สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ถ้ารู้อย่างนี้....

ถ้ารู้อย่างนี้....

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ความเสียหายที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่าในอดีตในการลงทุน เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต้องเคยบอกตัวเองว่า “ถ้ารู้อย่างนี้....”

เมื่อตัดสินใจผิดพลาด หรือเมื่อคิดว่าจะทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่ได้ทำ

เช่น คิดว่าจะขายหุ้นตั้งแต่ได้กำไร 20% แล้ว แต่ไม่ได้ทำ อาจจะเป็นเพราะยุ่งอยู่ อาจจะเป็นเพราะแอบหวังไว้ในใจว่าราคาน่าจะปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีก หรืออาจจะเป็นเพราะรัก ชอบ และอยากเป็นเจ้าของหุ้นนั้นตลอดไป

หรือตอนราคาตก เราคิดจะซื้อ แต่ก็คิดว่าอาจจะตกอีก สถานการณ์ยังไม่ว่าไว้วางใจ รอไว้ซื้อพรุ่งนี้ก็ได้ แต่แล้วก็ไม่ได้ซื้อ

มารู้ตัวอีกครั้งหนึ่ง ก็พร่ำบอกตัวเองด้วยความเสียดายว่า “ถ้ารู้อย่างนี้ ตอนนั้นขายไปดีกว่า กำไรตั้ง 20%แล้ว” (ตอนนี้กลับกลายมาเป็นขาดทุน) หรือ “ถ้ารู้อย่างนี้ วันนั้นสั่งซื้อไปเลย ตอนนี้แพงกว่าเดิมตั้ง 15%”

แต่การตัดสินใจผิดในการลงทุน แม้จะเสียหาย ก็ไม่ถึงกับชีวิต และหากเราลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ถ้าทุกอย่างดำเนินไปในที่ควรจะเป็น ราคาหุ้นก็มีโอกาสปรับเข้าไปใกล้ราคาที่คาดหวัง ยกเว้นว่าราคาที่เราไม่ได้ขายหรือไม่ได้ซื้อนั้น เป็นราคาที่ขึ้นหรือลงไปเพราะอารมณ์ของตลาด เราก็อาจจะต้องทำใจนิดหน่อยว่า โอกาสนั้นคงไม่กลับมาแล้ว

ในการทำธุรกิจก็เช่นกัน หลายๆ ครั้ง มีจุดให้เราตัดสินใจ และเราตัดสินใจเลือกทำ หรือตัดสินใจไม่เลือกทำ ในภายหลัง เราอาจจะมานั่งนึกกังขาว่า ถ้าวันนั้นตัดสินใจเลือกอีกอย่างหนึ่ง ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

ในชั้นเรียนบริหารธุรกิจ อาจารย์จะพร่ำสอนว่า ไม่เป็นไร “ในธุรกิจ ตัดสินใจอย่างไรก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด เราไม่สามารถบอกได้ว่า ถ้าเราตัดสินใจอีกทางเลือกหนึ่ง ผลในอนาคตจะดีกว่าที่เราตัดสินใจทำไป”

เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจ เราจึงควรมีข้อมูลให้ครบถ้วน ถ้าไม่ครบถ้วน ก็ต้องมีให้มากเพียงพอที่เราจะมีเหตุมีผลในการสนับสนุนการตัดสินใจของเรา และให้เราแน่ใจว่า หลังจากคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว เราได้เลือกตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด ภายใต้บริบทในขณะที่ตัดสินใจนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เราเป็นผู้บริหารมืออาชีพ

แม้จะเป็นธุรกิจส่วนตัว ถ้าเรายึดแนวปฏิบัติตลอดเวลาว่า ต้องคิดและหาข้อมูลประกอบอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ ก็จะเป็นประโยชน์ค่ะ แม้ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องรับผิดชอบ รับประโยชน์หรือรับความเสียหายทั้งหมดด้วยตัวเองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ไม่ได้นำหลักการเหล่านี้มาใช้ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในชีวิต การตัดสินใจเรื่องในชีวิตจะใช้วิธีวิเคราะห์อยู่ในใจ ในสมอง น้อยคนนักที่จะนำมาวิเคราะห์บนกระดาษ เขียนให้เป็นลายลักษณ์อักษร นำข้อมูลต่างๆ มาสนับสนุน แล้วจึงตัดสินใจ

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้การตัดสินใจหลายๆ อย่างในชีวิต เป็นการตัดสินใจโดยดูภาพรวมๆ ตัดสินใจด้วยข้อมูลและความเห็นของคนอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการตัดสินใจโดยใช้เหตุและผลน้อยกว่าการตัดสินใจทางธุรกิจ

ตั้งแต่ดิฉันได้รับการอบรม เรื่องการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ (Decision Making) เมื่อ 25 ปีก่อน ดิฉันได้นำมาใช้ทั้งในการทำงานและในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการลาออก เปลี่ยนงาน หรือ การเลือกซื้อของชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน รถ ฯลฯ

ดิฉันพบว่า วิธีการคิดอย่างเป็นระบบนี้ ทำให้ดิฉันตัดสินใจได้ดีขึ้น และไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลังว่า “ถ้ารู้อย่างนี้....”

