สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มติศาล รธน.เอกฉันท์ กู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากชี้รัฐตรา กม.มิชอบ

มติศาล รธน.เอกฉันท์ กู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากชี้รัฐตรา กม.มิชอบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ตุลาการศาล รธน.มีคำวินิจฉัย พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านแล้ว เอกฉันท์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.169 และ 170 พร้อมลงมติ 6 ต่อ 2 ชี้กระบวนการตรากฎหมายเป็นไปโดยมิชอบ
              วันนี้ (12 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศ (ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท) ตราขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 170 ซึ่งก็จะถือว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่ามติที่วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติเอกฉันท์ ขณะเดียวกันมีมติ 6 ต่อ 2 ว่ากระบวนการตรา พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน
       
       นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของให้วินิจฉัย ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง กกต.และรัฐบาลกรณีการจัดเลือกตั้ง ส.ส. 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ รวมทั้งรับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นกรณีนายกิตติ พงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้สั่งให้การเลือกตั้งเป็น โมฆะ
       
       ต่อมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุมคณะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศ พ.ศ..มีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ รวมทั้งมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถุกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
       
       ทั้งนี้คำวินิจฉัยดังกล่าวมาจากกรณีที่ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของส.ส.รวม 2 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง( 1)ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่งและมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลได้ตั้งประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น
       
       โดยในประเด็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือ ไม่ เห็นว่าจากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่านาย นริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แทนส.ส.รายอื่นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 ก.ย. 56 ที่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉับนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 122 บัญญัติว่าส.ส. และส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน ชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมาตรา 126 วรรคสามบัญญัติว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก จึงเห็นได้ว่า การลงคะแนนเสียงแทนกันในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้ง สองมาตราดังกล่าว
       
       ส่วนในประเด็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนวินิจฉัยศาลได้พิจารณาว่า เงินกู้ตามพ.ร.บ.นี้เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าคำว่า “เงินแผ่นดิน” ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้โดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด แต่เมื่อพิจารณาจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 42 มาตรา 4 ประกอบความเห็นของพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตลอดจนบรรดากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ
       
       และเมื่อพิจารณาแล้ว่าเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดินการใช้จ่ายก็ ต้องอยู่ในบังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่ดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่า ด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ หรือ กฎหมายว่าด้วยการเงิน การคลัง เว้นแต่ในกรณี "จำเป็นเร่งด่วน" รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมาย บัญญัติและต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพ.ร.บ.โอนเงินงบ ประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามที่ร่าง พ.ร.บ. นี้มุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน
       
       การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐ ธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้น การที่ ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... บัญญัติให้กู้เงินตามร่างพ.ร.บ. บัญญัติให้เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.นี้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำ ส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ2502 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ กฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ร่างพ.ร.บ.ในส่วนดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม ที่ระบุว่า ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินงาน เพื่อประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ถ้าศาลวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราโดยไม่ถูกต้องให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นการตกไป
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่ามติเอกฉันท์ที่เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้เนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติ 9 ต่อ 0 ส่วนที่มีมติว่ากระบวนการตราขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 นั้น เป็นมติ 6 ต่อ 2 เสียง โดย 2 เสียงเห็นว่ากระบวนการตราไม่ขัดคือ นายชัช ชลวร และนายเฉลิมพล เอกอุรุ และอีก 1 เสียงคือนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่ในชั้นการแถลงคำวินิจฉัยส่วนตนนั้นได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาพระราช บัญญัติเลยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้เมื่อมีการลงมติในประเด็นกระบวนการตรา ซึ่งเป็นประเด็นแรกของการวินิจฉัยนั้น นายอุดมศักดิ์ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ เพราะเพราะไม่ได้ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป


ด่วน!มติศาลรธน.ฟันกู้เงิน2ล้านล้านขัดรธน.

