สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทำไม่จึงตลาดเสรี ทำไมจึงต้องมีทุน

ทำไม่จึงตลาดเสรี ทำไมจึงต้องมีทุน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ทุกครั้งที่ผมมาเมืองไทยจะต้องอธิบายให้ใครต่อใครฟังเรื่องเศรษฐกิจ ยิ่งในช่วงนี้ เศรษฐกิจมีปัญหายืดเยื้อมานาน

และมีการใช้คำว่า “ทุนสามานย์” กันบ่อยมากคำถามยิ่งดูจะมีความเร่งร้อนเพิ่มขึ้น จึงขอนำบางประเด็นมาเสนอคร่าวๆ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง

ตำราวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่อธิบายว่าเพราะอะไรมนุษย์เราจึงใช้ระบบตลาดเสรีมาเป็นเวลานมนาน ขอเรียนว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมันสะท้อนสัญชาตญาณในสองด้านของมนุษย์เรา นั่นคือ เราเป็นสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เดียวที่เมื่อมีอะไรอยู่ในมือ หรือในครอบครองจะนำมาแลกเปลี่ยนกัน การกระทำเช่นนั้นเป็นกระบวนการพื้นฐานของ “ตลาด” การแลกเปลี่ยนอาจเกิดขึ้นในภาวะแวดล้อมที่มีเพียงสองคน หรือในภาวะที่มีคนนับล้านก็ได้ นอกจากนั้น เราต้องการความ “เสรี” ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งในด้านการแลกเปลี่ยน ด้วยเหตุนี้ ตลาดเสรีจึงมีอยู่คู่กับมนุษย์เรามาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลแม้รูปแบบจะต่างกันบ้างในต่างกาลและสถานที่ก็ตาม

ระบบตลาดเสรีมีส่วนประกอบพื้นฐานสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งคือ บุคคลเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตสินค้าและบริการไม่ว่าจะเป็นห้างร้าน ที่ดิน สินทรัพย์อื่น หรือแรงงาน ระบบนี้จึงมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของทุกอย่างรวมทั้งการใช้แรงงานของบุคคล ระบบคอมมิวนิสต์ท้าทายระบบตลาดเสรีมาตั้งแต่ปี พ. ศ. 2391 ณ วันนี้มีการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ระบบคอมมิวนิสต์มิใช่ทางออกของสังคมมนุษย์ สหภาพโซเวียตแตกสลายเพราะใช้ระบบนั้น จีนไหวตัวทัน จึงรีบรื้อฟื้นระบบตลาดเสรีที่เคยใช้อยู่ในเมืองจีนขึ้นมาใช้ใหม่ส่งผลให้จีนไม่แตกสลายเช่นสหภาพโซเวียต

เมื่อพูดถึงระบบตลาดเสรีมักมีความสับสนเกิดขึ้นเสมอ นักเศรษฐศาสตร์มักอ้างถึงงานของ อดัม สมิธ ซึ่งพิมพ์หนังสือที่เรียกตามชื่อสั้นๆ ว่า The Wealth of Nations เมื่อปี พ. ศ. 2319 ว่าเป็นต้นตำรับของแนวคิด แต่ อดัม สมิธ มิใช่ต้นคิดของระบบตลาดเสรีเพราะระบบนี้มีมาก่อนแล้ว หากเป็นผู้สังเคราะห์แนวคิด ประสบการณ์ และสภาพความเป็นจริงอันหลากหลายในขณะนั้นออกมาเป็นระบบพร้อมกับเสนอกฎเกณฑ์และแนวนโยบายต่อไปว่าจะใช้ระบบนั้นบริการจัดการ หรือในการอยู่ร่วมกันทางเศรษฐกิจอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปอาจไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นและส่วนใหญ่จะไม่เฉลียวใจด้วยว่า อดัม สมิธ ละอะไรไว้ในฐานที่เข้าใจหากเราจะใช้ระบบตลาดเสรีให้มีประสิทธิผล ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เขาละไว้ได้แก่เรื่องจริยธรรมซึ่งสังคมจะต้องมีระบบตลาดเสรีจึงจะมีประสิทธิผล อดัม สมิธ เขียนหนังสือชื่อ The Theory of Moral Sentiments ไว้ก่อนเรื่อง The Wealth of Nations 17 ปี หนังสือเล่มที่เขียนก่อนนี้พูดถึงเรื่องจริยธรรมโดยเฉพาะ

เศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นระบบไหนต้องใช้ทั้งกฎเกณฑ์และ “ทุน” ซึ่งทุกคนดูจะรู้ว่าแปลมาจาก Capital แต่ส่วนใหญ่จะไม่ตระหนักว่ามันมีที่มาอย่างไร Capital มีรากมาจากภาษาละติน caput, capit หรือ capita ซึ่งมีความหมายว่า “หัว” หากสืบสาวต่อไปถึงการใช้คำนี้ทางเศรษฐกิจ “ทุน” อาจหมายถึงสิ่งที่อยู่ใน “หัว” หรือ มันสมองของคนก็ได้ ถ้าไม่มีมันสมองย่อมทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มี “ทุน” หรืออาจหมายถึงจำนวนของสัตว์เช่นวัวที่เกษตรกรเลี้ยงไว้โดยที่วัวหนึ่งตัวมีหนึ่งหัว ใครที่มีวัวมากตัวยิ่งมีทุนมากและผู้อื่นอาจเช่าไปใช้ได้เช่นเดียวกับเรายืมเงินไปลงทุนในปัจจุบัน จากมุมมองนี้ แม้แต่ระบบคอมมิวนิสต์ก็จะต้องมี “ทุน”

ในโลกปัจจุบัน เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ทุน” เรามักนึกถึงเงินที่นำมาใช้ในกิจการทางด้านการผลิตสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงงาน การค้าขาย หรือการสร้างปัจจัยพื้นฐานจำพวกถนนหนทาง ทั้งที่ทุนมีความหมายกว้างกว่านั้นซึ่งเรามักได้ยินกันในนามของทุนทางสังคม ทุนทางปัญญาและทุนทางสถาบัน เป็นต้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทุนทางการเงินมักถูกเน้นให้เป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดในระบบตลาดเสรีหลังจากวันที่ระบบศักดินาในยุโรปล่มสลายไปเมื่อราว 600 ปีก่อน จึงอาจพูดได้ว่านั่นเป็นที่มาของระบบ “ทุนนิยม” หรือ Capitalism ในหลายๆ กรณีมักมีการใช้คำว่าทุนนิยมแทนตลาดเสรีทั้งที่ตลาดเสรีมีความครอบคลุมมากกว่า นอกจากนั้น การมองว่าเงินมีความสำคัญในโลกปัจจุบันเหนือสิ่งอื่นใดยังมีส่วนทำให้สถานะของทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

การเน้นความสำคัญของเงินนำไปสู่การมุ่งสะสมเงินกันอย่างกว้างขวาง ผู้มีทุนจำนวนมากสามารถบันดาลให้อะไรๆ เกิดขึ้นได้ในด้านเศรษฐกิจ ทั้งในทางที่ดีตามระบบตลาดเสรีทั่วไป และในทางชั่วร้ายที่ขัดกับกฎเกณฑ์ของระบบตลาดเสรีโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการผูกขาด ยิ่งถ้าผู้มีเงินทุนเป็นผู้มีอำนาจและขาดศีลธรรมจรรยาด้วยแล้ว ระบบตลาดเสรีจะไม่มีโอกาสประสบประสิทธิผลตามอุดมการณ์ได้เลย ด้วยเหตุนี้ สังคมที่ต้องการใช้ระบบตลาดเสรีตามอุดมการณ์จึงต้องพยายามป้องกันอย่างสุดความสามารถที่จะมิให้การผูกขาดเกิดขึ้น แต่โดยทั่วไปในโลกปัจจุบัน การป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดในรูปแบบต่างๆ ดูจะไม่ค่อยได้ผล ทั้งนี้ เพราะเงินได้เข้าไปแทรกแซงถึงแก่นในของโลกส่วนใหญ่ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยบริหารประเทศแล้ว ยิ่งกว่านั้น ในหลายๆ กรณี ประเทศที่เป็นมหาอำนาจมักเอื้อให้บริษัทสัญชาติตนเข้าไปผูกขาดและก้าวก่ายในเศรษฐกิจของประเทศที่มีอำนาจน้อยกว่า ปัจจัยเหล่านี้คือที่มาของคำว่า “ทุนสามานย์”

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงขอเรียนย้ำว่า เราควรใช้ระบบตลาดเสรีเพราะมันมีความเป็นธรรมชาติ แต่เป็นระบบตลาดเสรีที่มีการรักษากฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มิใช่ตลาดเสรีแบบที่มี “ทุนสามานย์” อันเกิดจากการขาดศีลธรรมจรรยาของสมาชิกในสังคมเป็นหัวจักรขับเคลื่อน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทำไม่ ตลาดเสรี ทำไม ต้องมีทุน

view