สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

แก้คอร์รัปชัน : สานต่อพลัง 277 บริษัทเอกชน ปฏิรูปประเทศ

แก้คอร์รัปชัน : สานต่อพลัง 277 บริษัทเอกชน ปฏิรูปประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




การทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นปัญหามากขณะนี้ เป็นภาพสะท้อนของความล้มเหลวของพฤติกรรมในสังคมไทย ที่จำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างจริงจัง

เพื่อไม่ให้คอร์รัปชันทำลายเศรษฐกิจและอนาคตประเทศมากไปกว่านี้ ปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงขึ้น ทั้งๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบและเกลียดคอร์รัปชัน ปัญหารุนแรงขึ้นทั้งๆ ที่มีความพยายามจากภาครัฐ และเอกชนที่จะแก้ไขปัญหา ปัญหารุนแรงขึ้นจนบางคนท้อว่า คอร์รัปชันแก้ยาก ยิ่งแก้ยิ่งโต และบางคนถึงกับประชดประชันความพยายามที่จะแก้ปัญหา ข้อเขียนของผมวันนี้อยากให้กำลังใจทุกๆ คนว่า คอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ต้องแก้และคนไทยต้องร่วมกันแก้เพราะเป็นปัญหาของเราประเทศเรา ไม่มีใครช่วยเราได้ ถ้าเราไม่แก้ ปัญหาก็จะยิ่งเลวร้ายลง ทำให้ประเทศจะไม่น่าอยู่สำหรับคนไทยรุ่นต่อๆ ไป แต่ถ้าเราร่วมกันแก้จริงจัง คอร์รัปชันแก้ไขได้ เพราะเป็นพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงได้

แต่ที่ปัญหาดูแย่ลงมากและเร็วก็เพราะ การแก้ไขอย่างจริงจังยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากฝ่ายการเมือง ที่มีหน้าที่โดยตรงที่ต้องแก้ปัญหาเพราะมีอำนาจบริหารประเทศ ที่ผ่านมานักการเมืองไม่ได้ทำหน้าที่ ซ้ำยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ผ่านพฤติกรรมของตนเองและพวกพ้อง ยิ่งบ้านเมืองขณะนี้มีความขัดแย้งมาก การแก้ไขคอร์รัปชันก็ยิ่งไม่เกิด และเมื่อการทุจริตคอร์รัปชันไม่มีการแก้ไข ไม่มีการเอาผิด ไฟทุจริตคอร์รัปชันก็ยิ่งลุกลามหนักเหมือนปัจจุบัน

ภายใต้ภาวการณ์ เช่นนี้ เมื่อการแก้ปัญหาไม่สามารถพึ่งพาผู้ที่มีหน้าที่ หรือ นักการเมืองได้ บทบาทการแก้ปัญหาก็ต้องอยู่กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ภาคธุรกิจและประชาชน ที่ต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา ร่วมกับภาคราชการ เพื่อปฏิรูปพฤติกรรมประเทศให้หยุดคอร์รัปชัน อันนี้คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

สำหรับธุรกิจ การทุจริตคอร์รัปชันเป็น “ภาษีที่ผิดกฎหมาย” ก้อนใหญ่ที่บริษัทธุรกิจต้องจ่าย เป็นการสูญเสีย เป็นต้นทุนที่มีผลอย่างสำคัญต่อแรงจูงใจในการทำธุรกิจ และต่อการเติบโตของประเทศ คือคอร์รัปชันสร้างผลเสียมากต่อเศรษฐกิจ โดยสร้างความเหลื่อมล้ำให้มีมากขึ้น ทำให้การแก้ความยากจนทำได้ยาก บิดเบือนกลไกราคา ทำให้คนในประเทศขาดแรงจูงใจที่จะแข่งขันและลงทุน ไม่มีนักธุรกิจต่างประเทศอยากเข้ามาลงทุน นำไปสู่ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ประเทศเสียโอกาสที่จะเติบโต ซึ่งกระทบคุณภาพความเป็นอยู่ของคนในประเทศในที่สุด

ผลเสียเหล่านี้ขณะนี้กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจไทย ทำให้การ "ปฏิรูป" เพื่อลดพฤติกรรมคอร์รัปชันจึงจำเป็นและสำคัญต่อเศรษฐกิจ เพื่อความอยู่รอดของประเทศ ในกรณีของไทย ปัญหาคอร์รัปชันได้พัฒนาขึ้นมาเป็นปัญหาเชิงระบบ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ฝังอยู่ในการทำงานของราชการและระบบธุรกิจ ปัญหาลักษณะนี้ไม่สามารถแก้ได้โดยหน่วยงานรัฐฝ่ายเดียว แต่ต้องแก้อย่างเป็นระบบ แก้โดยการร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อให้สังคมเปลี่ยนพฤติกรรมไม่โกง ไม่ทุจริต ทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำ นักธุรกิจและประชาชน เพราะปัญหาจริงๆ แล้ว ก็คือ ผลผลิตของพฤติกรรมร่วมกันของคนในประเทศ

