สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การทำโทษธนาคารเจพีมอร์แกนเชส

การทำโทษธนาคารเจพีมอร์แกนเชส

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาคือการที่ธนาคารเจพีมอร์แกนเชสของสหรัฐยอมจ่ายเงิน 13,000 ล้านดอลลาร์ให้กับรัฐบาลสหรัฐ

เพื่อเป็นการยอมความคดีแพ่งเกี่ยวกับการออกตราสารที่ใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน (mortage-backed securities หรือ MBS) ซึ่งต่อมาผู้ถือพันธบัตรดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะเกิดวิกฤติทางการเงินขึ้น ทำให้ราคาสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงทั่วประเทศ ทำให้ผู้ถือตราสารดังกล่าวได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งนี้ เป็นการจ่าย “ค่าปรับ” ที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ ซึ่งเจพีมอร์แกนเชสยอมจ่ายแม้ว่าจะไม่สามารถขอให้รัฐบาลสหรัฐให้คำมั่นสัญญาได้ว่าจะไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญาตามมา กล่าวคือ เจพีมอร์แกนเชสและผู้บริหารที่เกี่ยวข้องอาจโดนฟ้องร้องคดีอาญาต่อไปในอนาคตอีกก็เป็นได้

เรื่องนี้คนส่วนใหญ่อาจมองว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องไปสงสารธนาคารที่ร่ำรวยมาจากการปล่อยกู้และเมื่อเข้าสู่ตาจนเกิดวิกฤติรัฐบาลก็ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือแต่หากมองในอีกมุมหนึ่งก็อาจสรุปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐมิได้ให้ความเป็นธรรมกับธนาคารเจพีมอร์แกนเชสเลย เพราะที่มาที่ไปของเรื่องคือในช่วงที่กำลังเกิดวิกฤตทางการเงิน การธนาคารในเดือนมีนาคมปี 2008 นั้นปัญหาที่เผชิญหน้ารัฐบาลของประธานาธิบดีบุชคืออาการทางการเงินที่ร่อแร่ของธนาคารแบร์สเตรินส์ ซึ่งเป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญด้านพันธบัตรและมีทรัพย์สินประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยเน้นการออกตราสาร MBS และอนุพันธ์ต่างๆ (โดยเฉพาะ Collaterized Debt Obligations หรือ CDO ที่อาศัยการนำเอาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ผสมกับสินเชื่อประเภทต่างๆ มาจัดขึ้นและนำไปขายเป็นอนุพันธ์ชั้นดีและชั้นด้อย) ทำให้รัฐมนตรีคลังในขณะนั้นคือนาย Hank Paulson และผู้ว่าการธนาคารกลางนาย Bernanke วิตกกังวลอย่างมากว่าหากปล่อยให้แบร์สเตรินส์ล่มสลายลงไปก็จะกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินการธนาคารโดยรวมอย่างมาก (systemic risk)

ดังนั้น ทั้งสองจึงได้เรียกประชุมนายธนาคารใหญ่ทั้งหมดและในที่สุดก็สามารถโน้มน้าวให้เจพีมอร์แกนเชสซื้อกิจการและสินทรัพย์ของแบร์สเตรินส์ทั้งหมด ซึ่งครั้งนั้นนาย Paulson และ Bernanke ถูกตำหนิว่าขายให้เจพีมอร์แกนเชสในราคาถูก จนในที่สุดเมื่อธนาคารเลห์แมนบราเธอร์สประสบปัญหาประมาณ 6 เดือนต่อมาทางการสหรัฐจึงไม่สามารถหาธนาคารใดมาซื้อเลห์แมนบราเธอร์สได้ ทำให้ต้องยอมปล่อยให้ธนาคารเลห์แมนบราเธอร์สล้ม ซึ่งกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกเดือนกันยายน 2008

เงินปรับ 13,000 ล้านดอลลาร์ที่เจพีมอร์แกนเชสต้องจ่ายนั้นส่วนใหญ่เป็นการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากตราสาร MBS ที่ออกก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 กล่าวคือเป็นตราสารออกโดยแบร์สเตรินส์และอีกธนาคารหนึ่งที่รัฐบาลโน้มน้าวให้เจพีมอร์แกนเชสเข้าซื้อกิจการเพื่อ “ช่วยชาติ” คือ Washington Mutual ทำให้นักวิเคราะห์สรุปว่าต่อไปนี้คงจะไม่มีธนาคารใดจะยอม “ช่วยชาติ” อีกในวิกฤติการเงินการธนาคารครั้งต่อไป ทั้งนี้ เงินที่ต้องจ่ายรวมทั้งสิ้น 13,000 ล้านดอลลาร์นั้น 4,000 ล้านดอลลาร์จะมอบให้กับ Fannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งเป็นธนาคารเฉพาะกิจขนาดใหญ่ของรัฐที่ถูกกำหนดโดยนักการเมืองให้สนับสนุนการปล่อยกู้ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในทุกรูปแบบ (นักการเมืองสหรัฐหาเสียงกับประชาชนโดยการให้สินเชื่อราคาถูกเพื่อประชาชนทุกครอบครัวจะได้เป็นเจ้าของบ้าน) ทำให้ Fannie และ Freddie เป็นกลไกสำคัญในการสร้างฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ แต่ประเด็นสำคัญที่หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal (WSJ) ตั้งข้อสังเกตคือ Fannie และ Freddie ซึ่งเป็นสถาบันขนาดใหญ่ มีความรู้ความสามารถสูงในการประเมินความเสี่ยง (เพราะระดมเงินและปล่อยกู้รวมกัน 2 ล้านล้านดอลลาร์) จะ “ถูกหลอก” และประเมินความเสี่ยงของตราสาร MBS ผิดพลาดได้อย่างไร

