สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การกำหนด การปักปัน และ การเขียนเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ

การกำหนด การปักปัน และ การเขียนเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในบรรดาคำศัพท์เกี่ยวกับเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ มีคำ 3 คำที่มักเข้าใจกันว่าใช้แทนกันได้หรือเหมือนกัน แต้ที่จริงแล้วไม่ใช่

และควรได้รับการแยกแยะออกให้ชัดเจน ซึ่งก็คือ delimitation, demarcation และ delineation แต่ละคำข้างต้นนี้ แม้ว่าจะเติมเต็มซึ่งกันและกัน แต่ก็ต่างแสดงขั้นตอนที่แตกต่างกันในการสร้างและกำหนดเส้นหรือแนวที่แบ่งแยกประเทศหนึ่งออกจากอีกประเทศหนึ่ง

Delimitation หรือ การกำหนดเขตแดน เป็นกระบวนการทางกฎหมายที่ประเทศที่มีอธิปไตย 2 ประเทศ บรรยายโดยการเขียนเกี่ยวกับที่ตั้งของเส้นเขตแดนที่ใช้ร่วมกัน งานลักษณะนี้เป็นหน้าที่ของนักการทูตหรือผู้เจรจาสนธิสัญญาและอาจจะต้องทำสนธิสัญญามากกว่า 1 ฉบับ ตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี 1782 - 1925 สหรัฐอเมริกาและแคนาดาทำสนธิสัญญาขึ้นถึง 26 ฉบับ เพื่อตกลงที่ตั้งของเส้นเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศ แม้ว่าเส้นเขตแดนที่กำหนดขึ้นจะตั้งใจให้ตรงกับเส้นที่อยู่บนแผนที่ แต่ก็ต้องตกลงกันให้แน่ชัดเสียก่อนว่าจะใช้แผนที่ใด และ ใช้เส้นเขตแดนบนแผนที่นั้นประกอบคำอธิบายเส้นเขตแดน การกำหนดเส้นเขตแดนที่ใช้คำอธิบายเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีแผนที่แนบท้ายจะต้องแน่ใจว่าคำอธิบายนั้นชัดเจนเพียงพอโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ

Demarcation คือ การปฏิบัติการปักปันเส้นเขตแดนในสนาม จุดมุ่งหมายก็คือ การทำเครื่องหมายขึ้นเพื่อแสดงตำแหน่งของเส้นเขตแดนบนพื้นดินให้ทุกคนสามารถเห็นได้โดยง่าย งานลักษณะนี้มักอยู่ในรูปของคณะกรรมการร่วมที่มีผู้แทนมาจากแต่ละประเทศในจำนวนที่เท่ากัน แม้ว่าการทำงานอาจมีการท้าทายในแง่ของวิชาชีพจากแต่ละฝ่ายบ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นการทำงานของคณะหนึ่งเดียวมากกว่าจะเป็นคณะต่างหากจากกัน

Delineation เป็นกระบวนการแสดงเส้นเขตแดนโดยใช้แผนผังหรือคณิตศาสตร์ บ่อยครั้งคณะกรรมการร่วมมักทำหน้าที่ทั้งการปักปันและการเขียนเส้นเขตแดน ผลงานของคณะกรรมการมักจะออกมาในรูปของรายงาน รูปถ่ายหรือรูปอื่นๆ แผนที่ ตารางแสดงพิกัดตำแหน่งของหลักเขตแดน และ หมุดหลักฐานการรังวัด เอกสารเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานที่เป็นทางการของที่ตั้งเส้นเขตแดนทั้งหมด

ในบางครั้ง หน้าที่การกำหนดและการปักปันเขตแดนอาจทับซ้อนกัน คณะกรรมการจึงควรจะมีอำนาจในระดับหนึ่งที่จะทำความตกลงปรับแก้เส้นเขตแดนเล็กๆ น้อยๆ จากคำอธิบายเส้นเขตแดนที่มีการกำหนดมาตามสนธิสัญญาก่อนหน้านั้น ตัวอย่างเช่น การปักปันเส้นเขตแดนโดยใช้แม่น้ำเซนต์ลอเรนซ์เป็นเส้นแบ่งระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดา จะพยายามทำให้เกาะแต่ละเกาะในแม่น้ำเป็นของประเทศหนึ่งประเทศใดไปทั้งเกาะ เป็นต้น

ในการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ หลายๆ ประเทศมักใช้ลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นตัวชี้หรือเป็นเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ ได้แก่ แม่น้ำ สันปันน้ำของเทือกเขา แม้ว่าลักษณะทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ไม่อาจสำรวจหรือทำเป็นแผนที่ขึ้นมาได้โดยง่าย แต่ก็เป็นลักษณะที่เป็นตัวชี้บอกได้ชัดเจนเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การใช้เส้นเขตแดนตามธรรมชาติอาจไม่ใช่ความคิดที่ดี ถ้าหากเครื่องมือที่ใช้กำหนดเส้นเขตแดนไม่ชัดเจน เช่น เส้นแบ่งจะอยู่ที่ใดของสันเขา เป็นต้น

