สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตง. เช็กบิลคอร์รัปชั่น ท้องถิ่น คมนาคม มหาดไทย แชมป์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กระแสเรียกร้องปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองไทย กำลังเป็นประเด็นฮอตที่ทั้งรัฐบาลและมวลชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านอย่าง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และแนวร่วม ต่างชูเป็นนโยบายหลักในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศ ขณะที่สาระสำคัญของการปฏิรูปส่วนหนึ่งพุ่งเป้าไปที่การป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เป็นมะเร็งร้ายซึ่งบ่อนเซาะทำลายภาพลักษณ์และความเชื่อมั่น ลดทอนศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายและรอการพิสูจน์ว่า หากการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง สามารถเดินหน้า จะถอนรากถอนโคนปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมือง หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจได้จริงหรือไม่ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวหยั่งรากฝังลึกมานาน และขยายวงกว้างจากการเมืองระดับชาติและหน่วยงานรัฐในส่วนกลาง สู่ภูมิภาคและท้องถิ่น มีการโกงกินกันอย่างเป็นระบบตั้งแต่การจัดซื้อจัดจ้างวงเงินงบประมาณหลักแสนบาท หรือล้านบาท ไปจนถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่

ทั้งการก่อสร้างอาคาร ถนน สะพาน เขื่อน ฯลฯ หลักร้อยล้านบาทจนถึงพันล้านหรือหมื่นล้านบาท ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าหัวคิวอย่างเป็นล่ำเป็นสัน สร้างความร่ำรวยให้กับนักการเมืองและพวกพ้อง รวมทั้งข้าราชการ พ่อค้า ผู้รับเหมาที่รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ ขณะที่การคอร์รัปชั่นในเชิงนโยบาย

ซึ่งหลายโครงการใช้วงเงินงบประมาณสูง ก็กำลังสร้างปัญหาและภาระหนี้ก้อนใหญ่ให้ลูกหลานไทยในอนาคต

ล่าสุด สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้รายงานผลการเร่งรัดติดตามกรณีเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตในรอบ 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2556 ประจำปีงบประมาณ 2556 จากการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และเรื่องที่อยู่ระหว่างดำเนินการในช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2556 ระหว่าง 1 ต.ค. 2555-30 ก.ย. 2556 ดังนี้

ท้องถิ่นทุจริตสูงสุด

สตง.ระบุว่าในรอบ 6 เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. 2556 มีการตรวจสอบพบกรณีเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตรวมทั้งสิ้น 167 เรื่อง จำนวนเงินที่เสียหาย 158 ล้านบาท โดยหน่วยงานราชการที่มีปัญหาเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ทุจริตสูงสุด ได้แก่ หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นตรวจสอบพบทั้งหมด 82 เรื่อง รองลงไปเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 48 เรื่อง หน่วยงานที่มียอดเงินเสียหายสูงสุดคือองค์กรปกครองท้องถิ่น วงเงิน 107 ล้านบาท รองลงไปคือกระทรวงศึกษาธิการ 12 ล้านบาท

ประเภทการทุจริตที่ทำให้รัฐเสียหายสูงสุด ได้แก่ การทุจริตยักยอกเงินและทรัพย์สินราชการ วงเงิน 98 ล้านบาท และการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 42 ล้านบาท ในจำนวนนี้สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 33 เรื่อง โดยหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐชดใช้เงินคืนให้ราชการ 3.96 แสนบาท นอกนั้นมีการลงโทษทางวินัยและทางอาญา

 6 เดือนคอร์รัปชั่น 6 พันล้าน

สำหรับช่วง 6 เดือนหลังของปีงบประมาณ 2556 (1 ต.ค. 2555-30 ก.ย. 2556) มีเรื่องที่ตรวจสอบพบว่าเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 2,249 เรื่อง จำนวนเงินที่ได้รับความเสียหาย 6,785 ล้านบาท ในจำนวนนี้หน่วยงานที่มีเรื่องอยู่ระหว่างการตรวจสอบสูงสุด ได้แก่ องค์กรปกครองท้องถิ่น จำนวน 1,167 เรื่อง หรือ 51.89% รองลงไปคือกระทรวงคมนาคม 226 เรื่อง หรือ 10.05% และกระทรวงมหาดไทย 158 เรื่อง หรือ 7.03%

พิจารณาจากวงเงินที่ได้รับความเสียหายพบว่า กระทรวงคมนาคม เสียหายสูงสุด 1,742 ล้านบาท หรือ 25.68% ของยอดเงินเสียหายรวม รองลงไปคือองค์กรปกครองท้องถิ่น 1,596 ล้านบาท หรือ 23.53% และกระทรวงการคลัง 936 ล้านบาท หรือ 13.80% ของวงเงินเสียหายรวมโกงกินจัดซื้อจัดจ้างแชมป์

ขณะเดียวกัน หากแบ่งประเภทปัญหาเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พบว่าจำนวนเรื่องและจำนวนเงินที่ขาดบัญชี มาจากปัญหา 1.การทุจริตยักยอกเงิน หรือทรัพย์สินราชการ 1,203 เรื่อง หรือ 53.49% ของจำนวนเรื่องทั้งหมด รวมวงเงินเสียหาย 2,196 ล้านบาท หรือ 32.37% ของวงเงินเสียหายทั้งหมด 2.เบิกค่ารักษาพยาบาลเท็จ 9 เรื่อง หรือ 0.40% คิดเป็นจำนวนเงิน 5.16 แสนบาท หรือ 0.08% ของวงเงินที่เสียหายทั้งหมด 3.ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง 445 เรื่อง หรือ 19.79% วงเงิน 3,425 ล้านบาท หรือ 50.49% ของวงเงินเสียหายทั้งหมด 4.เบิกค่าเช่าบ้านเท็จ 33 เรื่อง หรือ 1.47% วงเงิน 3.65 ล้านบาท หรือ 0.05% 5.ปฏิบัติผิดระเบียบ 541 เรื่อง คิดเป็น 24.05% วงเงิน 1,129 ล้านบาท หรือ 16.64% และ 6.ทุจริตน้ำมันเชื้อเพลิง 18 เรื่อง หรือ 0.80% วงเงิน 25.11 ล้านบาท หรือ 0.37%

สปน.ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าประเภทการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีจำนวนเงินเสียหายสูงสุดคือการทุจริตยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ รองลงมาคือการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่หน่วยงานที่มีมูลค่าความเสียหายสูงสุดคือองค์กรปกครองท้องถิ่น

ดังนั้นเพื่อเป็นการกำกับดูแลและป้องปรามการทุจริตที่เกิดขึ้น ศ.พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ทำหนังสือแจ้งให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และให้เร่งดำเนินการในทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย กับเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

ทั้งหมดนี้เป็นกรณีตัวอย่างเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นซึ่งกำลังแพร่ระบาดรุนแรงในแวดวงการเมือง แวดวงข้าราชการ ขณะที่คอร์รัปชั่นโกงกินโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน และหลายรัฐบาลในอดีต บางโครงการอยู่ในระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งจับคนโกงได้สำเร็จและคว้าน้ำเหลว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สตง. เช็กบิล คอร์รัปชั่น ท้องถิ่น คมนาคม มหาดไทย แชมป์

view