สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูป ประชานิยม ในความคิด ดร.อัมมาร สยามวาลา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นครินทร์ ศรีเลิศ Bank_tennis@hotmail.com



ความล้มเหลวของนโยบายจำนำข้าว ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้ อย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น

บางคนตั้งคำถามว่าจะแก้ปัญหาที่สะสมทั้งเรื่องของการจ่ายหนี้ให้กับชาวนา และการระบายข้าวได้หรือไม่ ขณะที่หลายเวทีที่เสนอแนวทางปฏิรูป ผู้เข้าร่วมได้เสนอวิธีการแก้ปัญหาในระยะยาว ด้วยการยกเลิกการใช้นโยบายประชานิยม ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างสิ้นเชิง

ที่จริงแล้วนโยบายประชานิยมไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย หากย้อนหลังไปในปี 2518 สมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมเป็นนายกรัฐมนตรี และมีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเทศไทยมีการใช้นโยบาย “ประชานิยม” เป็นครั้งแรกภายใต้ชื่อ “นโยบายเงินผัน” อย่างไรก็ตามนโยบายเงินผันในอดีตให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท เช่น สร้างถนน ขุดลอกคูคลอง ทำสะพาน และเน้นการจ้างแรงงานในท้องถิ่น แตกต่างกับนโยบายประชานิยมในปัจจุบัน ที่กลายเป็นเครื่องมือที่พรรคการเมืองต่างๆ ใช้ในการแข่งขันทางการเมืองโดยไม่ได้สนใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยภาพรวม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในงานเสวนางานหนึ่งผมมีโอกาสได้พบกับ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หลังจากจบงานเสวนาแล้วผมถาม ดร.อัมมารว่า ในฐานะที่ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามนโยบายของรัฐบาลมานาน แนวทางในการปฏิรูปการใช้นโยบายประชานิยมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยคืออะไร?

ดร.อัมมารตอบว่า แม้จะปฏิรูปประเทศแล้ว นโยบายประชานิยมยังมีความจำเป็นกับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย เพราะความจริงแล้วนโยบายประชานิยมในตัวเองไม่เสียหายอะไร และบางโครงการที่ถูกตราหน้าว่าเป็นประชานิยมเป็นนโยบายที่ดีมาก เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคซึ่งถือว่าเป็นสวัสดิการสังคมที่ดี

แต่ประชานิยมที่เป็นปัญหาคือประชานิยมที่มีการสัญญากับประชาชน คือสัญญาว่าคุณจะได้อย่างโน้นอย่างนี้ และสัญญากับประชาชนโดยไม่บอกความจริงกับประชาชนว่าคุณจะต้องคิดถึงต้นทุนอะไรบ้าง ซึ่งที่จริงแล้วต้นทุนเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะในที่สุดก็จะกลับมาถึประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

“โครงการรับจำนำข้าวเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด เพราะขณะนี้เราเห็นความเสียหายเกิดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งรัฐบาลเป็นคนแก้ปัญหาแต่คนที่ต้องจ่ายต้นทุนเหล่านั้นก็คือประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน”

ทางออกของการปฏิรูปนโยบายประชานิยม คือต้องควบคุมการใช้นโยบายให้มีประสิทธิภาพตั้งแต่เริ่มต้น ที่สำคัญคือในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อใช้ในนโยบายประชานิยมรัฐบาล จะต้องทำในรูปแบบเดียวกับการแถลงนโยบายงบประมาณของรัฐบาล มีการเปิดเผยจำนวนงบประมาณที่จะใช้ แหล่งที่มาของเงินอย่างชัดเจน ไม่ใช่หาช่องทางเลี่ยงไปใช้การกู้เงินนอกงบประมาณซึ่งยากต่อการตรวจสอบ นอกจากนั้นประชานิยมที่ถูกต้องต้องดูภาพรวมในเรื่องของการจัดสวัสดิการระยะยาวของประเทศด้วยว่า ในอนาคตประเทศไทยมีภาระการใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้มากน้อยอย่างไร ไม่ใช่ใช้เงินฟุ่มเฟือยกับนโยบายประชานิยมที่มักกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นมากกว่าสร้างความยั่งยืนระยะยาวทางการคลัง

ที่สำคัญสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่รับเงินเดือนจากเงินภาษีของประชาชน จะต้องมีบทบาทในการตรวจสอบและยับยั้ง นโยบายประชานิยมที่สุ่มเสี่ยงจะสร้างความเสียหายต่อประเทศ ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายบริหารผลักดันนโยบายอะไรก็ได้ตามใจชอบ ส.ส.ในฐานะผู้แทนประชาชนต้องไม่ทำตัว เป็นลูกไล่นายกรัฐมนตรีและฝ่ายบริหาร แต่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนให้เคร่งครัดกว่าที่ผ่านมา


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูป ประชานิยม ในความคิด ดร.อัมมาร สยามวาลา

view