ในปี 1783 ผู้เจรจาตกลงใช้แม่น้ำเซนต์ครัวซ์ตั้งแต่ต้นแม่น้ำจนถึงปากแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดา แต่ว่าบางส่วนของต้นแม่น้ำไม่เคยมีชื่อเรียกมาก่อน จึงเกิดข้อโต้แย้งว่าต้นแม่น้ำสายใดจะเป็นเส้นเขตแดนกันแน่จนกระทั่งใช้เวลาถึง 15 ปี จึงตกลงกันได้ การใช้แม่น้ำเป็นเส้นเขตแดนมักกำหนดให้จุดกึ่งกลางของแม่น้ำตลอดแนวเป็นเส้นเขตแดน แต่ก็มักมีปัญหาว่าจุดกึ่งกลางแม่น้ำนี้วัดจากขอบน้ำของแต่ละฝั่งที่ระดับน้ำสูงเพียงใด การวัดจุดกึ่งกลางแม่น้ำจึงควรกำหนดควบคู่กับระดับน้ำในแม่น้ำเสมอ แม้กระนั้นก็ตาม ปัญหาก็ยังเกิดในกรณีที่มีเกาะอยู่กลางแม่น้ำว่าจะใช้แม่น้ำฝั่งใดเป็นเส้นเขตแดน ในกรณีนี้มักใช้แม่น้ำฝั่งที่มีร่องน้ำลึกกว่า แต่ก็ยังเกิดกรณีที่ตัดสินใจไม่ได้ในแม่น้ำเซนต์ครัวซ์ขึ้นอีกจนต้องยกเกาะกลางแม่น้ำที่เป็นปัญหาให้ฝ่ายแคนาดาไป ปัญหาในการใช้แม่น้ำเป็นเส้นเขตแดนอีกอย่างหนึ่งคือ แม่น้ำมักจะเปลี่ยนเส้นทางอย่างช้าๆ ซึ่งจะทำให้เส้นเขตแดนระหว่างประเทศเปลี่ยนไปด้วยและเกิดฝ่ายที่ได้ประโยชน์กับฝ่ายที่เสียประโยชน์ ดังนั้น สหรัฐอเมริกาและแคนาดาจึงใช้ค่าพิกัดของแม่น้ำ ณ เวลาที่ทำข้อตกลงเป็นค่าคงที่ตลอดไป

การใช้สันปันน้ำที่แยกการไหลของน้ำออกเป็นสองฝั่งมีข้อเสียสองประการ คือ การกำหนดตำแหน่งของสันปันน้ำในภูมิประเทศจริงทำได้ยาก เนื่องจากภูมิประเทศไม่ชัดเจน เช่น สันเขาแยกเป็นสองทาง หรือ แอ่งน้ำอยู่ที่กลางสันเขาพอดี หรือ สันเขาไม่ชัดเจนเป็นที่แบนๆ ไปหมด พวกฝรั่งว่ากันว่าการไม่มีสันปันน้ำที่ชัดเจนเป็นสาเหตุที่ศาลโลกตัดสินคดีเขาพระวิหารโดยใช้เหตุผลอื่น แต่คนไทยทราบกันดีว่าภูมิประเทศที่เขาพระวิหารเป็นหน้าผาสูงชันที่ชัดเจนยิ่งกว่าชัดเสียอีก ปัญหาใหญ่อยู่ที่ความเงียบของฝ่ายไทยต่อแผนที่ของฝรั่งเศสมากกว่า

การใช้เส้นรุ้งเป็นเส้นเขตแดน หมายถึง การปักปันเส้นเขตแดนเป็นส่วนโค้งของวงกลมในภูมิประเทศจริงซึ่งทำให้ยากมากขึ้นไปอีก ในทางปฏิบัติ การปักปันจึงทำเป็นเส้นตรงสั้นๆ จำนวนมากต่อกันขึ้นเป็นส่วนโค้ง ดังตัวอย่างเช่น เส้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาที่เส้นรุ้ง 49 องศาเหนือ

