สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ต้องกำจัดคอร์รัปชั่น

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ไม่ ว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่เลื่อนเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แต่ประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น กปปส. หรือ 7 องค์กรภาคเอกชน แม้กระทั่งเวทีประเทศไทยจะไปทางไหนของรัฐบาล ต่างเห็นพ้องต้องกันในการปฏิรูปประเทศไทยก็คือ การขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ฝังรากลึกทั้งในระบบการเมืองและระบบราชการมาอย่างยาวนาน จากที่พูดกันเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า ทุกโครงการขอหัก 10% มาในปัจจุบันตัวเลขพุ่งขึ้นไปถึงขอหัก 50/50

ความร้ายแรงของการคอร์รัปชั่นถูกแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมจากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (CPI) ที่จัดทำโดย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในรายงาน ผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นโลกประจำปี 2556 ปรากฏประเทศไทยถูกจัดลำดับได้ที่ 102 ผลคะแนน 35 คะแนน (เต็ม 100 คะแนน) จาก 177 ประเทศทั่วโลกเท่ากับเอกวาดอร์ มอลโดวา ปานามา และอยู่ในอันดับที่ 16 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

หันมาดูสโคปที่แคบลง เอาเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ประเทศไทยพยายามอย่างเหลือเกินที่จะเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มก็ปรากฏว่า มีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ (86 คะแนน), บรูไน (60 คะแนน) และมาเลเซีย (50 คะแนน) เท่านั้น ที่มีผลคะแนนเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนประเทศที่เหลือมีคะแนน "ต่ำกว่าครึ่ง" หมายถึงเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นอย่างน่ารังเกียจ

ในส่วนของประเทศ ไทย จริงอยู่ที่คะแนนของเราดีขึ้นจาก 37 คะแนนในปี 2555 มาเป็น 35 คะแนนในปี 2556 หรือดีขึ้นเพียง 2 คะแนน แต่เมื่อพิจารณาจากสถิติการจัดลำดับคะแนนย้อนหลังไปถึงปี 2538 ถึงปี 2554 ซึ่งใช้คะแนนเต็ม 10 คะแนน ก็จะพบว่าพัฒนาการให้การจัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศไม่ได้ก้าวไปถึง ไหน กล่าวคือผลคะแนนตลอด 17 ปีที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 3 คะแนน หรือต่ำกว่าครึ่ง หมายถึงยังแย่มาก

พอมาถึงปี 2555-2556 ที่เปลี่ยนการให้คะแนนเต็มจาก 10 คะแนน เป็น 100 คะแนน ซึ่งหมายถึงมีปัจจัยการพิจารณาปัญหาคอร์รัปชั่นมากขึ้น ประเทศไทยก็ยังคงมีคะแนนป้วนเปี้ยนอยู่ระหว่าง 35-37 คะแนน เหมือนเดิม ยังไปไม่ถึงไหน

จนอาจพูดได้ว่าเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากเผด็จการทหาร การทำรัฐประหาร (ชอบอ้างปัญหาคอร์รัปชั่นเป็น 1 ในเงื่อนไขที่ต้องทำรัฐประหาร) รัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้ง ล้วนเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ยิ่งโครงการใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการก่อสร้างของภาครัฐ มากแค่ไหน การคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นมากตามไปด้วย กินกันตั้งแต่อิฐ หิน ปูน ทราย ยันตะปู ลวดเหล็ก และมาในช่วงปีหลัง ๆ การคอร์รัปชั่นแนบเนียนไปถึงการคัดเลือกเทคโนโลยี และนโยบายประชานิยม ที่เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์คอร์รัปชั่นตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ไปจนกระทั่งถึงโครงการสำเร็จ กินกันเป็นทอด ๆ กินกันเป็นตระกูล กินกันเป็นพรรคการเมือง

ตัวอย่าง ที่เห็นได้อย่างชัดเจนในรัฐบาลชุดนี้ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็คือ การทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา ใช้เงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านบาท ในการรับซื้อข้าวทุกเมล็ดภายในประเทศ เกิดการคอร์รัปชั่นทุกขั้นตอนตั้งแต่ซื้ิอไปจนกระทั่งถึงขาย

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้สรุปข้อเท็จจริงในการสอบสวนกรณีข้อกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ "ทุจริต" โครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายข้าวรัฐต่อรัฐ หรือที่รู้จักกันดีว่า G to G

เบื้องต้นจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ป.ป.ช.พบว่า ยัง ไม่มีการขายข้าวแบบ G to G ตามที่นายบุญทรง และข้าราชการในอดีตและปัจจุบันกล่าวอ้าง จากวาทกรรมฮิตติดปากกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้นว่า "การขายข้าว G to G เป็นความลับ บอกใครไม่ได้"

ความลับอันนี้กำลังจะถูกเปิดเผยจากการสอบสวนของ ป.ป.ช. ถึงขั้นที่จะชี้มูลความผิดได้หรือไม่ในช่วงต้นปี 2557
สะท้อนให้เห็นว่า ทำไมดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยถึงไม่ไปถึงไหน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ต้องกำจัดคอร์รัปชั่น

view