝ้าระวังทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงสูญเสียภาพลักษณ์ในด้านปกป้องสุขภาพของประชาชน ด้านการอนุรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อม

ถ้าหากไทยไม่สามารถยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินได้สำเร็จ เชื่อแน่ว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนในอนาคต ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะต้องตระหนักถึงหนึ่งใน "อันตราย" จากภัยภาคอุตสาหกรรม ด้วยการไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหิน ไม่เช่นนั้นความเสี่ยงจะเป็นมัจจุราชเงียบที่อยู่ใกล้ตัวคุณ!!



ที่มา : หน้าพิเศษ Hospital Healthcare


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รู้ทันอันตราย แร่ใยหิน

view