สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถึงเวลาเฝ้าระวังเอ็นพีแอล

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม



ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสเดินทางไปหัวหิน และพัทยา แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของเรา ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

ของเมืองทั้งสองอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ขณะเดียวกันก็อดที่จะกังวลไม่ได้ ถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม และโรงแรมรวมถึงรีสอร์ทจำนวนมากมายที่ผุดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่รายย่อยจำนวนมากแย่งกันเข้าไปทำตลาดในพื้นที่ จนเกิดคำถามตามมาว่าความต้องการที่เกิดขึ้นเป็นของจริง หรือ และประเทศไทยมีปริมาณความต้องการมากขนาดนั้นเชียวหรือ

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความกังวลถึงการแร่งตัวขึ้นของปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ และออกกฎเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อภาคครัวเรือนอย่างเข้มงวดมากขึ้น ผ่านมาถึงขณะนี้ความกังวลของธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มเห็นผลได้ชัดเจนขึ้นแล้ว โดยผลประกอบการของธนาคารธนาคารพาณิชย์ในงวด 9 เดือนที่ผ่านมา ได้รายงานยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.65% หรือเพิ่มขึ้นจาก 162,089 ล้านบาทในสิ้นปี 2555 มาอยู่ที่ 172,871 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2556 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลจากแทบทุกธนาคาร

แม้ว่าความรุนแรงของปัญหาเอ็นพีแอลในขณะนี้จะยังห่างไกลจากวิกฤติปี 2540 ที่สร้างความเสียหายให้ระบบเศรษฐกิจขั้นรุนแรง และเป็นการกระจุกตัวอยู่ในธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศ แต่เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังไม่แพ้กัน เนื่องจากเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมา ส่วนใหญ่อยู่ในภาคครัวเรือนทั้งสินเชื่อรายย่อยจากสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบุคคล

เพราะหนี้เสียจากภาครายย่อยแม้จะมีความกระจายตัวมากกว่า ไม่ทำให้ธนาคารพาณิชย์เสียหายเหมือนลูกค้ารายใหญ่ไม่กี่รายกลายเป็นเอ็นพีแอล แต่ก็ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลงจากภาระหนี้ที่กดดันสภาพคล่องในกระเป๋าตัวเอง ส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขนาดนี้ หากไม่รีบแก้ไข เครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างการบริโภคจะทำงานไม่ได้ไปอีกตัว

ธนาคารกรุงเทพที่ส่งสัญญาณออกมาเป็นเจ้าแรก ๆ ว่าเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แล้ว แม้จะยืนยันว่าไม่น่าเป็นกังวล เพราะสินเชื่อยังเติบโตด้วยเช่นกันทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมไม่เพิ่มขึ้นมากนัก แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพมีนโยบายบริหารจัดการหนี้เสียเองมาโดยตลอด โดยไม่คิดขายออกไปเหมือนธนาคารแห่งอื่น เห็นการเพิ่มขึ้นและลดลงของเอ็นพีแอลว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ในขณะนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป กล่าวคือเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ปรับลดลงไปตามฤดูกาลเหมือนที่เกิดขึ้นในปีก่อน ๆ เป็นสัญญาณว่าเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้จะแก้ไขได้ยากขึ้นกว่าในอดีต

ดูเหมือนว่าธนาคารพาณิชย์กำลังเร่งปรับตัวกันยกใหญ่ โดยเฉพาะธนาคารที่มีสินเชื่อภาครายย่อยจำนวนมากอย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่เพิ่มทีมติดตามหนี้ และลดสินเชื่อกับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท ขณะที่ธนาคารกรุงไทย แม้จะมีเอ็นพีแอลลดลงในงวดนี้ แต่ก็เพิ่มความระมัดระวังในกลุ่มข้าราชการที่เคยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก รวมถึงการเพิ่มความถี่ในการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเครดิตลูกค้าจากบริษัทเครดิตบูโรมากขึ้น

ในแง่ของภาคครัวเรือนที่ไม่ทันได้ระมัดระวังการใช้จ่ายมาตั้งแต่ต้นปีมาถึง ณ เวลานี้หลายคนอาจเริ่มรู้สึกแล้วว่าการเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เริ่มยากมากขึ้น ทั้งสินเชื่อบุคคล หรือแม้กระทั่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็มียอดการปฏิเสธสินเชื่อเพื่มขึ้น เพราะธนาคารพาณิชย์แม้จะมีเป้าหมายสร้างรายได้จากการปล่อยกู้

ในทางกลับกันภาคธนาคารยังขยะแขยงหนี้เสียอยู่ไม่น้อย ยิ่งในปี 2557 ที่ปัญหาสภาพคล่องจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ดังนั้นผู้ที่รู้สึกว่ากระเป๋าที่เคยตุงเริ่มตึงขึ้นมาแล้ว คงถึงเวลาที่ต้องหันกลับมาทบทวนวิธีการจัดการเงินในกระเป๋าตัวเองให้มีใช้มีจ่ายอย่างไม่สะดุดขาตัวเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถึงเวลาเฝ้าระวัง เอ็นพีแอล

view