ด่วน!! ศาลรธน.มีมติ9:0 ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งเนื้อหาและกระบวนการ

นายเชาวนะ ไตรมาส เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งในส่วนของเนื้อหาและกระบวนการตราร่าง พ.ร.บ. ซึ่งในส่วนของเนื้อหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในกระบวนการตรา ร่าง พ.ร.บ.คณะตุลาการมีมติเป็นเสียงข้างมากว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งรายละเอียดจะต้องรอฟังคำวินิจฉัยกลางจากศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

นายเชาวนะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ตุลาการยังมีมติ รับคำร้องของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ขอให้วินิจฉัยเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ใน 28 เขตเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัคร และคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นที่ขอให้ศาลวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เป็นโมฆะ ตามที่นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ รายงานข่าวจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งถึงมติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคำร้อง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเนื้อหาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีมติ 6 ต่อ 2 เห็นว่ากระบวนการตรากฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยมีตุลาการ 1 คน งดออกเสียง เนื่องจากเห็นว่า ที่ประชุมได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญไปแล้ว ซึ่งมีผลทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงมติในประเด็นที่เกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายอีก


2เสียงศาลรธน.ชี้ตราพ.ร.บ กู้เงินฯไม่ขัดรธน.

เผย"ชัช"และ"เฉลิมพล" 2เสียงตุลาการศาลรธน. ชี้กระบวนการตรา พ.ร.บ กู้เงินฯ ไม่ขัด รธน.

รายงานข่าวระบุว่า มติเอกฉันท์ที่เห็นว่าร่างพ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้เนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติ 9 :0 ส่วนที่มีมติว่ากระบวนการตราขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 นั้น เป็นมติ 6:2 เสียง

โดย 2 เสียงเห็นว่ากระบวนการตราไม่ขัดคือ นายชัช ชลวร และ นายเฉลิมพล เอกอุรุ และอีก 1 เสียงคือนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่ในชั้นการแถลงคำวินิจฉัยส่วนตนนั้นได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาพระราชบัญญัติเลยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้เมื่อมีการลงมติในประเด็นกระบวนการตรา ซึ่งเป็นประเด็นแรกของการวินิจฉัยนั้น นายอุดมศักดิ์ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ เพราะไม่ได้ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป


รายงานพิเศษ : ย้อนรอย พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ ใช้หนี้(ยัน)ชาติหน้า …ก่อนพบจุดจบ!!

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

อมรรัตน์ ล้อถิรธร....รายงาน
       
       ในที่สุด การออกกฎหมายแบบลักหลับโดยรัฐบาลและรัฐสภาเสียงข้างมากยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็มีอันพบจุดจบ เมื่อถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก เหตุเพราะขัดรัฐธรรมนูญทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการตรา พ.ร.บ.ดังกล่าว หลายคนคงดีใจที่กฎหมายฉบับนี้แท้งไปได้ เพราะไม่งั้น คนไทยคงต้องแบกรับหนี้มหาศาลนี้ไปอีก 50 ปี ...เรามาย้อนรอยความพยายามออกกฎหมายกู้เงินที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติ ไทยฉบับนี้กัน
       
        คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายงานพิเศษ
       
       ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขน ส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือที่มักเรียกกันว่า “พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ แต่ใช้หนี้ยันชาติหน้า” เป็นร่างกฎหมายที่มีทั้งหมด 18 มาตรา ซึ่งกระแสไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ปรากฏทั้งในสภาและนอกสภา โดยนอกสภา ได้แก่ นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ระบุว่า การออกกฎหมายกู้เงินดังกล่าวเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และไม่มีประเทศไหนในโลกที่ออกกฎหมายกู้เงินมโหฬารขนาดนี้
       
       ขณะที่ในสภา ได้มีการอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระ 2 และ 3 เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2556 ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์พยายามชี้ให้เห็นถึงหายนะของประเทศที่จะเกิดจากการกู้ เงินจำนวนมหาศาลเช่นนี้ โดยนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้พยายามแนะให้รัฐบาลใช้งบประมาณปกติแทนการออก พ.ร.บ.กู้เงิน แต่หากรัฐบาลยังเดินหน้ากู้ 2 ล้านล้าน การลงทุนตาม พ.ร.บ.กู้เงินนี้ หลายโครงการจะทำให้ประเทศขาดทุนและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น รถไฟ ความเร็วสูงทั้ง 4 เส้นทาง เชื่อว่าจะขาดทุนถึงปีละ 1 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน 10 เส้นทางเพิ่มเติมใน กทม.จะขาดทุนปีละ 2 แสนล้านบาท ต้องนำเงินภาษีคนทั้งประเทศมาชดเชยการขาดทุน
       
       ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อ้างว่า รัฐบาลมองประโยชน์ของรถไฟความเร็วสูงคือการสร้างเศรษฐกิจ สร้างเมือง และสร้างรายได้
       
       ทั้งนี้ ในการอภิปราย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้สงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 20 ว่า ภาย ในปีงบประมาณ 2560 ให้ ครม.จัดทำงบประมาณประจำปีเป็นงบประมาณแบบสมดุล หากไม่สามารถดำเนินการได้ หรือหากหนี้สาธารณะต่อรายได้ประชาชาติมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ห้ามกู้เงินหรือจัดสรรเงินกู้ตาม พ.ร.บ.นี้ ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ สงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 21 ว่า หากโครงการใดผลการศึกษาพบว่าไม่มีความคุ้มค่าทางการเงิน ให้ยกเลิกโครงการนั้นทันที เพื่อลดภาระหนี้ให้กับรัฐ นอกจากนี้นายจุติ ยังสงวนคำแปรญัตติให้เพิ่มมาตรา 22 ด้วยว่า โครงการที่ได้รับความเสียหายจากการละเว้น โดยไม่ปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องตามสายบังคับบัญชามีความรับผิดทางแพ่ง อย่างไรก็ตามที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการแปรญัตติเพิ่มดังกล่าว ก่อนมีการลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินในวาระ 3 ด้วยคะแนน 287 ต่อ 105 เสียง
       
       จากนั้น วันที่ 7 ต.ค. ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในวาระ 1 โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวรายงานถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน พร้อมยืนยันว่ากระบวนการเบิกจ่ายเงินมีความรัดกุม โปร่งใส และวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านล้านในเวลา 7 ปี ไม่เกินร้อยละ 50 ของกรอบหนี้สาธารณะ สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ไม่ให้กระทบต่อสถานะการคลังของประเทศ
       
       ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทน กมธ.การเงิน การคลัง ธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา มองว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการโครงการเหล่านี้ด้วยวิธีงบประมาณปกติได้ โดยตั้งงบรายจ่ายข้ามปี หรือตั้งเป็นงบผูกพันข้ามปี พร้อมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ดังนั้นการนำเข้าสภาเพียงครั้งเดียว แล้วต้องมีผลผูกพันวงเงินถึง 2 ล้านล้านบาท เป็นเวลา 7 ปี เท่ากับหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
       
       อย่างไรก็ตาม นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อ้างว่า ก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะแล้วว่า ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแล้ว
       
       ทั้งนี้ หลังที่ประชุมวุฒิฯ ใช้เวลาอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเป็นเวลา 2 วัน ในที่สุด ที่ประชุมเสียงข้างมากก็ได้ลงมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแปรญัตติใน 7 วัน แต่ภายหลัง คณะกรรมาธิการฯ ขอเพิ่มเวลาอีก 30 วัน เนื่องจากต้องเชิญส่วนราชการมาชี้แจงจำนวนมาก
       
       ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา เผยว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อใด ทางกลุ่ม 40 ส.ว.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าร่างฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่ และว่า เท่าที่ดูเนื้อหาของร่างฯ ฉบับนี้มีหลายส่วนที่เป็นปัญหา ทั้งความไม่ชัดเจน และความไม่สมเหตุผลของโครงการ ส่อที่จะทำให้เกิดภาระหนี้สินแก่ประเทศมหาศาล
       
       ต่อมา วันที่ 18 พ.ย. ที่ประชุมวุฒิฯ ได้วาระ 2 และ 3 ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน โดยก่อนหน้าจะถึงวันประชุม นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแฉว่า มีการล็อบบี้ ส.ว.ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ตามร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยแลกกับเงินคนละ 30 ล้านบาท
       
