สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฝรั่งเปรียบการเมืองไทยทำประเทศฆ่าตัวตาย

จาก โพสต์ทูเดย์

นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้สถานการณ์ไทยไม่ต่างอะไรกับการฆ่าตัวตาย ขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นปัญหาฝังลึกของภูมิภาคอาเซียน

วิลเลียม เปเส็ก นักวิเคราะห์การเมืองและเศรษฐกิจแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์บลูมเบิร์กระบุว่า ตนเองกำลังมองเลยไปไกลกว่าการที่ต้องประเมินว่าเหตุการณ์ประท้วงของไทยสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศมากน้อยแค่ไหน และหันมาประกาศข่าวร้ายของไทย รวมถึงประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแทนว่า สาเหตุการตายของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในแถบนี้คือ การฆ่าตัวตาย

ทั้งนี้ เปเส็กตั้งคำถามว่าสถานการณ์ในขณะนี้ ที่มีพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินบังคับใช้ได้ครึ่งๆ กลางๆ และความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่คืบหน้าไปไหน ยังมีอะไรให้ต้องพูดอีกหรือ ในเมื่อไม่ช้าไม่นาน สิ่งที่เกิดขึ้นจะทำให้บรรดาบริษัทข้ามชาติตัดสินใจเลือกเดินออกมาจากไทย เหมือนที่เคียวอิจิ ทานาดะ ประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ส ประจำประเทศไทยเอ่ยปากเตือนเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และตอกย้ำความจริงด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มหวาดวิตกและยกเลิกเที่ยวบินมาเยือนเมืองไทย ขณะที่ ข่าวระเบิดแทบจะรายวัน ทำให้ชายหาดมีจำนวนคนลดน้อยลง และเหล่าประเทศเพื่อนบ้านไทยต่างดิ้นรนมองหาทางออกสำหรับระบบขนส่งโลจิสติกส์ และสำหรับโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็น

ในการต่อสู้เพื่อชิงอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เหล่านักการเมืองในไทย ไม่เพียงทำให้พรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันในกรุงวอชิงตัน สหรัฐ กลายเป็นพรรคที่มีเหตุผลขึ้นมาทันทีเท่านั้น ความขัดแย้งของไทยกำลังทำลายศักยภาพความสามารถของตนเอง

กระนั้น หากมองในภาพที่กว้างกว่านั้น ภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แห่งนี้ ไล่เรียงตั้งแต่ไทย ไปจนถึงอินโดนีเซีย และมาเลเซีย หรือแม้แต่อินเดีย กำลังแสดงให้เห็นความอ่อนแอเปราะบาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก และยังเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เปเส็กชี้ว่า ระดับหนี้ที่พอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ ของภูมิภาคเอเชียแห่งนี้กำลังส่งผลกระเทือนต่อดุลบัญชีของครัวเรือน โดยที่โครงการช่วยเหลืออุดหนุนต่างๆ ของรัฐกำลังทำให้ประเทศสูญสิ้นกันชนที่จะรองรับแรงกระแทกสำหรับกรณีวิกฤต ฟองสบู่ในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังพองขึ้นเรื่อยๆ และความวิตกในบัญชีเดินสะพัดกำลังกัดกร่อนค่าเงินในประเทศต่างๆ ในเอเชีย ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างมากขึ้น ซึ่งยังไม่นับรวมความเสี่ยงที่ตลาดของภูมิภาคเอเชียที่เคยโดดเด่นสดใสแห่งนี้จะต้องเผชิญจากปัญหาที่เห็นๆ กัน คือปัญหาการเมือง และผลกระทบจากการเดินหน้าชะลอการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ปัญหาที่ประดังประเดผสมปนเปกันนี้อาจผลักดันให้ภูมิภาคเอเชียแห่งนี้เดินหน้าสู่วิกฤตอีกระลอก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าความรุนแรงครั้งนี้จะอยู่ในระดับประมาณน้องๆ วิกฤตที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540 ทว่า สิ่งที่แตกต่างจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตก็คือครั้งนี้ รัฐบาลไม่มีใครให้กล่าวโทษอีกต่อไป และเป็นรัฐบาลเองที่ล้มเหลวเพราะไม่สามารถใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มาเสริมสร้างระบบการเงินให้แข็งแกร่ง ลดระดับโครงการนโยบายประชานิยมที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ยั่งยืน และไม่พัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงไม่สร้างตาข่ายป้องกันให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเศรษฐกิจเติบโตได้ช้าลง