ในการแก้ไข ภาคธุรกิจเอกชน จะต้องเป็นกลไกหลักในการผลักดันการปฏิรูป เพราะเป็นเรื่องยากที่เราจะหวังให้นักการเมืองที่คอร์รัปชันและพวกพ้องซึ่งรวมถึงข้าราชการในกลุ่มการเมือง ที่ได้ประโยชน์จากระบบปัจจุบัน มาขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา การแก้ปัญหาจึงต้องมาจากการขับเคลื่อนโดยผู้ที่เสียหายจากคอร์รัปชัน คือ ภาคเอกชนร่วมกับ นักการเมืองที่ดี และข้าราชการส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคอร์รัปชัน และอยากแก้ไขปัญหาของชาติ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ภาคธุรกิจถูกมองว่าอยู่ในสมการคอร์รัปชันที่มีผู้ให้และผู้รับ และบริษัทธุรกิจเป็นอุปทานของสมการคอร์รัปชันในฐานะผู้ให้ ถ้าผู้ให้พร้อมใจกันไม่ให้ ผู้รับก็จะไม่มีอะไรจะรับ ดังนั้นถ้าภาคเอกชนร่วมกันปฏิเสธที่จะให้สินบน ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน โอกาสที่คอร์รัปชันจะเกิดก็ลดลง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ ภาคเอกชนต้องนำการแก้ไขปัญหา ก็เพราะการแก้หรือลดคอร์รัปชัน เป็นผลดีต่อภาคเอกชนโดยตรง จากประโยชน์การแข่งขันทางธุรกิจที่จะเป็นไปตามกติกา จากการลดต้นทุนเพราะไม่ต้องจ่ายสินบน ลดการบิดเบือนของกลไกราคา ที่จะสร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกิจในประเทศ สิ่งเหล่านี้จะดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศให้ความเชื่อถือต่อการทำธุรกิจในประเทศไทย เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและเศรษฐกิจ แต่การแก้ไข บริษัทธุรกิจบริษัทเดียวหรือจำนวนน้อยทำไม่ได้ การแก้ไขต้องมาจากการร่วมมือของบริษัทเอกชนจำนวนมากที่พร้อมจะร่วมกันปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปพฤติกรรมธุรกิจ ร่วมกันผลักดันการแก้ปัญหาในรูปแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชน หรือ Collective Action ที่จะสร้างพลังผลักดันให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นจริง

ปัจจุบันความพยายามของบริษัทธุรกิจที่จะผลักดันการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในลักษณะแนวร่วมปฏิบัติได้เกิดขึ้นแล้ว ในรูปโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC ที่ตั้งขึ้นเมื่อปลายปี 2010 สนับสนุนโดยองค์กรเอกชน แปดองค์กรคือ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมหอการค้าต่างประเทศ สมาคมหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างการทำธุรกิจที่สะอาด ปลอดคอร์รัปชันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยบริษัทที่เข้าร่วมลงนามจะประกาศนโยบายชัดเจนที่จะไม่ทุจริตคอร์รัปชันในการทำธุรกิจ พร้อมมีการวางระบบควบคุมภายในบริษัทที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันไม่ให้เกิดขึ้น บริษัทที่เข้าร่วมและมีการประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและวางระบบการควบคุมภายในป้องกันคอร์รัปชันได้ครบถ้วน จะได้การรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตที่มี ดร.พนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและมีระบบควบคุมภายในต่อต้านการทุจริต แสดงถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของบริษัทที่พร้อมมีบทบาท และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศโดยการเข้าร่วมแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างจริงจัง

นับตั้งแต่โครงการนี้ได้เริ่มขึ้นเมื่อปลายปี 2010 ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนจำนวน 277 บริษัทได้ประกาศเจตนารมณ์ เข้าร่วมโครงการ โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 113 บริษัท และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ 164 บริษัท เพิ่มขึ้น สิบ เท่าตัวในช่วงสามปี บริษัทที่เข้าร่วมมีทั้งบริษัทคนไทย บริษัทต่างชาติ บริษัทในกรุงเทพมหานครและบริษัทในต่างจังหวัด บางบริษัทเข้ามาร่วมเดี่ยวๆ บางบริษัทมาเป็นสมาคม เช่น สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุนรวม สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมวินาศภัยไทย สำหรับการรับรองล่าสุดมีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 41 บริษัทที่ได้การรับรองจากคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ว่ามีนโยบายและมีระบบป้องกันคอร์รัปชันที่ครบถ้วน จำนวน 277 บริษัทนี้ พูดได้ว่าเป็นทัพหน้าของกองทัพ บริษัทเอกชนไทยที่เข้าร่วมการปฏิรูปประเทศ ร่วมปฏิรูปพฤติกรรมการทำธุรกิจของประเทศให้ปลอดคอร์รัปชัน เพื่อปลดปล่อยภาคเอกชนจากการเป็น “เชลย” กับพฤติกรรมคอร์รัปชัน ที่เปรียบเสมือนอาชญากรรมจัดตั้งที่เป็นอยู่ขณะนี้

ปัจจุบันโมเมนตัมของโครงการแนวร่วมปฏิบัติมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ และบริษัทที่ผ่านการรับรองโดยคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติ เพราะกระแสสังคมขณะนี้ไม่ยอมเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ต้องการให้มีการแก้ปัญหา และบริษัทส่วนใหญ่ก็พร้อมมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แม้จะมีผลกระทบต่อธุรกิจ เพราะตระหนักดีว่าในระยะยาวประเทศและบริษัทจะได้ประโยชน์ ก็ขอเชิญชวน บริษัทเอกชนมาร่วมกันปฏิรูปประเทศ โดยร่วมกันปฏิรูปพฤติกรรมในการทำธุรกิจให้ปลอดคอร์รัปชันผ่านโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต เหมือนที่ 277 บริษัทกำลังเดินเป็นทัพหน้าอยู่ขณะนี้

ข้อมูลโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตและการเข้าร่วม ติดต่อได้ที่ คุณกิตติเดช ฉันทังกูล สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย e-mail kittidej@thai-iod.com โทร 0-2955-1155 ต่อ 302


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : แก้คอร์รัปชัน สานต่อพลัง บริษัทเอกชน ปฏิรูปประเทศ

view