สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทีดีอาร์ไอชี้ระบบคลังผิดเพี้ยนก่อหนี้ไม่ผ่านสภา

จาก โพสต์ทูเดย์

ทีดีอาร์ไอ แนะปฏิรูปการคลังไทยต้องจัดทำบัญชี ออกกฎหมายเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่าย เปิดทางประชาชนมีส่วนร่วมจัดงบประมาณก่อนผ่านรัฐสภา

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนาทีดีอาร์ไอชวนคิด-ชวนคุยข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3 เรื่อง "การสร้างวินัยทางการเงินและการคลัง" ว่า ระบบการคลังของไทยที่รัฐสภาเห็นชอบยังขาดระบบการตรวจสอบและประเมินผลและความคุ้มค่าของการใช้เงินงบประมาณ และควรมีกฎหมายบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายโครงการจากนโยบายของรัฐหรือการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ว่าเอาไปใช้อะไรบ้าง ซึ่งถ้าไม่เปิดเผยต้องให้รัฐบาลหรือนายกฯรับผิดชอบ เพราะเงินที่เอาไปใช้เป็นเงินภาษีของประชาชนไม่ใช่เงินของรัฐบาลหรือนายกฯ ฉะนั้น จะเอาไปใช้จ่ายอะไรต้องเปิดเผย

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของนโยบายการคลังคือฝ่ายบริหารใช้อำนาจของตัวเองโดยไม่แยแสรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ เทียบกับรัฐสภาฝรั่งเศสซึ่งรัฐบาลชอบทำสงคราม จึงให้สภามีอำนาจในการอนุมัติเงินจากภาษีประชาชนว่าควรใช้จ่ายอย่างไร เพื่อให้รัฐสภาดูแลเงินและการใช้จ่ายของรัฐบาล แต่ของไทย รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารกลับใช้อำนาจริดรอนรัฐสภาพอสมควร เพราะการอนุมัติใช้จ่ายเงินหลายอย่างจะขออนุมัติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) ทั้งที่การใช้จ่ายทุกบาททุกสตางค์ต้องได้รับการอนุมัติของรัฐสภา

"อย่างโครงการหมู่บ้านสมัยก่อน ที่เป็นนโยบายรัฐ แต่กลับไปกู้เงินออมสิน 70,000 ล้านบาทมาทำ ทำไปก่อนใช้อำนาจจัดการกู้และสั่งการ แล้วรัฐบาลค่อยมาขออนุมัติรัฐสภาจ่ายหนี้ปีละ 10,000 ล้านบาททีหลัง การขออนุมัติจ่ายหนี้อย่างนี้ผมว่าเป็นการเลี่ยงบาลี หรือ เอา ธ.ก.ส. ออมสิน มาทำโครงการนั้นโครงการนี้ แล้วเอารัฐสภามารับหนี้ทีหลัง ผมว่ามันผิดหลักการจัดทำงบประมาณ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจสั่งการ เช่นเดียวกับที่สั่งธ.ก.ส.จ่ายเงินข้าว จนกระทรวงพาณิชย์ทำโครงการเองไม่มีการจัดทำบัญชี ทำให้ตรวจสอบอะไรไม่ได้ ฉะนั้น การจัดงบต้องโปร่งใส ระบุในงบประมาณ ไม่จัดทำการใช้จ่ายนอกงบประมาณ มีการจัดทำบัญชี ตรวจสอบได้ การทำโครงการต้องบอกที่มา บอกจำนวนเงินที่ชัดเจน และต้องทำบัญชี บอกรายละเอียดให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เหล่านี้น่าจะเป็นโจทย์แรกที่ต้องปฏิรูปให้ชัดเจน" นายอัมมาร กล่าว

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การจัดงบประมาณการคลังควรทำเพื่อการพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ แต่การทำนโยบายการคลังมีปัญหาใน 4 เรื่อง คือ 1.โครงสร้างการคลังไม่รองรับอนาคตในระยะ 4-5 ปี โดยโครงสร้างรายได้ ฐานภาษีไม่เหมาะสม รายได้น้อยเกินไป ไม่พอจ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือรัฐสวัสดิการ 2.ระบบการคลังไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผยเพียงพอ เกิดเป็นความเสี่ยงการคลัง 3.แนวโน้มการคลังขาดดุล จากระบบการเลือกตั้งที่มักใช้จ่ายระยะสั้น และ 4.รัฐสภาไม่เข้มแข็งในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของฝ่ายบริหาร การอนุมัติก็ยืดหยุ่นเกินไป มีวาระซ้อนแร้น

"ควรมีการปฏิรูปรายจ่ายการคลัง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และมีการเปิดเผยรายงานฉบับประชาชนให้ตรวจสอบได้ และควรปรับกลไกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดงบประมาณก่อนจะผ่านสภา เหมือนในต่างประเทศที่เริ่มทำแล้ว เพราะถ้ารอเข้ารัฐสภาแล้วอาจจะช้าไป" นายสมชัย กล่าว


"ทีดีอาร์ไอ" เสนอปฏิรูปการจัดทำงบฯ คลัง ลดความเสี่ยงหนี้สาธารณะเกินขีดอันตราย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

"ทีดีอาร์ไอ" เสนอปฏิรูปการจัดทำงบประมาณการคลัง ชี้ ประชานิยมที่มากเกินไป สร้างความเสี่ยงทางการคลัง และหนี้สาธารณะอาจเกินขีดอันตราย แนะต้องมีวินัยเพื่อเพิ่มงบพัฒนาประเทศ
       
       นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในการเสวนา "ทีดีอาร์ไอ ชวนคิด ชวนคุย ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย" เรื่อง “การสร้างวินัยทางการเงิน การคลัง” โดยระบุว่า การใช้เงินนอกงบประมาณแบบไม่มีข้อจำกัด ในการทำนโยบายประชานิยมเป็นการเบียดงบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศ และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงทางการคลัง และหนี้สาธารณะอาจเกินขีดอันตราย รวมทั้งกระทบต่อการกระจายรายได้
       
       ดังนั้น ควรจะมีการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณการคลังให้มีความโปร่งใส ปรับโครงสร้างการคลังรองรับอนาคต และต้องให้ภาคประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการใช้งบได้
       
       นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินการคลัง คือ ต้องมีองค์กรระบบการตรวจสอบที่ดี เข้มแข็ง และเป็นกลาง รวมทั้งต้องมีกติกาในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องมีการทำบัญชีตามมาตรฐานให้ชัดเจน ต้องมีที่มาของเงินที่ใช้ในโครงการก่อนดำเนินโครงการ เพื่อใช้เงินภาษีอากรของประชาชนคุ้มค่า ไม่ใช่ไม่มีข้อมูลเหมือนที่เกิดปัญหาในปัจจุบัน
       
       นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลควรใช้นโยบายประชานิยมให้น้อยที่สุดและควรตัดการใช้จ่าย หรือประเภทกินไปใช้ไป เพราะตั้งแต่ปี 2552-2555 มีการใช้งบประมาณที่เน้นการบริโภคมากกว่างบลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้นโยบายพัฒนาประเทศลดลง และสิ่งที่น่าห่วง คือ การจัดทำงบประมาณปี 2558 อาจล่าช้า จะยิ่งกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ภาคการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทีดีอาร์ไอ ระบบคลัง ผิดเพี้ยน ก่อหนี้ ไม่ผ่านสภา

view