       ด้านนายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ของวุฒิสภา เผยว่า ร่างของ กมธ.มีการแก้ไข 2 มาตรา คือมาตรา 3 มีการเพิ่มคำว่า “โครงการ” เข้าไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า จะไม่มีการเปลี่ยนหรือนำโครงการอื่นๆ เข้ามาใส่เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะเป็นหลักประกันได้ว่าโครงการจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามเนื้อหาของ โครงการจริงๆ ขณะที่ร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีคำว่า “โครงการ” ส่วนมาตรา 6 ร่างเดิมของสภาฯ ระบุว่าการจัดสรรเงินกู้ไม่ต้องส่งคลัง แต่ กมธ.ให้ตัดคำว่า “ไม่” ทิ้ง หมายความว่า ต้องส่งคลัง ซึ่งจะทำให้การใช้เงินในทุกๆ โครงการต้องผ่านกระบวนการของงบประมาณ
       
       ทั้งนี้ เหตุที่การพิจารณาในชั้น กมธ.ของวุฒิสภา สามารถแก้ไข 2 มาตราดังกล่าวได้สำเร็จ เนื่องจากในการประชุม กมธ.สายรัฐบาลเข้าร่วมประชุมน้อย ทำให้กลายเป็น กมธ.เสียงข้างน้อยในที่ประชุมที่ต้องการให้คงร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ต้องแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว
       
       อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ปรากฏว่า ที่ ประชุมวุฒิสภาเสียงข้างมากกลับเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ต้องการให้ใช้ร่างเดิมของสภาฯ โดยไม่ต้องแก้ไขมาตรา 3 และ 6 ดังกล่าวโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับ กมธ.เสียงข้างน้อยให้ตัดคำว่า “โครงการ” ออกจากมาตรา 3 ด้วยคะแนน 63 ต่อ 52 งดออกเสียง 1 ขณะที่มาตรา 6 ที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการให้เงินกู้เป็นเงินที่ต้องส่งเข้า คลัง ด้วยคะแนน 68 ต่อ 44 ส่งผลให้ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมของสภาฯ
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังใช้เวลาอภิปราย 2 วัน (18-19 พ.ย.) ปรากฏว่า ช่วง ดึกของคืนวันที่ 19 พ.ย. การพิจารณาและลงมติมาตราต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งล่วงเข้าวันใหม่ 20 พ.ย. เมื่อการพิจารณาดำเนินไปจนถึงเวลา 02.49น.ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 ทันที โดยที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 63 ต่อ 14
       
       ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เผยว่า ฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 แล้วว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งนายกฯ ต้องระงับการทูลเกล้าฯ ร่างดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า คำร้องที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พ.ร.บ. กู้เงินนี้เป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ใหญ่ที่สุด คือมากกว่า 4 เท่าของประเทศไทยที่เคยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และต้องเสียดอกเบี้ยมหาศาลถึง 3 ล้านล้านบาท ในเวลา 50 ปี ซึ่งตอกย้ำว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ไม่ได้ทำตามกรอบวินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่าจะใช้จ่ายเท่าไหร่ กลับเป็นเพียงกรอบการลงทุนพื้นฐานที่ไร้ความชัดเจน และที่สำคัญ ฝ่ายค้านมีพยานหลักฐานด้วยว่า ระหว่างการลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันด้วย
       
       ต่อมา วันที่ 8 ม.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนคำร้องคัดค้าน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ซึ่งศาลได้ให้ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ให้ข้อมูลเรื่องที่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันระหว่างลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน โดยมีการเปิดคลิปเสียบบัตรแทนกันให้ดูด้วย
       
       ด้านนายนริศร ทองธิราช อดีต ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ยอมรับต่อศาลฯ ว่า ตนเป็นบุคคลในคลิปดังกล่าวจริง แต่ไม่ยอมรับว่าได้เสียบบัตรแทน ส.ส.คนอื่น พร้อมอ้างว่า การเสียบบัตรหลายครั้งของตนเป็นพฤติกรรมส่วนตัว ซึ่งเกิดจากการที่ตนมีทั้งบัตรจริงและบัตรสำรอง จึงทำให้ดูเหมือนว่าตนได้เสียบบัตรหลายใบ
       
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิป้ตย์ ได้จับโกหกนายนริศรด้วยการให้ข้อมูลต่อศาลฯ ว่า ในการเสียบบัตรนั้น ไม่ว่าจะเป็นบัตรจริงหรือบัตรสำรองก็สามารถเสียบบัตรลงคะแนนได้แค่ครั้ง เดียว เพราะเคยมีการทดสอบแล้วว่า หากมีการลงคะแนนด้วยการเสียบบัตรจริงแล้ว จะทำให้บัตรสำรองไม่สามารถใช้ได้ แต่ภาพที่ปรากฏในคลิปจะเห็นว่า นายนริศรไม่ได้เสียบบัตรจริงและบัตรสำรองของตัวเองตามที่ให้ข้อมูลต่อศาลฯ แต่กลับเป็นการเสียบบัตรแทน ส.ส.คนอื่น
       
       ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนพยานนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 ก.พ. โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลังมาให้ข้อมูล ประกอบด้วย นายภัทรชัย ชูช่วย ผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง, นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
       
       ทั้งนี้ นายพิสิฐเบิกความสรุปว่า ระบบงบประมาณปกติต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เปิดเผยตัวเลขแค่ 8 ตัว และ 1 ใน 8 ตัว คือ โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท และให้อำนาจรัฐบาลไปจัดการเอง โดยไม่ได้ระบุให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันจะใช้เวลาในการกู้เงิน 6-7 ปี ซึ่งเป็นแผนกู้เงินที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลอีกหลายชุด
       
       นายพิสิฐชี้ด้วยว่า หากปล่อยให้รัฐบาลใดสามารถออกกฎหมาย เพื่อใช้จ่ายเงินโดยไม่มีข้อจำกัดและไม่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภา จะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนหลายๆ ประเทศในขณะนี้ ดังนั้นเจตนารมณ์ ของการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ต้องการให้รัฐบาลใดในอนาคตจะต้องอยู่ในกรอบวินัยการคลัง และจะต้องเปิดเผยข้อมูล มีระบบการคานอำนาจที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 8 อย่างสิ้นเชิง
       
       ขณะที่ นายทนง เบิกความสรุปว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านไปได้ กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม มีสิทธิใช้เงินโดยคนอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ นายทนงยังระบุด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพราะหากกระทรวงการคลังต้องการกู้ และส่งให้กระทรวงคมนาคมนำไปจัดสรรตามโครงการต่างๆ ก็สามารถใช้วิธีตามระบบงบประมาณปกติได้ ไม่ใช่ไปสร้างกรณีพิเศษให้กับการกู้ด้วยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านแบบนี้ พร้อมย้ำด้วยว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศไทย ซึ่งยังไม่เห็นความจำเป็นที่เมืองไทยต้องมีรถไฟความเร็วสูง
       
       ด้านนายธีระชัยเบิกความสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และหากดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะส่งผลเสียต่อระบบการเงินการคลังของประเทศอย่างมาก เพราะจะกระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง และสร้างปัญหาต่อฐานะเครดิตของประเทศ ส่วนสาเหตุที่มองว่าร่างกฎหมายนี้ไม่เข้ากรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะไม่ยึด 5 องค์ประกอบ คือ 1. ข้อมูลที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ มีแค่ 3 หน้า ทั้งที่ใช้เงินสูงถึง 2 ล้านล้าน จึงไม่น่าเชื่อถือ 2. ไม่มีการถกเถียงในที่สาธารณะเท่าที่ควร จึงไม่รอบคอบเท่ากับกระบวนการงบประมาณตามปกติ 3. การเบิกใช้อาจจะไม่รัดกุม 4. โครงการเป็นก้อนใหญ่แบบเหมารวม ทำให้มีการโยกเงินไปมาได้ ซึ่งเป็นการควบคุมที่หละหลวมในแง่นักลงทุน และ 5. รัฐสภาไม่สามารถกำกับและควบคุมการปฏิบัติของรัฐบาลได้ เพราะกำหนดให้ ครม.เสนอสภาเพื่อทราบเท่านั้น สรุปคือ หากเดินหน้าร่างกฎหมายนี้ จะสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินการคลัง
       
       ขณะที่ น.ส.สุภาเบิกความสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการนำโครงการเข้ามาโดยไม่ผ่านหน่วยงานที่เป็นมันสมองของประเทศ คือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจะเป็นการทำลายกระบวนการพิจารณาขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงโดยสิ้นเชิง ถ้า มีการตรา พ.ร.บ.นี้ จะทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถควบคุมการก่อหนี้ได้เลย และจะทำให้กรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ถูกเพิกเฉย ไม่ได้ใช้บังคับ
       
       ทั้งนี้ หลังไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งให้นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอความเห็น, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำแถลงปิดคดีต่อศาลฯ ภายในวันที่ 27 ก.พ. และนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 12 มี.ค. ซึ่งในที่สุด วันนี้ 12 มี.ค. 2557 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีมติเสียงข้างมาก ว่า พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และ 170 ทั้งในแง่เนื้อหาและกระบวนการตรา ส่งผลให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอันตกไป!!


