สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

6 กุญแจสู่ความสำเร็จ สร้างผู้นำคิดเชิงกลยุทธ์กับ HR

จากประชาชาติธุรกิจ

เป็นที่ทราบกันดีว่าการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ได้เน้นเพียงแค่การแข่งขันด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่กลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลนับเป็นสิ่งสำคัญต่อการบริหารองค์กรมากขึ้น เรื่อย ๆ

ดังนั้น ผู้บริหารและผู้นำองค์กรต่าง ๆ จึงให้ความสำคัญกับการบริหาร "คน" เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการพัฒนาพนักงาน ทั้งยังสร้างพนักงานให้เกิดความผูกพันต่อองค์กร บริหารองค์กร รวมไปถึงการรักษาผู้มีความสามารถ เพื่อสร้างโอกาสการแข่งขัน และขับเคลื่อนผลประกอบการทางธุรกิจ

ผลเช่นนี้จึงทำให้ "ภานุวัฒน์ กาญจะโนสถ" ที่ปรึกษาอาวุโสบริษัทเฮย์กรุ๊ปมองว่า แม้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจจะมีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรมนุษย์หรือเอชอาร์ จึงเป็นหน่วยงานที่ถูกคาดหวังให้ช่วยสนับสนุนธุรกิจบรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์

เพราะฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เป็นผู้สามารถให้แนวทางและข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญแก่ผู้นำได้ ทั้งในเรื่องการสร้างประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและองค์กร รวมไปถึงปัจจัยที่ผลักดันผลการปฏิบัติงานของธุรกิจ

ยิ่งมาบวกกับการตั้งคำถามเชิงสำรวจของเฮย์กรุ๊ป พบว่าผู้นำทางธุรกิจส่วนใหญ่มองเห็นว่าบทบาทของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ยังไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง และฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เกือบ 2 ใน 3 ก็เห็นด้วยเช่นกัน คำถามจึงเกิดขึ้นว่าเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราจะสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และผู้นำองค์กรอย่างไร

เฮย์กรุ๊ปจึงทำการสำรวจและเปิดเผยถึงกุญแจสำคัญ 6 ประการ ในการสร้างให้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ตัวจริง (Real Strategic Partner) ขององค์กร โดยไม่เพียงเป็นการตอบโจทย์ธุรกิจในวันนี้เท่านั้น หากยังรวมไปถึงความต้องการในอนาคตด้วย

"ภาณุวัฒน์" บอกว่า หลังจากสำรวจพบว่าฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จะต้องเป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ตัวจริง (Real Strategic Partner) ขององค์กร 6 เรื่องด้วยกัน คือ

หนึ่ง เข้าใจ สอดรับ และสนับสนุนกลยุทธ์ทางธุรกิจ-เพื่อสร้างให้เอชอาร์เป็นคู่คิด และสามารถสร้างคุณค่าให้แก่ผู้บริหารองค์กร เราต้องเข้าใจและสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์ คน และงานเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากการตั้งคำถาม เช่น ความต้องการด้านบุคลากรแบบไหนที่องค์กรต้องการเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า

"การหาคำตอบของคำถามนี้จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจ และความเข้าใจในผลกระทบของปัจจัยภายนอกต่อความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลขององค์กร รวมทั้งสภาวะทางเศรษฐกิจ กิจกรรมของคู่แข่ง แนวโน้มตลาดและอุตสาหกรรม กฎข้อบังคับต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งเอชอาร์ต้องไม่เพียงแต่เข้าใจเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถแปลงความเข้าใจเหล่านั้นให้เป็นแผนกลยุทธ์ด้านทรัพยากรบุคคลด้วย"

"โดยต้องมุ่งเน้นให้เกิดความเหมาะสมในทุกมิติ คือมีจำนวนบุคลากรที่เหมาะสมมีทักษะความรู้ที่ใช่ในตำแหน่งหน้าที่ที่ตรงกับความสามารถในระดับชั้นงานที่ถูกต้อง โดยอยู่ภายใต้ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม"

สอง ทำสิ่งที่ควรทำ-การจะเป็นคู่คิดด้านกลยุทธ์ขององค์กร เอชอาร์ต้องเข้าใจและสามารถลำดับความสำคัญของแผนกลยุทธ์และความต้องการในด้านต่าง ๆ เพื่อกำหนดแผนการทำงานเพื่อรองรับกับความต้องการในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับพื้นฐานและระดับสูง และสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

"โดยมุ่งเน้นเรื่องสำคัญ และมีผลกระทบกับธุรกิจสูง รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นให้สามารถดำเนินการตามแผนงานได้สำเร็จ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความต้องการที่มีความสำคัญในอนาคตด้วย ไม่ใช่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีผลกระทบในปัจจุบันเท่านั้น"

