สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

JAPAN CONNECTION (3)

JAPAN CONNECTION (3)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด

แรงผลักดันการเข้ามาของธนาคาร ญี่ปุ่นในประเทศไทยครั้งใหม่มีพลังอย่างมาก มิใช่เพียงโอกาสและการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจเหมือนกับช่วง 3-4 ทศวรรษที่แล้วสถาบันการเงินญี่ปุ่นฝั่งตัวในระบบเศรษฐกิจไทยมานานแล้ว และในบางช่วงบางโอกาสสถาบันการเงินญี่ปุ่นได้เข้ามาอย่างคึกคักพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงกระแสกระบวนธุรกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ประเทศไทย ในช่วงปลายและหลังสงครามเวียดนาม แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายสถาบันการเงินไทย จึงมักอยู่ในโมเดลการร่วมทุนกับธนาคารไทย

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ viratts.worldpress.com



กับธนาคารกสิกรไทย

"แผน การสร้างเครือข่าย ธนาคารแบงเกอร์สทรัสต์ ในขอบเขตทั่วโลก โดยเฉพาะเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อปี 2507 ตามแนวคิดอินเวสต์เมนต์แบงก์มีการเจรจาร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยโดยเฉพาะ ธนาคารกสิกรไทย พอปี 2512 ก็ได้ก่อตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 20 ล้านบาท หน่วยงานลงทุนของแบงเกอร์สทรัสต์, (BANKERSINTERNATIONAL CORPORATION) แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น แห่งมะนิลา (ก่อตั้งโดยแบงเกอร์สทรัสต์) กับธนาคารกสิกรไทยปี 2515 แบนคอม ดีเวลล็อปเม้นท์ฯแห่งมะนิลา ฟิลิปปินส์ ถูกเทกโอเวอร์โดยพรรคพวกของมาร์กอส เพื่อจำกัดวงความเป็นเจ้าของกิจการให้อยู่แค่นั้น

เมื่อแบงเกอร์ สทรัสต์ถอนตัวจากแบนคอมฯในฟิลิปปินส์พร้อม ๆ กับการซื้อหุ้นแบนคอมฯในทิสโก้คืนด้วย เวลาเดียวกัน ธนาคารไดอิชิกังโย (Dai-ichi Kangyo Bank) สนใจขยายกิจการด้านนี้เข้าเมืองไทย จึงซื้อหุ้นส่วนเดิมของแบนคอมฯไปอันเป็นช่วงเวลาเดียวกับ โนมูระซีเคียวริตี้(Nomura Securities) เข้ามาร่วมทุนกับธนาคารกรุงเทพในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บางกอกโนมูระ" ผมเคยเขียนถึงจุดกำเนิดของบริษัทเงินทุนทิสโก้ที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเงิน ญี่ปุ่น (จากเรื่อง ศิวะพร ทรรทรานนท์ ในหนังสือ อำนาจธุรกิจใหม่ 2541)


ต่อมาไม่นาน Dai-ichi Kangyo Bank (ปัจจุบันได้หลอมรวมอยู่ใน Mizuho Financial Group) ได้ถอนตัวออกไป เช่นเดียวกับ Nomura Securities อย่างไรก็ตาม ไม่ช้าไม่นานจากนั้น ความพยายามฟื้นความสัมพันธ์ก็มีขึ้น แต่ไม่หวือหวา

Mizuho Bank มีฐานะเป็นสาขาธนาคารในประเทศไทย หนึ่งในสามของธนาคารญี่ปุ่น ส่วน Nomura Securities นายหน้าค้าหุ้นเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น ก็หวนกลับมาอีกครั้ง

