สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สารพัด มิสเตอร์เกษตร ก็แค่ GIMMICK ทางการเมือง

จากประชาชาติธุรกิจ

ครม.วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้มีมติแต่งตั้ง 5 รัฐมนตรี ประกอบด้วย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น มิสเตอร์ข้าว, นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น มิสเตอร์ยาง, นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็น มิสเตอร์มันสำปะหลัง, นายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็น มิสเตอร์ข้าวโพด และนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็น มิสเตอร์อ้อย

หน้าที่รับผิดชอบกำหนดไว้อย่างกว้างขวางมโหฬารเพียงว่า ให้รับผิดชอบและติดตามสถานการณ์ผลผลิตทางการเกษตรเป็น "พิเศษ" ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การแปรรูป เสถียรภาพทางราคา โดยให้เชื่อมโยงไปถึงการส่งออก

จัดเป็นการแต่งตั้งหน้าที่ "พิเศษ" นอกเหนือไปจากการกำกับดูแลนโยบายในแต่ละกระทรวงที่ได้รับมอบหมาย ท่ามกลางความสงสัยของสาธารณชนเป็นวงกว้างที่ว่า แท้ที่จริงแล้ว บรรดา Mister เหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาทำไม ?

นายวราเทพ รัตนากร ได้อธิบายสิ่งที่จะทำในฐานะมิสเตอร์ข้าวว่า จะเชิญหน่วยงานต้นน้ำที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้าวของกระทรวงเกษตรฯ เข้ามาหารือบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ข้าวของไทย และ "จัดภารกิจเรื่องข้าวทั้งระบบ"


มีเป้าหมายที่จะพัฒนาข้าวไทยให้มีความยั่งยืน ก่อนเสนอข้อมูลต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเตรียมนัดหารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหาวิธีการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกในฤดูการ ผลิตปี 2556/57 สมทบกับข้าวในสต๊อกเก่าของรัฐบาลที่ยังจำหน่ายไม่หมด เบื้องต้นคาดว่าจะต้องเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ เช่น สหรัฐ กับตะวันออกกลาง และขยายการส่งออกข้าวในตลาดเก่าที่มีอยู่แล้วด้วย

"การทำงานของ มิสเตอร์ข้าว จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะสั้น เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับข้าวทั้งหมด ตั้งแต่การผลิตไปถึงผลผลิต/ไร่ และมีเครื่องมืออะไรที่จะเสริมอาชีพให้ชาวนาหรือคนปลูกข้าวก็ต้องเร่งดำเนิน การ ส่วนระยะยาวคือต้องมองการแข่งขันทั้งระบบ ทั้งเรื่องของราคา คุณภาพ และความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง ซึ่งยอมรับว่าคู่แข่งของข้าวไทย ไม่ว่าทั้งเวียดนาม อินเดีย และพม่า ล้วนลุกขึ้นมาแข่งขันในตลาดค้าข้าวโลก โดยมีต้นทุนถูกกว่าไทย ในจุดนี้มิสเตอร์ข้าวต้องพยายามดำเนินการเพื่อลดต้นทุนให้กับชาวนาให้ได้" นายวราเทพกล่าว

ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง กลับมองว่า หน้าที่สำคัญของมิสเตอร์ยาง ก็คือการเป็นผู้ประสานงานข้อมูลตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งประสานดูแลเรื่องการศึกษาวิจัย เพื่อการแก้ไขปัญหายางพาราเท่านั้น แต่การช่วยเหลือเกษตรกรด้านราคายังต้องอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบาย ยางธรรมชาติ (กนย.) ตามเดิม

 

 และหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งจาก ครม.แล้ว ก็ได้ตั้ง คณะทำงานดูแลข้อมูลและทิศทางการพัฒนายางพาราในอนาคต ขึ้นมา โดยให้ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมหม่อนไหม ซึ่งมีประสบการณ์ความรู้ด้านยางพาราเป็นประธานคณะทำงาน คณะทำงานชุดนี้จะมีหน้าที่ดูแลประสานข้อมูลในระยะเริ่มต้นเท่านั้น แต่ในอนาคตเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการยางไทย ก็จะมีหน่วยงานรับผิดชอบตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. มารับช่วงต่อไป