เปเส็กระบุว่า ประเทศไทยเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแห่งนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือนโยบายหายนะอย่างโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ทำให้การตลังของประเทศไทยเหือดหายไปถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยแทนที่รัฐบาลไทยจะมุ่งพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ชนบท กลับเลือกบิดเบือนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และทำให้คลังเก็บสินค้าล้นปรี่ไปด้วยข้าวที่ช่วยหนูได้อิ่มเอม ยังไม่รวมถึง แผนกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างโครงการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน(เมกะโปรเจกต์) เพื่อทำให้ไทยยังน่าดึงดูดสำหรับการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค

ความไร้สมรรภภาพและความละเลยไม่ใส่ใจของรัฐบาลคือสิ่งที่สมควรโดนตำหนิมากกว่าการประท้วงตามท้องถนน ซึ่งข้อเท็จจริงข้อนี้ ยังเป็นความจริงที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่เปเส็กระบุว่าฉาบหน้าไว้ด้วยสถานการณ์ในประเทศที่ดูเหมือนจะมีเสถียรภาพ พร้อมยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย ที่ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุตโฮโยโนแห่งอินโดนีเซีย ไม่สามารถลงมือกระทำใดๆ ได้เลยในการนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศในสมัยที่ 2 โดยแทนที่จะแก้ปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ ประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียกลับหันไปดำเนินนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติต้องหันหน้าหนี

แน่นอนว่า การลงทุนในอินโดนีเซียย่อมเป็นเรื่องยอดเยี่ยม หากบรรดาบริษัทเหมืองแร่สามารถถลุงสินแร่ที่ขุดขึ้นมาได้ในอินโดนีเซียก่อนส่งออก ซึ่งจะช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หนทางที่จะดึงดูดบริษัทเหล่านี้ก็คือการเพิ่มแรงจูงใจ ไม่ใช่การห้ามการส่งออกหรือออกกฎหมายเก็บภาษีธุรกิจนี้และธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม หรือกรณีที่รัฐบาลพยายามบีบให้บริษัทเสิร์ชเอ็นจินยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลและยาฮูสร้างศูนย์ปฎิบัติการข้อมูลในอินโดนีเซีย ที่แม้ไม่ตั้งใจแต่ก็ส่งสารที่ชัดเจนจนทำให้สองยักษ์ย้ายไปอยู่ที่ฟิลิปปินส์แทน

ด้านมาเลเซียก็ตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายไม่แพ้กัน โดยแทนที่จะยุติโครงการสุดโต่งที่ให้ลำดับความสำคัญกับชาวมาเลย์ก่อน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขัดขวางการลงทุนจากต่างชาติ และบั่นทอนความร่วมมือที่เอกชนจะมีให้กับรัฐ รัฐบาลนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค กลับเดินหน้าขยายโครงการดังกล่าวออกไป แถมโครงการประชานิยมที่อุดหนุนสินค้า ไฟฟ้า และน้ำมัน ยังขัดขวางความพยายามของรัฐบาลมาเลเซียในการยุติปัญหางบประมาณขาดดุลมหาศาล

ทั้งนี้ เปเส็กยังระบุอีกว่า ตัวอย่างนโยบายประชานิยมที่ขัดขวางการพัฒนาประเทศยังสามารถพบเห็นได้ในเวียดนาม บรูไน พม่า หรือแม้แต่สิงคโปร์เอง ผู้ปกครองประเทศเหล่านี้มีความเป็นผู้นำที่อ่อนแอ โดยต้องยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2551 การเติบโตอย่างรวดเร็วของเอเชียสามาลงมือทำอะไรได้มากกว่าที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ได้ลงมือทำไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีเงินจากมาตรการคิวอีของสหรัฐ ไหลเข้ามาจนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) พุ่งทะยานแรง สินทรัพย์ราคาดี และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำที่ทำให้ภาระหนี้ของรัฐสามารถบริหารจัดการได้โดยง่าย

ที่มา - http://www.smh.com.au/business/thailands-woes-symptomatic-of-a-deeper-regional-malaise-20140127-31isk.html#ixzz2nuLZUs88


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ฝรั่งเปรียบ การเมืองไทย ทำประเทศ ฆ่าตัวตาย

view