สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สุรชาติ บำรุงสุข : 2557-มิคสัญญีในการเมืองไทย! สงครามกลางเมือง-รัฐล้มเหลว

จากประชาชาติธุรกิจ

"ปืนไม่ได้ฆ่าคน คนต่างหากที่ฆ่าคน"
Paul Collier
Wars, Guns, and Votes (2009)


สถานการณ์การเมืองไทยเป็น ที่จับตามองจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างมากจนเกิดความกังวลว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเช่นนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงครั้งใหม่ในสังคมไทยหรือ ไม่ และหากเกิดขึ้นแล้ว ความกังวลที่สำคัญก็คือ จะเกิดสถานการณ์สงครามกลางเมืองในไทยหรือไม่

โดยทั่วไปแล้ว สงคราม (war) หมายถึงการที่รัฐ (รัฐประชาชาติ) ตั้งแต่สองรัฐขึ้นไปใช้กำลังเข้าทำการรบ และการรบนี้มีระยะเวลาที่ทอดยาวออกไประยะเวลาหนึ่ง

สงครามในความหมายเช่นนี้จึงมีมิติของการทำลาย อันอาจถือได้ว่า สงครามเป็นรูปแบบของการใช้ความรุนแรงในระดับสูงสุดของรัฐที่กระทำต่อรัฐเป้า หมายอีกรัฐหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ สงครามเป็นรูปแบบของความรุนแรงทางการเมืองในขั้นสูงสุดของรัฐนั่นเอง ถ้าสงครามเป็นความรุนแรงในระดับรัฐกับรัฐ หรือที่ในภาษาทางทฤษฎีเรียกว่าเป็น "ความขัดแย้งระหว่างรัฐ"

แต่ก็มีความรุนแรงอีกชุดหนึ่งที่อยู่ต่ำกว่าระดับรัฐ ซึ่งมีรูปแบบเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มหรือองค์กรที่อยู่ภายในรัฐเดียวกัน โดยต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการยึดอำนาจรัฐทางการเมือง และการได้มาซึ่งอำนาจนั้น ก็เพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองของรัฐ

สภาวะที่จะนำไปสู่สถานการณ์สงครามกลางเมืองนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงภายในชาติ และความขัดแย้งนี้นำไปสู่การแบ่งขั้วทางการเมือง หรือกล่าวในทางทฤษฎีก็คือ เกิดปรากฏการณ์ของ "ขั้วทางการเมือง" (political polarization)

ซึ่งสภาวะของความเป็นขั้วเช่นนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเริ่มจากการมี ความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างรุนแรง จนถึงจุดที่ไม่อาจประนีประนอมได้ และในที่สุดความเห็นที่แตกต่างเช่นนี้ก็ขยายตัวไปสู่มิติอื่นๆ สิ่งสำคัญก็คือ ความแตกต่างดังกล่าวขยับตัวขึ้นเป็นความขัดแย้งด้วยการใช้กำลังอาวุธ (armed conflict) ของคนภายในชาติ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ความขัดแย้งที่เป็นสงครามกลางเมืองเช่นนี้ย่อมเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ กำลัง และการใช้กำลังที่เกิดขึ้นก็มีขอบเขตกว้างขวางมากกว่าการตีกันบนถนน องค์ประกอบที่สำคัญก็คือ เป็นการใช้กำลังของคนในชาติที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองรองรับเพื่อให้ได้ มาหรือการคงไว้ซึ่งอำนาจรัฐ

ตัวแบบที่มักจะทำให้เรานึกถึง สงครามในประเภทนี้ก็คือ สงครามกลางเมืองอเมริกัน (American Civil War) อันเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนของความเห็นที่แตกต่างของคนในชาติ และในที่สุดแล้วก็นำไปสู่จุดแตกหักด้วยการจับอาวุธเข้าต่อสู้กัน

สงครามกลางเมืองของสหรัฐ เป็นหนึ่งในสงครามใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และแทบไม่น่าเชื่อเลยว่า สงครามนี้ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนอเมริกันสูงถึง 620,000 คน และสงครามจบลงด้วยการดำรงบูรณภาพของรัฐอเมริกันไว้ได้ โดยไม่มีการแตกแยกออกเป็น 2 รัฐ เพราะหากฝ่ายใต้ประสบชัยชนะก็คงมีประเทศอเมริกาเหนือและประเทศอเมริกาใต้!