กับธนาคารกรุงเทพ

ความ จริงแล้ว Nomura Securities เข้ามาเมืองไทยก่อน Dai-ichi Kangyo Bank ตั้งแต่ปี 2513 ในนามบริษัทบางกอกโนมูระ อินเตอร์เนชั่นแนล ซีเคียวริตี้เป็นการร่วมทุนกับธนาคารกรุงเทพและเปลี่ยนเป็นเงินทุนหลัก ทรัพย์บางกอกโนมูระในอีก 5 ปีต่อมา ถือเป็นหนึ่งในฐานะผู้ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่อีกกว่าทศวรรษต่อมาได้ถอนตัวออกไป

"บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒน สินเพิ่งจะเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์โนมูระ เมื่อต้นปี 2528 เพราะผู้ถือหุ้นต่างประเทศถอนออกไป อันได้แก่ Nomura Securities ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เพราะยุทธศาสตร์ทั่วโลกของฝ่ายนั้น ที่ต้องการจะขยายตัวการลงทุนในกิจการหลักทรัพย์ในเมืองไทยอย่างเต็มที่ ถึงขั้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่เนื่องจากติดกันในแง่กฎหมาย จึงขอถอนตัวเหลือเพียงสำนักงานตัวแทน ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียวดำเนินในด้าน Underwriterต่อไป ธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายไทยได้เข้าซื้อหุ้นจาก Nomura Securities โชติ โสภณพนิช กรรรมการรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ได้รับหน้าที่รับผิดชอบพัฒนสินต่อไป" ผมเคยอรรถาธิบายประเด็นนี้ไว้นานแล้ว (พัฒนสินกับโฉมหน้าใหม่ของ "ข้อมูล" การลงทุน นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2530)

การปฏิรูปสถาบันการเงินครั้งใหญ่ในประเทศไทย เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เปิดทางให้กับขบวนพาเหรดของสถาบันการเงินระดับโลกเข้าสู่ระบบธนาคารพาณิชย์ และตลาดทุนไทย Nomura Securities ได้กลับมาอีกครั้ง ร่วมมือกับพันธมิตรเก่าอีกครั้ง

ขณะนั้นพัฒนสินคงธุรกิจหลักทรัพย์ ไว้เพียงอย่างเดียว "เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ได้เปลี่ยนชื่อจาก "บริษัทหลักทรัพย์พัฒนสิน" เป็น "บริษัทหลักทรัพย์โนมูระพัฒนสิน" (ข้อมูลทางการของโนมูระพัฒนสิน www.nomuradirect.com/) และให้ข้อมูลด้วยว่า Nomura Holdings,Inc. และ Nomura Asia Holding N.V. ถือหุ้นใหญ่รวมกันประมาณ 38%

โดยมีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้บริหารคนสำคัญ ว่าไปแล้ว ธนาคารกรุงเทพกับธนาคารญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์มากกว่านั้นมานานแล้ว และยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน-กรณีบริษัทบางกอกเฟิร์สท์โตไก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2516 เป็นกิจการร่วมทุนกับ Tokai Bank ปัจจุบันก็คือบริษัทบางกอก บีทีเอ็มยู การเปลี่ยนชื่อเกิดขึ้นมาจากกระบวนการหลอมรวมของธนาคารญี่ปุ่นหลาย ครั้งอย่างซับซ้อน ในฐานะส่วนหนึ่งของ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ หรือ BTMU (ผมอธิบายไว้บ้างในตอนที่แล้ว)

ในรายงานประจำปี 2555 ของธนาคารกรุงเทพ ให้ข้อมูลด้วยว่าได้ถือหุ้น 10% ในบริษัทบางกอกมิตซูบิชิยูเอฟเจลิส (ธุรกิจเช่าซื้อ) และบริษัทบางกอกบีทีเอ็มยู (ธุรกิจให้กู้ยืมและการลงทุน)

กับธนาคารไทยพาณิชย์

เป็น ความสัมพันธ์ที่มีบุคลิกพิเศษ เครือข่ายความสัมพันธ์อย่างกว้างขวางทั้งธุรกิจการเงินและอื่น ๆ ของญี่ปุ่น กับธนาคารไทยพาณิชย์ เชื่อมโยงถึงเครือซิเมนต์ไทย และสำนักงานทรัพย์สินฯ

