สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปราการด่านแรกของการลงทุนในกองทุนรวม

ปราการด่านแรกของการลงทุนในกองทุนรวม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน สุดยอดเอกสารสำคัญที่ บลจ.จัดทำขึ้นเพื่อเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวม ก่อนตัดสินใจลงทุน

หลายๆ คนคงได้เคยยินคำกล่าวที่ว่า "การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนเสมอ" แน่นอนว่า สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมก็เช่นเดียวกัน เราในฐานะผู้ลงทุนก็ต้องทำการศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆ ของกองทุนรวมที่เราสนใจจะลงทุนนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน โดยแหล่งข้อมูลสำคัญซึ่งถือเป็นปราการด่านแรกที่จะทำให้เราได้รู้จัก และทำความคุ้นเคยกับกองทุนรวมได้ดีที่สุด ก็คือ "หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน (Prospectus)" ของแต่ละกองทุนนั้นนั่นเอง

"หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน" ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ต้องจัดทำขึ้นเพื่อเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมที่ได้จัดตั้งขึ้นนั้นให้แก่ผู้ลงทุนทราบ และไว้ใช้ประกอบการวิเคราะห์ตัดสินใจลงทุน โดยในอดีตหนังสือชี้ชวนถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1) ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ เป็นส่วนที่แสดงรายละเอียดสำคัญที่ผู้ลงทุนควรทราบ ซึ่งได้แก่ ลักษณะที่สำคัญของกองทุนรวม คำเตือน และข้อแนะนำในการลงทุน ความเสี่ยงในการลงทุน และค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นต้น มีความยาว 20 หน้ากระดาษขึ้นไป โดยส่วนสรุปข้อมูลสำคัญนี้ต้องมีการเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุน และ

2) ส่วนข้อมูลโครงการ เป็นส่วนที่แสดงข้อมูลแบบลงรายละเอียดเชิงลึกทั้งหมดของกองทุนรวมนั้นๆ โดยขยายความเพิ่มเติม และแจกแจงรายละเอียดที่มากกว่าส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งอาจมีความหนาถึง 100 กว่าหน้าก็เป็นได้ สำหรับส่วนข้อมูลโครงการนี้จะเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนก็ต่อเมื่อผู้ลงทุนร้องขอเท่านั้น

ทั้งนี้ การแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนให้แก่ผู้ลงทุนจะเป็นไปตามหลัก Disclosure Base ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติสากล โดยต้องผ่านการพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก่อนที่จะเผยแพร่ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนให้แก่ผู้ลงทุนทุกครั้ง แต่กลับแทบไม่มีผู้ลงทุนนำมาใช้ในประโยชน์ในการลงทุนเลย เนื่องจากเนื้อหาที่อัดแน่นเอียด ภาษาที่ใช้ก็เสมือนหนึ่งตำราวิชาการ ทำให้อ่านไม่สนุกเหมือนนิตยสารบันเทิง ตลอดจนความหนาของรูปเล่ม จึงส่งผลให้ผู้ลงทุนจำนวนมากตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมโดยที่ไม่อ่านหนังสือชี้ชวน ลงทุนซื้อไปแบบสุ่มสี่สุ่มห้าโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ และเมื่อเวลาผ่านไปถึงได้รู้ว่า กองทุนรวมที่ได้ลงทุนซื้อไปนั้นไม่ได้ตรงกับความต้องการของตนเอง การลงทุนจึงไม่มีประสิทธิภาพ และนำไปสู่การขาดทุนในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้ทำการสังคายนาปรับปรุงหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนขึ้นใหม่ และได้ประกาศเป็นกฎระเบียบออกมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2556 โดยแบ่งหนังสือชี้ชวนออกเป็น 3 ส่วนแทน คือ

1) ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ ซึ่งกำหนดความยาวไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4 โดยเนื้อหาต้องกระชับ อ่านง่าย และระบุเฉพาะข้อมูลหลักๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุนโดยตรง ซึ่งได้แก่ ประเภท และนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม คำถาม และคำตอบเกี่ยวกับกองทุนรวม ปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนรวม เป็นต้น โดยต้องมีการเผยแพร่ให้แก่ผู้ลงทุนทุกครั้งที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุน หรือเมื่อผู้ลงทุนร้องขอเช่นเดิม

2) ส่วนข้อมูลกองทุนรวม หรือส่วนข้อมูลโครงการเดิม โดยส่วนนี้ให้ บลจ. นำไปเก็บไว้บนเว็บไซต์ของตัวเองเพื่อใช้อ้างอิง ไม่ต้องพิมพ์แจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนอีกต่อไป และ

3) ส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วน โดย บลจ. ในส่วนท้ายของหนังสือชี้ชวน

คาดกันว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนนี้โดยเฉพาะในส่วนสรุปข้อมูลสำคัญน่าจะช่วยให้ผู้ลงทุนหันมาให้ความใส่ใจกับการอ่านหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะหนังสือชี้ชวนไม่เพียงแต่จะให้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่เราในฐานะผู้ลงทุนแล้ว ยังสามารถช่วยตอบข้อสงสัยที่คิดไว้ก่อนการลงทุนได้เกือบทั้งหมดอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพราะหนังสือชี้ชวนเปรียบเสมือนกับแหล่งข้อมูลสำคัญ ซึ่งถือเป็นปราการด่านแรกของการลงทุนในกองทุนรวมนั่นเอง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปราการด่านแรก การลงทุนในกองทุนรวม

view