ในการใช้เส้นรุ้งหรือเส้นแวงเป็นเส้นเขตแดนนั้น ตำแหน่งของเส้นรุ้งหรือเส้นแวงมักจะได้มาจากการรังวัดด้วยวิธีทางดาราศาสตร์ เช่น ดวงอาทิตย์ เป็นต้น แต่ในช่วงประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มกำหนดตำแหน่งของเส้นรุ้งหรือเส้นแวงโดยใช้พิกัด geodetic (ซึ่งมีสมมุติฐานว่าโลกเป็นทรงกลมกึ่งแบนและมีขนาดแตกต่างกันตามประเทศที่ใช้) ทำให้พิกัดตำแหน่งของหลักเขตแดนทางดาราศาสตร์ที่เคยมีแตกต่างจากพิกัดทาง geodetic แต่ก็เป็นความแตกต่างเฉพาะค่าตัวเลขของพิกัดโดยที่ตำแหน่งจริงยังคงเดิม

ตามปกติแล้ว หลักเขตแดนมักจะทำเป็นเสาหรืออย่างอื่นที่เห็นได้ชัดเจน แต่ลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนนี้ กลับทำให้หลักเขตถูกทำลายโดยมนุษย์ สัตว์ หรือธรรมชาติได้ง่าย

สนธิสัญญากำหนดเส้นเขตแดนมักจะไม่ระบุว่าจะให้ความสำคัญกับหลักเขตแดนตามความเป็นจริงหรือตำแหน่งของหลักเขตแดนทางทฤษฎี บ่อยครั้งที่การรังวัดตำแหน่งใหม่จะให้ตำแหน่งทางทฤษฎีแตกต่างไปจากตำแหน่งที่เป็นจริง สาเหตุอาจมีหลายประการ เช่น เทคโนโลยีดีขึ้น การใช้วิธีทางดาราศาสตร์แทนวิธีทาง geodetic หรือ การใช้รูปทรงของโลก (geodetic datum) ในขนาดต่างกัน หรือ การเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงที่ทำให้แนวดิ่งเปลี่ยนไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ในกรณีที่การรังวัดดั้งเดิมเป็นไปโดยสุจริต ศาลโลกจะให้น้ำหนักกับตำแหน่งตามที่เป็นจริงมากกว่า ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เส้นเขตแดนมีการเปลี่ยนแปลงง่ายเกินไปและไม่มีที่สิ้นสุดด้วยการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น พิกัดหลักเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาหลักหนึ่งที่วัดพิกัดใหม่ ห่างจากตำแหน่งหลักเขตแดนในสถานที่จริงถึง 1.7 กิโลเมตร เป็นต้น แต่ทั้งสองประเทศก็ยังคงยืนยันใช้ตำแหน่งเดิม

ระยะห่างระหว่างหลักเขตแดนมักจะได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิประเทศ เช่น ภูเขาสูง หรือ ป่าไม้ทึบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว ระยะห่างที่เหมาะสมคือ ระยะที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือ อย่างน้อยที่สุด มองเห็นผ่านกล้องรังวัด เส้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาระยะทาง 8,891 กิโลเมตร มีหลักเขตแดนกว่า 8,000 แห่ง ซึ่งควบคุมตำแหน่งโดยหลักหมุดสำรวจกว่า 1,000 จุด ดังนั้นระยะห่างระหว่างหลักเขตแดนจึงอยู่ระหว่าง 1.6-2.4 กิโลเมตรโดยประมาณ

ตามปกติแล้ว ข้อตกลงปักปันเขตแดนมักจะประกอบด้วย การถากถางพื้นที่สองฝั่งเส้นเขตแดนให้โล่งจนเห็นท้องฟ้าตลอดแนว เช่น เส้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาที่ผ่านป่าไม้จะมีพื้นที่โล่งที่เรียกว่า Vista เป็นแถบกว้าง 6 เมตร โดยที่แต่ละฝั่งกว้าง 3 เมตร ในการนี้ต้นไม้ที่อยู่นอกเขตแต่มีกิ่งก้านล้ำเข้ามาก็ต้องถูกโค่นทิ้งด้วย

เมื่อเวลาผ่านไปกว่า 100 ปี ภายหลังการปักปันเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาหลักเขตแดนได้พังทลายไปเกือบหมด จนกระทั่งทั้งสองประเทศต้องทำความตกลงกันในปี 1925 ในอันที่จะฟื้นฟูให้หลักเขตแดนมีความสมบูรณ์ดังเดิม

คณะกรรมการร่วมปักปันเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีการประชุมกันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาการดูแลพื้นที่ vista บริเวณเส้นเขตแดนและการสำรวจรังวัดซ่อมแซมหลักเขตแดน งานที่แต่ละฝั่งรับผิดชอบอยู่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่มีกรรมการจากอีกฝั่งหนึ่งมาคอยควบคุม ซึ่งแสดงถึงความไว้วางใจระหว่าง 2 ประเทศเป็นอย่างดี

ที่มา : Alec McEwen, “The Demarcation and Maintenance of International Boundaries,” A paper prepared for the Canadian Commissions of the Canada/United States International Boundary Commission, July 2002.


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การกำหนดการปักปัน การเขียนเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ

view