"วิธี แก้ปัญหาราคายางพาราที่รัฐบาลทำอยู่เป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้ว การชดเชยตามพื้นที่สามารถกำหนดและคาดการณ์ได้ว่าจะมีพื้นที่ประมาณเท่าใด ต้องใช้เงินช่วยเหลือเท่าใด ถ้าตั้งราคานำตลาดแล้วรัฐบาลรับซื้อ จะประมาณการผลผลิตและเงินที่จะใช้ช่วยเหลือไม่ได้ เราไม่สามารถควบคุมราคายางในตลาดโลกได้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่จะยิ่งทำให้กลไกตลาดโลกบิดเบือน อยากให้ทุกฝ่ายที่เสนอความเห็นหรือเสนอวิธีการต่าง ๆ ผ่านสื่อ มานั่งหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพื่อจะได้เข้าใจกันทุกฝ่าย" นายยุคลกล่าว

ขณะที่นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล "มิสเตอร์มันสำปะหลัง" ก็ได้เริ่มงานในหน้าที่ใหม่แล้วเช่นกัน โดยจะดูแลผลผลิตมันสำปะหลังแบบ "ครบวงจร" ทั้งผลิตอาหารและเป็นพืชพลังงานเพื่อผลิตเอทานอล โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากขณะนี้มีสินค้าเกษตรหลายชนิด รวมทั้งมันสำปะหลังที่กำลังเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และมีระดับราคาที่ไม่คงที่ ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงานจะรับผิดชอบการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ปริมาณการ ใช้มันสำปะหลังให้สมดุลในทุกภาคส่วนเพื่อให้เกษตรกรได้ราคาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อป้อนโรงงานเอทานอลและไบโอดีเซล รวมไปถึงการใช้ในอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง

"กระทรวงพลังงานเตรียม หารือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อวางยุทธศาสตร์ผลักดันการใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอลเป็นพลังงานทางเลือก มากขึ้น เพื่อที่จะดูแลราคาหัวมันสดไม่ให้ตกต่ำเกินไป โดยคำนึงถึงสิ่งที่เกษตรกรต้องการคือ ระดับราคาที่สม่ำเสมอ

นี่เป็น หัวใจหลักในการพิจารณา ผมจะนำมันสำปะหลังมาใช้ผลิตเอทานอลมากขึ้น จากปัจจุบันที่การนำมันมาใช้ผลิตเอทานอลยังไม่เป็นที่นิยม หากเทียบกับการใช้กากน้ำตาลหรือโมลาส เพราะราคามันสำปะหลังจะขึ้นลงเร็ว แต่โมลาสมีคุณสมบัติในการผลิตแอลกอฮอล์ได้ดีกว่า ดังนั้นวิธีการบริหารที่ดีที่สุดควรจะมีกองทุนมันสำปะหลัง เพื่อดูโครงสร้างราคาอย่างสมดุล เป็นการถ่วงดุลกันทุกส่วน ความเป็นไปได้ในเรื่องนี้คงต้องหารือกับฝ่ายกฎหมาย เกษตรกร ผู้ผลิตแป้งมัน และผู้ผลิตไบโอดีเซลต่อไป" นายพงษ์ศักดิ์กล่าว

มีข้อน่าสังเกตว่า มิสเตอร์ทั้ง 3 ท่านมีมุมมองต่อหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 2 ท่านคือ มิสเตอร์ข้าวกับมิสเตอร์มันสำปะหลังกำลังคิดการใหญ่ถึงกับจะจัดระบบการผลิต การตลาดสินค้าเกษตรแบบครบวงจร ในขณะที่มิสเตอร์ยางมองอย่างผู้มีประสบการณ์ผ่านระบบราชการมาอย่างยาวนาน ด้วยการวาง Position ของตัวเอง เป็นแค่เพียง "ผู้ประสานข้อมูล" เท่านั้น

ท่าม กลางความเป็นจริงที่ว่า ทุกพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มี "คณะกรรมการ" ที่มีอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายเป็นผู้กำกับดูแลทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติ ครอบคลุมตั้งแต่การผลผลิตไปจนกระทั่งถึงการตลาดและการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน, คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลังแห่งชาติ มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธาน, คณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธาน, คณะกรรมการนโยบายอาหาร ก็มี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธานอีกเช่นกัน

จะมีก็แต่ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายราชการ มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนชาวไร่อ้อย 9 คน และผู้แทนโรงงานน้ำตาล 7 คน

ส่วนคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ จะมี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ทั้ง 5 ชุดนี้ถึงจะเป็นตัวจริง ของจริง

ในขณะที่ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ความสับสนในการบริหารจัดการพืชผลทางการเกษตรของบรรดามิสเตอร์เหล่านี้ที่มี แต่ชื่อกับความคิดเห็น แต่ปราศจากอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ย้อนกลับมาเป็นวังวนในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรแบบงูกินหางไม่สิ้นสุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สารพัด มิสเตอร์เกษตร GIMMICK ทางการเมือง

view