สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตส่งออกหนี set zero พาณิชย์หลังชนฝาต้องได้ 1%

จากประชาชาติธุรกิจ

จากกรณีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาระบุว่า การส่งออกทั้งปี 2556 จะไม่โตมากกว่าปี 2555 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 0% ซึ่งเป็นการออกมาระบุหลังจากนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมร่วมกับผู้ส่งออกสินค้าทั้งประเทศ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยยอมรับถึงตัวเลขการส่งออกขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ 4-5% เหลือ 1%

นายนิวัฒน์ธำรงยกเหตุผลเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอยจาก 3.5% เหลือเพียง 2.9% กระทบกำลังซื้อตลาดโลกน้อยลง เกิดปัญหาตั้งแต่ต้นปีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าเกษตรอ่อนตัวลง

แต่ยังตั้งความหวังต่อการส่งออกในปี 2557 จะขยายตัวได้ 5% เพื่อดันเศรษฐกิจทั้งปีขยายตัวได้ 4.5-6.2% เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจาก 2.9% เพิ่มเป็น 3.5% ทำให้ปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวเพิ่มจาก 2.9% เป็น 4.5%

"ได้กำชับให้ทูตพาณิชย์ทำงานอย่างเต็มที่ ปีนี้เราเจอปัญหาหลายเรื่องตั้งแต่ต้นปีมา ทั้งบาทอ่อน ราคาสินค้าเกษตรโลกอ่อนตัว ตอนนี้ยังเจอเรื่องสถานการณ์การเมือง หากการชุมนุมยังยืดเยื้อ การเมืองยังไม่นิ่ง ก็น่าห่วงต่อการส่งออกในปีหน้า โดยปีนี้ที่เหลือ 2 เดือนก็น่าจะสรุปยอดกันแล้ว ตัวเลขจะเป็นอย่างไรคงต้องดูกันไป"

ขณะที่นางนันทวัลย์ ศกุลตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการส่งออกโดยตรง มองว่าตัวเลขการส่งออกปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัว 1% นั้น เป็นตัวเลขที่ได้จากการหารือกับเอกชนในทุกคลัสเตอร์สินค้า ปัญหาอะไรที่เอกชนนำเสนอก็ได้ประสานส่งไปยังหน่วยงานที่ดูแลโดยเฉพาะ และได้มีการปรับแผนส่งเสริมการส่งออกระยะสั้น เพื่อผลักดันการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายนี้แล้ว และให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเน้นการนำภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมร่วมงานแสดงสินค้าและจัดการขายโดยตรงในต่างประเทศ เช่น ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ กลุ่มวัสดุก่อสร้างเดินทางไปเจรจาการค้ากับประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง

"การจะขยายได้ 1% เฉลี่ยการส่งออกต่อเดือนในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ต้องมีมูลค่า 1.97 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเฉลี่ยต่อเดือนก็น่าจะได้ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปีหน้าเอกชนก็มองโตได้ 3% แต่นโยบายกำหนดไว้ 5% คงต้องทำงานอย่างเต็มที่ ต่อไปเราก็ต้องวางแผนระยะสั้น ปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ กิจกรรมส่งเสริมการส่งออก และทำงานใกล้ชิดภาคเอกชน เป็นสิ่งที่ให้ความสำคัญมาก"

ทั้งนี้ ในการแถลงตัวเลขส่งออกล่าสุดของเดือนกันยายนที่ผ่านมา นางนันทวัลย์กล่าวไว้ว่า หากการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 3 เดือนที่เหลือปีนี้ มูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัว 1.3% หากส่งออกได้ 2.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัว 2.6% หากได้ 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จะขยายตัวได้ 4% ซึ่งคาดว่าไตรมาสสุดท้ายส่งออกต่อเดือนก็น่าจะเกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และได้อนุมัติการเข้าร่วมงานหรือจัดกิจกรรมในต่างประเทศ และจัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อเจรจาการค้าโดยตรงแล้วกว่า 30 โครงการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ถึงไตรมาสแรกปี 2557

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมการประเมินสถานการณ์การส่งออกปี 2556 และแนวโน้มปี 2557 เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการในการพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกของไทย ที่กระทรวงพาณิชย์ เชิญผู้ส่งออกภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ภาคเอกชนได้ชี้ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ นอกจากที่มุ่งไปส่งเสริมจัดงานแฟร์ หรือนำคณะไปต่างประเทศ

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมหนัก ประกอบด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งระบุว่าปี 2557 น่าจะโตได้ 7.12% จากปีนี้โต 4.07% นั้น ขอให้สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างศูนย์ทดสอบมาตรฐาน โดยไม่คิดมูลค่าหรือคิดต้นทุนในการตรวจสอบ เพื่อแก้ปัญหาของกลุ่มยานยนต์ในเรื่องต้นทุนสูง ขอรัฐสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีและการพัฒนาและวิจัยด้านนวัตกรรม ที่ภาคอุตสาหกรรมไทยยังมีน้อยมาก เร่งเจรจาลดมาตรการกีดกันทางการค้า เร่งแก้ พ.ร.บ.การจ้างคนงานพิการ อัตราใหม่ 100 ต่อ 1 ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มสิทธิประโยชน์ลงทุนรายอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเปิดสมบูรณ์ปี 2558

ขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร แจ้งถึงปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง (EMS) ทำให้ผลผลิตกุ้งปีนี้หายไป 40-50% เสนอเร่งรัดนำเข้าพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ตรวจสอบลูกกุ้งก่อนลงฟาร์ม สร้างเครือข่ายเตือนภัยตามภูมิภาค เพิ่มสุ่มตรวจโรคเป็นการป้องกัน เสนอลดภาษีนำเข้าปลาแมคเคอเรลจาก 5% เหลือ 0% กำหนดนโยบายเขตพื้นที่เฉพาะ (โซนนิ่ง) ในสินค้าที่ไม่เพียงพอ เช่น สับปะรด เร่งเจรจาลดการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี เช่น อินโดนีเซียจำกัดท่าเรือนำเข้าสินค้าเกษตร และเร่งรัดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้นำเข้าไก่สดแช่แข็งไทย

ส่วนกลุ่มแฟชั่น อัญมณี/เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม ไลฟ์สไตล์ และอื่นๆ จะเน้นไปเรื่องการขอสนับสนุนการส่งเสริมการพัฒนาสินค้า สร้างแบรนด์ ลดต้นทุนผลิต และค่าใช้จ่ายการนำคณะไปเจรจาขายโดยตรงและการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ

นั่นคือ ข้อเรียกร้องที่ภาคเอกชนขอให้รัฐช่วยสนับสนุน ส่งเสริมให้การส่งออกดำเนินไปได้ตามเป้าหมาย และผลักดันให้พ้นจากสภาพการไม่โต หรือขยายตัว 0%

แต่จะทำได้หรือไม่ เป็นเรื่องเร่งรีบที่ต้องทำแข่งกับเวลา เพราะขณะนี้เหลือเวลาเพียงเดือนเดียวที่จะผลักดันมูลค่าการส่งออกให้ได้เกิน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน

จึงจะโตได้ 1% อย่างที่หวัง!!

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ
ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

"การส่งออกปี 2556 เชื่อว่าจะไม่ติดลบ เพราะยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่กำลังส่งออกในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร อย่างน้ำตาลทราย แต่การขยายตัวอาจจะไม่ถึง 1% โดยปีนี้ที่ส่งออกไม่ดี เพราะกำลังซื้อและเศรษฐกิจในต่างประเทศไม่ดี บางสินค้าพลาดเป้าเพราะขาดวัตถุดิบ เช่น กุ้ง เจอโรคตายด่วนในกุ้ง (EMS) ทำให้ผลผลิตหายไปจากตลาด 40-50% จากที่คาดว่าจะส่งออกได้แสนล้านบาท ก็เหลือไม่ถึง 6 หมื่นล้านบาท หรือปลาหมึก เจอปัญหาการร้องเรียนเรื่องแรงงาน วัตถุดิบจากประเทศใกล้เคียงเพื่อผลิตจึงไม่เพียงพอ ราคาสินค้าเกษตรปีนี้ก็ไม่ค่อยดี ราคาลดลงจากปีก่อน จึงเป็นกลุ่มที่ไม่ดีนัก

แต่เชื่อว่าการส่งออกปี 2557 จะดีขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อโลกดีขึ้น หลังประเทศนำเข้าสินค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐ ยุโรป จีน หรือญี่ปุ่น แก้ปัญหาภายในและฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดีกว่าปีนี้ ทำให้ตลาดนำเข้าอุตสาหกรรมไทยกลับมาดีขึ้น อย่างยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ขณะที่การท่องเที่ยวไทยก็จะยังดีอยู่

ส่วนสินค้าเกษตรยังไม่เท่าไหร่ ไม่น่าจะเติบโตนักเพราะยังติดในเรื่องวัตถุดิบขาด และราคาสินค้าเกษตรไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งสูงอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าโอกาสส่งออกไทยปีหน้าจะขยายตัวได้ 5%"

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
นายกสมาคมแช่เยือกแข็งไทย

"ปีนี้ส่งออกไทยอาจไม่ถึง 1% แม้ในปีหน้าส่วนใหญ่จะมองว่าแนวโน้มส่งออกไทยดีขึ้น แต่ผมยังเห็นโอกาสโตแค่ 3% ไม่น่าจะโตได้ 5% อย่างที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ ผมได้ชี้แจงในการประชุมร่วมเอกชนกับกระทรวงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพราะแม้ตลาดโลกจะดีขึ้น แต่การแข่งขันชิงตลาดการค้าโลกก็สูง เพราะหลายประเทศอยากทำตัวเลขส่งออกให้สูงขึ้น ประกอบกับไทยยังติดในเรื่องต้นทุนสูง วัตถุดิบขาดแคลน แรงงานหายาก ต้นทุนรวมจะยังสูง ความผันผวนของค่าเงิน และสถานการณ์การเมือง เป็นปัจจัยไม่แน่นอนที่จะกระทบต่อการส่งออกไทยทั้งสิ้น

ปีหน้าคงเป็นอีกปีที่เราต้องทำงานหนัก คงไม่สบายขึ้นกว่าปี 2556 เราอย่าไปเปรียบเทียบว่าต่ำหรือสูงกว่าปีก่อนๆ เพราะสถานการณ์การค้าโลก การส่งออกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ตลาดโลกฟื้นตัว แต่ก็ใช่ว่าไทยจะเป็นประเทศเดียวที่ส่งออก ประเทศอื่นก็แย่งกันส่งออกกับเราเช่นกัน

การจะโตสูงๆ อย่างในอดีตอาจทำได้ยาก ที่ขยายตัวได้ต่อปีเกิน 2 หลักคงยากมาก ตอนนี้เป็นภาวะที่ต้องประคองตัวและทำอย่างไรที่ไทยจะไม่สูญเสียตลาด หรือโอกาสทางการค้าการส่งออกน่าจะดีกว่า เพราะความวิตกต่อเรื่องการเมืองก็ยังมีอยู่มาก"



ที่มา : นสพ.มติชน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤตส่งออก set zero พาณิชย์ หลังชนฝา

view