อย่างไรก็ตาม การหาข้อมูลต้องฉับไว ใช้เวลาไม่มากด้วยนะคะ เพื่อให้ตัดสินใจได้ทันกาล ในบางสถานการณ์ เวลาเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องถึงคอขาดบาดตายเลยทีเดียว

ขอยกตัวอย่างในชีวิตจริง ในปี 2551 มีการศึกษาเรื่องการป้องกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะจากน้ำท่วมและน้ำทะเล ได้มีการกล่าวถึงความเสี่ยงหากมีคลื่นสึนามิที่สูงถึง 10.2 เมตร แต่สำนักงานใหญ่ของบริษัทผู้ประกอบการไม่ได้ให้ความสำคัญ ในปี 2553 มีการตรวจสอบและพบว่าต้องปรับปรุงแก้ไขเพราะอุปกรณ์หลายอย่างเสื่อมสภาพ เข้าใจว่าตั้งใจจะดำเนินการในปี 2554 แต่ยังไม่ทันดำเนินการ 11 มีนาคม 2554 คลื่นยักษ์สึนามิก็พัดมาถล่ม และก่อให้เกิดความเสียหายจนกลายเป็นอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงอันดับที่สองของโลก รองจากเหตุการณ์ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล

ในปี 2535 เครื่องบินของสายการบินแห่งหนึ่งจะลงจอดสนามบินในหุบเขา ในเนปาล ระหว่างนั้นสนามบินกำลังซ่อมบำรุงระบบเรดาร์ เพราะฉะนั้นหอบังคับการบินจึงไม่สามารถช่วยนำร่องได้ เครื่องพยายามลงจอดครั้งแรกแต่ไม่สำเร็จ ระหว่างกำลังลงจอดครั้งที่สอง กัปตันไม่ได้ให้ความสนใจกับข้อมูลระบบเตือนความสูงของพื้นดิน ว่าเขาข้างหน้ามีพื้นที่สูงชันขึ้น จึงเกิดชนหน้าผา เล่ากันว่าคำพูดสุดท้ายที่นักบินผู้ช่วยอุทานออกมาคือ “I told you so.” หรือ “ผมบอกกัปตันแล้ว”

มาถึงตรงนี้ ท่านอาจจะอยากทราบว่า ทำอย่างไรจะบรรเทาความเสียหาย หากตัดสินใจผิดไปแล้ว

บรรเทาความเสียหาย พอจะทำได้ค่ะ แต่ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม การบรรเทาความเสียหายไม่ดีเท่าการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และในหลายๆ กรณี ไม่มีโอกาสให้บรรเทาความเสียหายเลย

ตามที่ดิฉันเขียนไปแล้วค่ะ คิดให้มากๆ คิดแล้วเขียนบนกระดาษให้เป็นลายลักษณ์อักษร คิดถึงกรณีต่างๆ ไว้ล่วงหน้า คิดว่าถ้าเราตัดสินใจทางเลือกนี้ จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง และถ้าเราตัดสินใจอีกทางเลือกหนึ่งจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง ทั้งทางบวกและทางลบ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Scenario Analysis ซึ่งต้องถาม “What if……” ให้มาก และตอนคิดคำถามต้องพยายามมองโลกในแง่ร้ายไว้เยอะๆ

อย่าลืมคิดถึงทางเลือกหลายๆ ทาง ซึ่งบางทางอาจจะเป็นทางที่เราไม่ชอบ แต่ต้องนำมาพิจารณาด้วย อย่ามองข้ามไป

หลายครั้งที่ทางเลือกต่างๆ ส่งผลไปในทางเดียวกัน เช่น กรณีเป็นป่วยด้วยโรคร้ายแรง รักษาด้วยวิธีการไหน ก็ต้องตายเหมือนกัน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็ต้องถามตัวเองว่าจะเลือกวิธีการรักษาแบบไหนให้เราสบายใจที่สุด เจ็บปวดน้อยที่สุด และทำให้คนอื่นเดือดร้อนน้อยที่สุด

หลายคนแม้จะตัดสินใจถูก แต่ก็ตัดสินใจช้าเกินไป กรณีเช่นนี้น้องสาวของดิฉันให้คำนิยามว่า “ลงรถเมล์เลยไปหนึ่งป้าย” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะผลของการใช้เวลาตัดสินใจนาน ตัดสินใจช้า อาจทำให้เกิดผลที่แตกต่าง หรืออาจทำให้ความเสียหายเพิ่มขึ้น หรืออาจไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ และต้องมานั่งรำพึงกับตัวเองว่า “ถ้ารู้อย่างนี้...ตัดสินใจอย่างนี้ไปตั้งแต่ต้นจะดีกว่า”


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ถ้ารู้อย่างนี้....

view