นอกจากนิยามดังกล่าว ซึ่งในบางครั้งอาจจะเกิดความกำกวมอยู่บ้างแล้ว นักรัฐศาสตร์บางส่วนจึงเสนอตัวชี้วัดของความเป็นสงครามกลางเมือง ที่จะต้องมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้คนจากการสู้รบที่เกิดขึ้นเป็นจำนวน มากกว่า 1,000 คนต่อปี ซึ่งหลายคนอาจจะบอกว่าตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าการสูญเสียที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงอย่างมาก

ดังจะพบว่าสงครามกลางเมืองครั้งที่ 2 ในซูดาน สงครามกลางเมืองในกัมพูชา การต่อสู้ในไอร์แลนด์เหนือ ตลอดรวมถึงการต่อสู่ของสภาแห่งชาติอัฟริกา (ANC ที่มี เนลสัน แมนเดลา เป็นผู้นำ) ก็มีการสูญเสียเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในกรณีของกัมพูชาและซูดานนั้น มีการสูญเสียเป็นจำนวนตัวเลขหลักล้านคน เกินจากเกณฑ์ข้างต้นอย่างมาก

อีกตัวอย่างหนึ่งของสงครามกลางเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทยก็คือ สงครามกลางเมืองพม่าหรืออาจจะเรียกว่า "สงครามภายในของพม่า" (Internal war in Burma) ซึ่งถือกันว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่มีอายุยาวนานที่สุดของโลก

โดยเริ่มต่อสู้กันมาตั้งแต่หลังจากประเทศได้รับเอกราชในปี ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) และต่อสู้อย่างยาวนานจนถึงปี 2012 (พ.ศ.2555) อันเป็นปีที่รัฐบาลพม่าประกาศการตกลงหยุดยิงอย่างเป็นทางการกับกลุ่มกบฏ กะเหรี่ยง และถือว่าปีนี้เป็นจุดสิ้นสุดของสงครามกลางเมืองในพม่า

การยุติเช่นนี้ตามมาด้วยการปลดปล่อยนักโทษการเมือง และการทำความตกลงหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ สงครามนี้ใช้เวลาต่อสู้กันยาวนานถึง 64 ปี

แม้จะกล่าวว่าการต่อสู้ครั้งนี้เป็นเรื่องของสิทธิทางการเมืองของชนกลุ่ม น้อย แต่ก็ทับซ้อนด้วยบริบทของการต่อสู้ทางความคิดในปัญหาสถานะของกลุ่มชนต่างๆ ภายในชาติด้วย

เรื่องราวของการต่อสู้ของชนภายในชาติจนกลาย เป็นสงครามกลางเมืองอย่างที่กล่าวโดยสังเขปในข้างต้นนั้น เป็นข้อเตือนใจผู้คนในสังคมไทยอย่างดีว่า การแตกแยกทางความคิดที่มีลักษณะสุดโต่ง จนไม่อาจหาจุดของการประนีประนอมกันได้แล้ว การแตกแยกเช่นนี้อาจจะกลายเป็นตัวจุดชนวนของความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธภายใน ชาติได้ไม่ยากนัก และต้องตระหนักอย่างมากด้วยว่า หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว อาจจะต้องยอมรับความจริงที่สำคัญประการหนึ่งว่า การยุติสงครามกลางเมืองเป็นเรื่องยากกว่าการยุติสงครามระหว่างรัฐ

เพราะการต่อสู้ภายในรัฐนั้น เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งแม้อาจจะมีชัยชนะในสงครามเช่นนี้ แต่ความคิดเก่าที่ต่อสู้กันมาอาจจะไม่ถูกทำลายลงได้อย่างง่ายๆ เว้นแต่ฝ่ายที่แพ้ในที่สุดแล้วจะยอมรับว่า การผลักดันความคิดของพวกเขาไม่อาจเป็นจริงได้และจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับฝ่าย ที่ชนะด้วยการประนีประนอม