สาม รู้ว่าจุดไหนต้องแตกต่าง และจุดไหนต้องเป็นมาตรฐาน-ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาองค์กรพยายามสร้างระบบเอชอาร์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร เห็นได้ชัดว่าไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้ แต่นำไปสู่ความสิ้นเปลืองทั้งทางด้านทรัพยากรและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

"ในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ การสร้างความแตกต่างในระบบ และการให้บริการให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น เอชอาร์จึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าความยืดหยุ่นในระดับที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งในด้านความแตกต่างทางกลุ่มธุรกิจ ตลาด ภูมิภาค หรือความแตกต่างระหว่างกลุ่มพนักงาน"

"ดังนั้น ถ้าเอชอาร์รักษาความยืดหยุ่นภายใต้กรอบที่เหมาะสม รวมถึงเข้าใจประโยชน์จากการสร้างระบบ หรือการให้บริการที่มีรูปแบบที่แตกต่าง เราจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยพัฒนาองค์กรให้มีความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนให้ทันกับสถานการณ์อย่างไม่สิ้นเปลือง"

นอกจากนั้น "ภาณุวัฒน์" ยังกล่าวเพิ่มเติมในกุญแจที่สี่ เรื่องการสร้างแผนปฏิบัติงานที่รองรับทั้งปัจจุบันและอนาคต-การมีรูปแบบการดำเนินงาน และโครงสร้างของเอชอาร์ที่เหมาะสมในวันนี้ นอกจากจะพร้อมรองรับการขยายตัวของความต้องการในอนาคตเป็นสิ่งสำคัญ เอชอาร์ยังจะต้องคำนึงถึงการสร้างคุณค่าให้กับองค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

"โดยเราต้องแปลงกิจกรรมเอชอาร์ให้เป็นนโยบายและกระบวนการทำงานในรายละเอียด โดยใช้จำนวนและระดับความสามารถของผู้มีความสามารถอย่างเหมาะสม ในโครงสร้างงานและตำแหน่งงาน โดยอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยี นอกจากนั้นเรายังต้องมีการกำกับดูแลและการบริหารผลการปฏิบัติงาน เพื่อให้มั่นใจว่ารูปแบบการดำเนินงานของเอชอาร์เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบัน และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป"

ห้า มุ่งเน้นการนำไปปฏิบัติอย่างยั่งยืน-โจทย์ที่ยากของเอชอาร์อย่างหนึ่งคือการสร้าง หรือการออกแบบระบบเพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่มีความหลากหลาย ซึ่งความสำคัญไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบเท่านั้น แต่คือการนำระบบไปดำเนินงานอย่างยั่งยืน

"การสร้างการรับรู้ และการยอมรับในความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความคล่องตัว และความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจ ทั้งนี้การดำเนินงานอย่างยั่งยืนและการสร้างความยอมรับในการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการในวันข้างหน้า โดยออกแบบให้รองรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบระบบ หรือกระบวนการย่อย หรือระบบที่เชื่อมโยงกันทั้งองค์กร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ธุรกิจ"

หก เพิ่มขีดความสามารถของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์-สิ่งสำคัญสำหรับการเป็นคู่คิดเชิงกลยุทธ์ของเอชอาร์ที่เหมาะสมกับทั้งปัจจุบันและอนาคต คือการสร้างทีมเอชอาร์ที่มีความมั่นใจ มีความสามารถ และคล่องแคล่ว หากเอชอาร์สามารถพัฒนาทีมของตนให้มีทักษะที่มีความจำเป็นเพื่อให้ทีมสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมธุรกิจ

"สามารถแปลงกลยุทธ์องค์กรให้เป็นแผนทรัพยากรมนุษย์ตามความต้องการองค์กร และสามารถสนับสนุนองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ฝ่ายเอชอาร์จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านกลยุทธ์ให้เกิดขึ้นจริงได้อย่างแน่นอน

"เพราะสิ่งสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงบทบาทเอชอาร์ให้กลายเป็น Strategic Partner คือการเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติของคนให้เปิดกว้างและยอมรับความคาดหวังที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้นยังต้องมีการวางแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาฝ่ายเอชอาร์ให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความคาดหวังขององค์กร"

"โดยเฉพาะความรู้ความเข้าใจในธุรกิจขององค์กร เพื่อสร้างให้เอชอาร์มีความมั่นใจในการพูดคุย ให้คำปรึกษา และเป็น Strategic Partner ให้กับองค์กร ขณะเดียวกันองค์กรสามารถเชื่อมั่นได้ว่าเราสามารถสร้างความสำเร็จให้ตรงกับความคาดหวังขององค์กรได้เช่นกัน"

อันเป็นความท้าทาย 6 ประการที่จะทำให้ผู้นำองค์กรและฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ทำงานอย่างสอดประสาน จนทำให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าจนประสบความสำเร็จ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กุญแจสู่ความสำเร็จ สร้างผู้นำ คิดเชิงกลยุทธ์ HR

view