อีก 4,000 ล้านจะถูกนำไปใช้ลดความเสียหายให้กับผู้บริโภค (consumer relief) แต่ WSJ ก็ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ซื้อตราสาร MBS นั้นส่วนใหญ่ก็คือนักลงทุนสถาบัน ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามว่านักลงทุนสถาบันนั้นควรประเมินความเสี่ยงได้เองหรือไม่ ส่วนอีก 5,000 ล้านดอลลาร์นั้นจะมอบให้กับกระทรวงยุติธรรมและอัยการของมลรัฐนิวยอร์กเพื่อชดเชยให้ในฐานะที่องค์กรทั้งสองเป็นแกนนำในการฟ้องร้องเจพีมอร์แกรเชส ซึ่ง WSJ สรุปว่าเป็นการ “ยึดทรัพย์” (confiscate) รายได้ของเอกชน เพราะ “มีอำนาจที่จะทำได้” และเพื่อสร้างความนิยมกับฝ่ายซ้ายที่ต้องการลงโทษธนาคารซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ ในข้อเท็จจริงนั้นรากเหง้าของปัญหาเกิดจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเกินไปของธนาคารกลาง (กดดอกเบี้ยลงให้ต่ำ) และความหละหลวมของกฎเกณฑ์ซึ่งส่งเสริมให้สถาบันการเงินขยายสินเชื่อและรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยทางการไม่เคยตักเตือน (ตรงกันข้ามตอกย้ำว่าการขายตราสารและอนุพันธ์ออกไปทั่วโลกเป็นการ “กระจาย” ความเสี่ยงออกไปให้พ้นจากตัวสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้)

ที่น่าสนใจคือ นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐในวันนี้ก็ยังเป็นนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน แต่ผ่อนคลายมากกว่าเดิมหลายเท่าตัวเพราะก่อนวิกฤติดอกเบี้ยนโยบายอยู่ประมาณ 3% และปริมาณเงินในระบบทั้งหมดมีเพียง 800,000 ล้านดอลลาร์ แต่วันนี้ดอกเบี้ยต่ำใกล้ศูนย์และธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์เงินใหม่เพิ่มเข้าสู่ระบบเดือนละ 85,000 ล้านดอลลาร์ เพียงแต่ธนาคารไม่เล่นด้วยคือเมื่อได้เงินใหม่มาก็นำกลับไปฝากที่ธนาคารกลางจนกระทั่งเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากอยู่กับธนาคารกลางนั้นมากเกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐจึงแสดงความมุ่งมั่นที่จะต้องพิมพ์เงินใหม่เข้าระบบต่อไป

แต่ประเด็นที่น่าคิดคือ หากเกิดวิกฤติการเงินและการธนาคารครั้งต่อไป ทางการสหรัฐคงจะพึ่งภาคเอกชนให้มาช่วยชาติได้ยาก ซึ่งบางคนอาจพูดว่าวิกฤติคงจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว แต่ในบทความของนาย Parsons (อดีตผู้บริหารของ Bank of America) ลงใน WSJ วันที่ 22 ตุลาคม 2013 ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าสถาบันประกันเงินฝากของสหรัฐหรือ FDIC นั้นมีแนวปฏิบัติที่จะขอร้องให้ธนาคารขนาดใหญ่เข้าไปควบรวมธนาคารกลางขนาดเล็กที่ประสบปัญหา ทั้งนี้ นาย Parson อ้างสถิติในอดีตว่าธนาคารพาณิชย์สหรัฐประสบปัญหาต้องปิดตัวลงทั้งสิ้น 3,000 แห่งในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาและหากมองย้อนหลังไปอีก 100 ปีก็จะพบว่ามีธนาคารพาณิชย์ล่มสลายลงไปทั้งหมด 12,000 แห่ง ดังนั้น จึงไม่ควรนึกว่าจะไม่เห็นธนาคารต้องปิดตัวลงอีกในอนาคต ซึ่งหากเป็นธนาคารขนาดเล็กก็คงจะเอาอยู่ แต่เมื่อใดที่ธนาคารขนาดใหญ่ระดับประเทศประสบปัญหาก็คงจะเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลสหรัฐอย่างมากครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การทำโทษ ธนาคารเจพีมอร์แกนเชส

view