สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เป้าส่งออกเพื่ออะไร โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

กระทรวงพาณิชย์ได้ รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าไทยประจำเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปรากฏมีมูลค่า 19,395.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง -0.67% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่ายังดีกว่าเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่การส่งออกลดลงถึง -7.09%

การส่งออกที่ลดลง ทางกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าเป็นผลมาจากปัญหาค่าเงินเยนที่ผันผวนในตลาด ญี่ปุ่น, ตลาดอินเดียมีปัญหาจากการลดการนำเข้าสินค้าทองคำ-อัญมณีที่ประเทศไทยเป็นผู้ ส่งออกรายใหญ่ไปยังตลาดนี้ ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและเกาหลีใต้ก็ลด ลง แม้ตลาดสหรัฐจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 6.5% และตลาดสหภาพยุโรปขยายตัวถึง 7% ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว จากความถดถอย แต่ภาพรวมของการส่งออกยังทรงตัวไม่เพิ่มขึ้นมากนักก็ตาม

พร้อม กับย้ำว่า กระทรวงพาณิชย์ยังมีความหวังว่า การส่งออกตลอดทั้งปี 2556 นี้น่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 1% หรือไม่ติดลบ นั่นหมายความว่าตลอด 2 เดือนที่เหลือนี้ ประเทศไทยจะต้องส่งออกสินค้าให้ได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และอาจจะได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง

หัน มาดูภาคการนำเข้าสินค้าปรากฏในเดือนตุลาคม ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้า 21,164.1 ล้านเหรียญ หรือลดลง 5.37% ตามการนำเข้าสินค้าทุน วัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ขณะที่การนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม 2556) ของปีนี้ มีมูลค่า 210,978 ล้านเหรียญ หรือลดลง 1.40% ส่งผลให้การขาดดุลทางการค้าในเดือนตุลาคมยังคงขาดดุลอยู่ 1,770.6 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 63,068.3 ล้านบาท ส่วนการขาดดุลในระยะ 10 เดือนแรกอยู่ที่ 19,444.7 ล้านเหรียญ หรือคิดเป็นเงินบาท 658,929 ล้านบาท

มีข้อน่าสังเกตว่า การแถลงตัวเลขการส่งออกประจำเดือนตุลาคม 2556 ในครั้งนี้ ไม่ได้พูดถึงผลกระทบจาก สถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากเมื่อวันก่อนที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ออกมาแสดงความวิตกว่า การส่งออกอีก 2 เดือนที่เหลืออาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย (เดือนละไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านเหรียญ) และโทษม็อบเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นต้นเหตุที่ทำให้การส่งออกของประเทศไทย ตลอดทั้งปี มีอัตราขยายตัวไม่ถึง 1% หรือการส่งออกเป็นติดลบ ?

แต่ ถ้าพิจารณาตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังให้ดีก็จะพบข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีทางที่การส่งออกสินค้าไทยจะขยายตัวสูงกว่าอัตรา 2.5-3% มาตั้งแต่ต้น และแนวโน้มดูจะเลวร้ายลงเมื่อตัวเลขการส่งออกในเดือนกันยายน มีมูลค่าเพียง 19,304 ล้านเหรียญ หรือลดลง -7.09%

ที่สำคัญก็คือในช่วงระยะเวลา นั้น กระทรวงพาณิชย์ยังคงหลับหูหลับตายืนยันตัวเลขการส่งออกจะขยายตัวอยู่ในระดับ 7-7.5% เหมือนเดิม ในขณะที่หน่วยงานพยากรณ์ทางเศรษฐกิจทั้งของรัฐและเอกชนส่งสัญญาณออกมาแล้ว ว่า การส่งออกสินค้าไทยไม่มีทางไปถึงจุดนั้นได้ บางสำนักถึงกับคาดการณ์ว่า การส่งออกตลอดทั้งปีจะติดลบด้วยซ้ำไป

สุดท้าย กระทรวงพาณิชย์เพิ่งออกมายอมปรับลดเป้า หมายการส่งออกลง เหลืออัตราขยายตัว 1% เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง ตามมาด้วยวาทกรรมและวิธีกรรมซ้ำ ๆ ซาก ๆ เรียกประชุมทูตพาณิชย์ หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ร่วมกับผู้ส่งออก เพื่อปรับตัวเลขการส่งออกกันใหม่ภายใต้คำพูดที่ว่า การวางยุทธศาสตร์การผลักดันการส่งออกของประเทศทำแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำ เล่า โดยลืมคิดไปว่าที่ทำ ๆ กันมา ถกตัวเลขสะท้อนปัญหาข้อขัดข้องของการส่งออกตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชนนั้น มีการประเมินข้อบ่งชี้วัดความสำเร็จกันบ้างหรือเปล่าว่า แต่ละปัญหาน่ะแก้ไขกันไปถึงไหนแล้ว ?

หากยังทำไม่ได้ ป่วยการเสียเวลาเปล่า ๆ ที่จะมานั่งตะกายเป้าหมายการส่งออกแบบฝันลม ๆ แล้ง ๆ กันต่อไปอีก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เป้าส่งออก เพื่ออะไร ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

view