กล่าว เฉพาะธุรกิจการเงิน เริ่มขึ้นประมาณ ปี 2525 บริษัทหลักทรัพย์บุคคลัภย์ ร่วมทุนกับ Long-Term Credit Bank of Japan โดยเข้ามาถือหุ้นประมาณ 20%

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน Sanwa Bank เข้ามาถือหุ้น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินอุตสาหกรรม ซึ่งก่อตั้งโดยบริษัทปูนซิเมนต์ไทย

ความ สัมพันธ์ดังกล่าวสิ้นสุดลง อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจปี 2540 เครือข่ายธนาคารไทยพาณิชย์ไม่สามารถรักษาสถาบันการเงินชั้นรองของตัวเองไว้ ได้ ขณะที่ทั้ง Long-Term Credit Bank of Japan และ Sanwa Bank ก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญLong-Term Credit Bank of Japan มีปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก ต้องเปลี่ยนสภาพจากธนาคารรัฐบาล (ลักษณะคล้าย ๆ ไอเอฟซีทีของไทย ซึ่งก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ต้องรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย) เป็นธนาคารเอกชน

ในปี 2541 แล้วขายกิจการให้กลุ่มลงทุนจากสหรัฐ (ปี 2543) ปัจจุบันคือ Shinsei Bank ธนาคารญี่ปุ่นแห่งแรกที่ถือหุ้นใหญ่โดยต่างชาติ ส่วน Sanwa Bank

ผ่านกระบวน การควบรวมกิจการหลายครั้งตั้งแต่ปี 2545 ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ BTMU อีกด้านหนึ่ง ความสัมพันธ์สถาบันการเงินญี่ปุ่นกับเครือซิเมนต์ไทย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในประเทศ โดยเฉพาะการกู้เงินสกุลเยนจากญี่ปุ่นโดยตรง เป็นความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างเครือข่ายอุตสาหกรรมญี่ปุ่นกับกลุ่ม อุตสาหกรรมเก่าแก่ของไทย

"ชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย เคยยอมรับว่า หนี้สินต่างประเทศของบริษัทของเขาที่มีมากกว่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ กว่าครึ่งเป็นของญี่ปุ่นนั้น มีความหมายที่สำคัญอย่างมากอย่างน้อย 2 ประการ หนึ่ง-ระบบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะฐานภาคการผลิตนั้น ญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างมาก สอง-องค์กรธุรกิจที่มั่นคง เป็นสัญลักษณ์ของภาคเศรษฐกิจ และสถาบันหลักของชาติเป็นผู้ถือหุ้นด้วย ก็มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับญี่ปูน" ผมเคยสรุปความสัมพันธ์ไว้ในช่วงหลังวิกฤตการณ์ปี 2540 (จากบทความเรื่อง ความสัมพันธ์ธุรกิจไทย-ญี่ปุ่น)

อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงมิติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ยังอยู่ใน 3 ยุคแรก ซึ่งผมอรรถาธิบายไว้ในตอนที่ 1 ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันความสัมพันธ์ใหม่ เกิดขึ้นจากกระแสคลื่นธุรกิจญี่ปุ่นอันคึกคัก มีทั้งเครือข่ายร้านค้าปลีก ทั้ง Maxvalu, 7-Eleven, Family Mart, Lawson และ Tsuruha เครือข่ายยักษ์ใหญ่แฟชั่นเสื้อผ้า Uniqlo ไปจนถึงเครือข่ายร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างแท้จริง อาทิ Ootoya, Saboten และ Chabuton เป็นต้น

 

ผมขออรรถาธิบายปรากฏการณ์ให้ชัดขึ้นในตอนต่อไป ซึ่งเป็นตอนจบ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : JAPAN CONNECTION

view