อย่างน้อยตัวแบบของฝ่ายใต้ที่พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองอเมริกันและต้องยอมรับ การเลิกทาส และขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าการแยกประเทศเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การต่อสู้ของพวกเขาส่วนหนึ่งจึงอยู่ใต้กรอบของกระบวนการทางการเมืองแบบรัฐสภา

กล่าวคือ พวกเขาต้องใช้กลไกทางรัฐสภาเป็นเครื่องมือไม่ใช่กลไกทหารเช่นที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นสงครามกลางเมืองอีกต่อไป

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่พวกสุดโต่งที่เหลือหลังสงครามจึงกลายเป็นพลังสำคัญของการ จัดตั้งกลุ่มต่อต้านคนผิวสี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม KKK (Ku Klux Klan) ที่มีลักษณะของการต่อต้านคนผิวดำอย่างสุดโต่ง และขณะเดียวกันก็เชื่อในความเหนือกว่าของคนผิวขาว (white supremacy) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็นลัทธิชาตินิยมของคนขาว (white nationalism) ซึ่งจนถึงปัจจุบันเชื่อว่า KKK ยังคงมีสมาชิกอยู่ราว 5,000-8,000 คน

อย่างไรก็ตาม คนเหล่านี้บางส่วนยังคงมีทัศนะสุดโต่ง และยังใช้พฤติกรรมต่อต้านคนผิวสีอย่างรุนแรง เช่น การลอบวางระเบิด การปล้นธนาคาร หรือการลอบสังหาร อันทำให้เมืองบางเมืองออกกฎหมายให้ถือว่า KKK เป็นองค์กรก่อการร้าย และไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาแสวงหาสมาชิก เช่น ในมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่สงครามกลางเมืองถูกมองว่าเป็น "โรคร้าย" ของสังคมที่ไม่มีใครต้องการเห็น เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสู้รบของคนในชาติด้วยกันเองนั้น หากควบคุมไม่ได้แล้วอาจจะนำไปสู่การ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" (Ethnic Cleansing) ได้ไม่ยากนัก

และแต่เดิมนั้น คำคำนี้หมายถึงเพียงการขจัดกลุ่มคนที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนที่มีความแตกต่างทางศาสนาให้หมดไป ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบของการเนรเทศ การบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน การสังหารหมู่ ตลอดรวมถึงการข่มขู่คุกคาม เป็นต้น

ซึ่งความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธที่เกิดขึ้น อาจนำไปสู่การฆ่าล้างทางการเมืองได้ด้วย เพราะมองว่ากลุ่มการเมืองอีกฝ่ายหนึ่งเป็น "ศัตรู" ที่จะต้องทำลายล้างให้หมดไป ซึ่งก็อาจจะไม่แตกต่างจากการมองว่าคนที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ และ/หรือศาสนานั้น มีความเป็นศัตรูในตัวเองที่จะต้องทำลายล้างให้ได้

คําว่า "ethnic cleansing" นั้น อาจจะเน้นถึงการฆาตกรรมเป็นหลัก เพื่อบีบบังคับให้คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องอพยพออกไปจากดินแดนที่ต้องการ

แต่คำว่า "genocide" มีความหมายสุดโต่งมากกว่า เพราะหมายถึงการ "ขจัดให้หมดสิ้นไปอย่างสมบูรณ์" (complete extermination) ที่ครอบคลุมพฤติกรรมสุดโต่งในการทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนา กลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปให้หมดสิ้นอย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็คือ การทำลายล้างอย่างสุดโต่ง

ดังนั้น ผลของสงครามกลางเมืองจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีการทำลายล้างอย่างสุดโต่ง ดังตัวอย่างของสงครามกลางเมืองในกัมพูชาที่มีผู้เสียชีวิตจากการกระทำของ รัฐบาลเขมรแดงเป็นจำนวนมาก หรือสงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวียเดิมก็ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ในสภาพเช่นนี้ จึงไม่แปลกอะไรนักที่หลายๆ ฝ่ายจะกังวลถึงแนวโน้มและโอกาสของการเกิดสงครามกลางเมืองจากปัญหาความขัด แย้งในการเมืองไทย เพราะความกังวลเช่นนี้ยังถูกทับซ้อนด้วยความกังวลที่สำคัญอีกประการหนึ่งว่า ผลของเหตุเช่นนี้จะนำไปสู่การฆ่าล้างทางการเมืองในไทยหรือไม่

เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงแล้ว ก็คงต้องถือว่าการเมืองไทยกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ "ยุคของความรุนแรงทางการเมือง" ที่สุดท้ายแล้ว ความรุนแรงเช่นนี้ก็จะนำไปสู่สภาวะความเป็น "มิคสัญญี" ในการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ [คำว่า "มิคสัญญี" นั้นเป็นภาษาเก่าที่หมายถึง "ยุคที่มีแต่รบราฆ่าฟันเบียดเบียนกัน" (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)] หรือตกอยู่ในสภาพของภาษาในยุคใหม่ว่าเป็นสถานะ "รัฐล้มเหลว"

ดังนั้น ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และดูจะมีลักษณะเป็น "ประตูปิดตาย" ไปเรื่อยๆ เพราะแนวโน้มที่ชนวนของความขัดแย้งจะถูกถอดออก ดูจะมีความยากลำบากมากขึ้น กล่าวคือ กลุ่มต่อต้านรัฐบาลนั้นมีท่าทีที่ไม่ยอมรับการประนีประนอม

และที่สำคัญก็คือข้อเรียกร้องมีลักษณะต่อการปฏิเสธ "การเมืองในระบบ" และแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการร้องหา "การเมืองนอกระบบ" ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกติกาและครรลองของระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อเรียกร้องให้มีการจัดตั้ง "สภาประชาชน" และขยายไปถึงการให้รัฐบาลรักษาการต้องลาออกจากความเป็นรัฐบาล เป็นต้น

ทางฝ่ายรัฐบาลก็มองว่าตนเองนั้นถอยอย่างมาก จนอาจจะต้องเรียกว่าเป็นการถอยแบบ "สุดซอย" โดยการยอมยุบสภาและคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนด้วยการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบปกติแล้ว การยุบสภานั้นถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาแบบ "สุดซอย" ของความเป็นรัฐบาล เพราะเท่ากับถอยกลับไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคตของประเทศด้วยการเลือก ตั้ง

ลักษณะเช่นนี้ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติของการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งรัฐสภาในระบอบรัฐสภาของทุกประเทศก็มีการใช้กลไกเช่นนี้ไม่แตกต่างกัน โดยถือว่าในวิกฤตที่เกิดขึ้น ประชาชนผู้ลงบัตรเลือกตั้งจะเป็นผู้ตัดสิน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากฝ่ายค้านชนะ พวกเขาก็จะสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายของประเทศได้ และเป็นการปรับโดยอาศัยประบวนการทางรัฐสภา

แต่หากไม่อาศัยกระบวนการทางรัฐสภาแล้ว กระบวนการปรับเปลี่ยนที่มีความสุดโต่งนั้น แบบหนึ่งก็คือ การอาศัยพลังทหารในรูปแบบของการรัฐประหารเพื่อการเปลี่ยนรัฐบาล อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนมือของอำนาจรัฐ และเป็นการเปลี่ยนนโยบายของประเทศนั่นเอง

ตัวแบบเช่นนี้เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการเมืองไทย แต่สำหรับปี 2557 การรัฐประหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ง่ายนักจากข้อจำกัดหลายๆ ประการ

อีกตัวแบบหนึ่งก็คือ มีความขัดแย้งทางการเมืองจนถึงขั้นขยายตัวไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ และกลายเป็น "สงครามกลางเมือง" หรือเกิดสภาพ "รัฐล้มเหลว" ในการเมืองไทยขึ้น อันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครต้องการเห็นในปี 2557 เพราะหากเกิดขึ้นย่อมจะก่อให้เกิดความสูญเสียในวงกว้าง และจะทำลายสถานะของประเทศไทยอย่างมาก ทั้งในบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อันจะก่อให้เกิดการ "ถดถอย" ขึ้นในภาคส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สุรชาติ บำรุงสุข 2557 มิคสัญญี การเมืองไทย สงครามกลางเมือง รัฐล้มเหลว

view