สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัจจัยและตัวแปรที่จะชี้นำทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยและตัวแปรที่จะชี้นำทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การที่ธนาคารกลางสหรัฐไม่ได้ประกาศเริ่มลดทอนคิวอีเมื่อวันที่ 18 กันยายนนั้น เป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์อย่างมาก

และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับราคาหุ้น ดอกเบี้ยระยะยาวและอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก แต่ประเด็นสำคัญผมคิดว่าไม่ใช่เพราะไม่ได้ลดทอนคิวอีเพราะในที่สุดแล้วก็คงจะต้องลดทอนคิวอีอย่างแน่นอน แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่การให้สัมภาษณ์ของนายเบอร์นันเก้ซึ่งทำให้นักลงทุนตีความว่า เงื่อนไขในการลดทอนคิวอีนั้นเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ (แม้นายเบอร์นันเก้จะย้ำว่าเขามิได้เปลี่ยนจุดยืนก็ตาม) กล่าวคือ เดิมทีนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่เห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (FOMC) จะเริ่มลดทอนคิวอีในเดือนกันยายนประมาณ 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนและในที่สุดจะยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรระยะยาวเอกชนที่เรียกว่า MBS ทั้งหมดภายในกลางปีหน้า เพราะเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวมาเป็นลำดับ กล่าวคือภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การว่างงานปรับตัวลดลงและเศรษฐกิจโดยรวมก็ขยายตัวดีขึ้น แต่ในการให้สัมภาษณ์ของนายเบอร์นันเก้นั้นทำให้เข้าใจได้ว่ามีเงื่อนไขและข้อกังวลที่สำคัญอีก 3 ข้อคือ

1. ความขัดแย้งในการดำเนินนโยบายการคลังซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นใจโดยรวมและการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในเดือนตุลาคมและอาจยืดเยื้อไปถึงเดือนพ.ย.และธ.ค. ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างแน่นอนหากนักการเมืองไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยเร็ว

2. การแสดงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ที่ระดับต่ำและการปรับการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐลดลงโดยธนาคารกลางสหรัฐ ทำให้เชื่อว่า FOMC อาจยังไม่ต้องการผลักดันการลดทอนคิวอีมากนักและอยากรอดูสถานการณ์ไปก่อน ทั้งนี้ตลาดเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่า 1.5% ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า FOMCจะยังไม่ลดทอนคิวอี (ปัจจุบันเงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ประมาณ 1.2-1.4%)

3. การว่างงานของสหรัฐที่ปรับลดลงนั้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยบวก (คือการที่คนหางานทำได้) แต่เกิดจากการที่คนท้อแท้จึงบอกกับผู้ที่มาสำรวจข้อมูลว่าไม่ได้พยายามหางานแล้ว ดังนั้นจึงถูกนำออกจากกลุ่มที่ตกงาน ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ซึ่งนายเบอร์นันเก้ทำให้นักลงทุนมองว่านอกจากการลดลงของอัตราการว่างงานแล้ว เฟดจะดูในรายละเอียดว่าตัวเลขอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการจ้างงานนั้นดีขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งนักลงทุนบางส่วนมองว่าปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่ควรจะเพิ่มขึ้นเดือนละ 180,000-200,000 ตำแหน่งอย่างต่อเนื่องจึงจะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการลดทอนคิวอีอย่างต่อเนื่องจนสามารถยุติได้ทั้งหมด ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าการริเริ่มการลดทอนคิวอีนั้นคงจะเกิดขึ้นประมาณเดือนธันวาคม

การที่นักลงทุนสรุปว่า FOMC จะชะลอการลดทอนคิวอีลงนั้นเป็นข่าวดีในระยะสั้น ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวลดลงและค่าเงินประเทศกำลังพัฒนาแข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นตีกลับอย่างรวดเร็ว แต่ในระยะยาวก็แสดงว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ ยังต้องพึ่งพานโยบายการเงินแบบแหวกแนวคือการพิมพ์เงินใหม่ออกมาเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์เพื่อซื้อพันธบัตรและกดดอกเบี้ยระยะยาวให้ลงต่ำเตี้ยผิดปกติต่อไปอีก การกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะธนาคารกลางสหรัฐกำลังต้องเก็บพันธบัตรเอาไว้ในสต็อกมากขึ้นเรื่อยๆ (ปัจจุบันประมาณ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์) หากทำคิวอี 3 ไปอีก 1 ปี สต็อกพันธบัตรก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ปัญหาคล้ายกับการเก็บสต็อกข้าวของรัฐบาลไทย ซึ่งในที่สุดจะต้องระบายออกมา (แต่พันธบัตรเก็บรักษาง่ายกว่าข้าวและไม่เสื่อมคุณภาพ) เมื่อใดที่นักลงทุนเกรงว่าจะมีการระบายพันธบัตรดังกล่าวออกมาดอกเบี้ยระยะยาวก็อาจจะกระตุกขึ้นอย่างฉับพลันก็ได้ ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนและราคาหุ้น ทำให้ระบบการเงินของโลกเกิดความผันผวนได้อย่างมากทั้งในช่วงที่กำลังลดทอนคิวอีและในช่วงต่อมาที่จะต้องระบายสต็อกพันธบัตรส่วนเกินกลับออกมาในตลาด กล่าวโดยสรุปคือนักลงทุนคงจะต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวในด้านนี้ต่อไปอีกหลายปี

ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องนโยบายการคลังของสหรัฐอาจเป็นข้อกังวลของนักลงทุนอีกก็ได้ แต่ครั้งนี้เสียงส่วนใหญ่มองว่านักการเมืองทั้งฝ่ายรีพับลิกันและเดโมเครตก็จะมีพฤติกรรมเหมือนก่อนๆ คือทะเลาะกันเสียงดังโวยวายแล้วในที่สุดก็จะตกลงกันได้วินาทีสุดท้าย เพราะการจะสู้กันจนกระทั่งรัฐบาลไม่มีงบประมาณใช้เพื่อบริหารประเทศ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและนักการเมืองทั้งสองพรรคก็จะถูกตำหนิในที่สุด หรือการไม่ยอมเพิ่มเพดานเงินการก่อนหนี้ภายใน 17 ตุลาคมก็จะเสี่ยงต่อการที่รัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายโดยรวม อย่างไรก็ดีก็ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงตรงนี้เพราะฝ่ายรีพับลิกันนั้นมีกลุ่มขวาที่เรียกว่า Tea Party ซึ่งต้องการลดการใช้จ่ายของรัฐบาลและต่อต้านระบบประกันสุขภาพของประธานาธิบดีโอบามา (obamacare) อย่างไม่ลดละและอยากจะ “ชน” กับรัฐบาลมากกว่าเชื่อฟังผู้นำของพรรครีพับลิกัน ในขณะที่ประธานาธิบดีโอบามาก็คงจะไม่ยอมถอยเพราะอยู่ในตำแหน่งในวาระสุดท้ายแล้ว จึงอาจจะยอมหักแต่ไม่ยอมงอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝ่ายรีพับลิกันนำเอาการลดทอน Obamacare มาต่อรอง

นอกเหนือจากสหรัฐ แนวโน้มเศรษฐกิจจีนซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาตัวเลขการผลิตดูดีขึ้นมากทำให้เกิดความมั่นใจว่าจีดีพีจะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 7.5% ทั้งปีนี้และปีหน้า ซึ่งทำให้โล่งใจได้ในระดับหนึ่ง ประเด็นสำคัญคือความเชื่อของนักลงทุนว่าผู้นำจีนจะ “ดูแล” ไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงไปกว่านี้ แต่ข้อกังวลคือในระยะหลังที่เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการกลับไปเร่งการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจ ทั้งกับรัฐวิสาหกิจและให้กับระบบธนาคารเงา (shadow banking) ซึ่งเป็นการเพิ่มความไม่สมดุลของเศรษฐกิจต่อเนื่อง กล่าวคือ ปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจจีน คือ

1. ระบบธนาคารซึ่งจัดสรรเงินฝากที่กดดอกเบี้ยต่ำให้รัฐวิสาหกิจนำไปลงทุนขยายกำลังการผลิตอย่างมาก

2. รัฐบาลท้องถิ่นหารายได้จากการขายที่ดินและทำโครงการขนาดใหญ่โดยการสร้างหนี้ แต่ถูกตั้งคำถามว่าโครงการที่เกิดขึ้นมามากมายนั้น คุ้มค่าและจ่ายดอกเบี้ย/คืนเงินต้นได้จริงหรือไม่

3. ประชาชนพยายามหาลู่ทางที่จะฝากเงินให้ได้ดอกเบี้ยสูงขึ้น ทำให้เกิดระบบธนาคารเงาคือมีการจัดตั้งบริษัทที่ออกตราสารในรูปแบบเดียวกับ CDO ของสหรัฐ ที่ให้ดอกเบี้ยสูงแต่มีความเสี่ยง โดยผู้ฝากเงินเชื่อว่าปลอดภัยเพราะคิดว่ารัฐบาลต้องเข้ามาค้ำประกันให้ในที่สุด

4. ปัจจุบันการบริโภคของจีนเท่ากับ 35% ของจีดีพี ในขณะที่การลงทุนเท่ากับ 45% ของจีดีพี แปลว่าผลิตเกินกำลังซื้อของประชาชน แต่จะระบายไปต่างประเทศก็ทำได้ยากขึ้นเพราะต้นทุนการผลิตของจีนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในส่วนของไทยนั้นปัญหาจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือ การลงทุนต่ำและรัฐบาลไม่สามารถขับเคลื่อนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการจัดการน้ำหรือโครงการ 2 ล้านล้านเพื่อปรับโครงสร้างการขนส่ง การส่งออกก็โตได้ไม่มากเพราะกำลังซื้อฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่การบริโภคในประเทศก็อ่อนแอ เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณแล้วว่าหนี้ครัวเรือนสูงเกินไป นอกจากนั้นดอกเบี้ยระยะยาวก็ยังปรับเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยสหรัฐ จึงทำให้มีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลดลง แต่ก็ยังหวังกันว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเริ่มลงทุนของภาครัฐในปีหน้าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เกือบ 5% ครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัจจัยและตัวแปร ชี้นำ ทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย

view