เปิดคำวินิจฉัย!ศาลรธน.ชี้กู้2ล้านล้านขัดรธน.

เปิดคำวินิจฉัย ศาลรธน.ชี้ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน2ล้านล้าน ขัดรธน. ไม่ชอบทั้งกระบวนการ และเนื้อหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.15 น. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวถึงผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องของประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของสมาชิก 2 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1 ) ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. … มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ทั้งนี้ คำร้องทั้งสองมีข้อเท็จจริง สรุปได้ว่า ตามที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. …แล้ว และอยู่ในช่วงเวลาก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น ผู้ร้อง เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และกระบวนการตราไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของสภาผู้แทนราษฎรมีการกดบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกัน

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้อง คำชี้แจง เอกสารประกอบของผู้ร้อง และการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญแล้ว ได้กำหนดประเด็นวินิจฉัย รวม 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. …ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ประเด็นที่สอง ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. …มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับประเด็นที่หนึ่ง ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่า นายนริศร ทองธิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ. สกลนคร พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556 พิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. … ซึ่งเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญ มาตรา 122 บัญญัติว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมาตรา 126 วรรคสาม บัญญัติว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนนแล้ว เห็นว่า การลงคะแนนเสียงแทนกันในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และมาตรา 126 วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 เสียง เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศพ.ศ. …ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ส่วนประเด็นที่สอง ก่อนที่จะวินิจฉัยประเด็นนี้ มีปัญหาที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยก่อนว่า เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.นี้ เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เห็นว่า คำว่า "เงินแผ่นดิน" ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้โดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด แต่เมื่อพิจารณาจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 มาตรา 4 ประกอบกับความเห็นของพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตลอดจนบรรดากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า การกู้ตามร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อกู้เงินตามร่างพ.ร.บ.นี้ มีลักษณะเป็นเงินแผ่นดิน การใช้จ่ายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยการเงิน การคลัง เว้นแต่ในกรณี "จำเป็นเร่งด่วน" รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติและต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามที่ร่างพ.ร.บ. นี้มุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้น การที่ ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... บัญญัติให้กู้เงินตามร่างพ.ร.บ. บัญญัติให้เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.นี้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2502 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ร่างพ.ร.บ.ในส่วนดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม ที่ระบุว่า ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินงานเพื่อประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ถ้าศาลวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราโดยไม่ถูกต้องให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นการตกไป


อัดนายกฯเสียดายค่าที่ปรึกษา6หมื่นล.

"อภิสิทธิ์" ซัด"ยิ่งลักษณ์"บอกเสียดาย คงเสียดายค่าจ้างที่ปรึกษา5-6หมื่นล้านที่จะเกิดขึ้นใช่หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ในรายการ 101 องศาข่าว ช่วงตรงไปตรงมากับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทางสถานีวิทยุ 101 คุยถึงประเด็น พรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเรื่องพรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน รัฐบาลควรแสดงความรับผิดชอบหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป

นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า คงไม่เรียกร้องอะไรหรอกครับเพราะว่าผมก็ไม่เคยเห็นท่าทีของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจะแสดงความรับผิดชอบอะไรอยู่แล้ว เห็นคุณพงษ์เทพพูดทำนองว่า ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติก็คงแสดงความรับผิดชอบนั้น ตนก็เชื่อนะว่าถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ คุณพงษ์เทพก็คงจะไม่พูดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตนไม่เชื่อ เพราะไม่เคยเห็นอาการ แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เห็นสัมภาษณ์ของคุณยิ่งลักษณ์ที่บอกว่า ถ้ามุ่งเอาแต่กฎหมายมาตัดสิทธิ์ไม่ดูเจตนารมณ์อะไรนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าคุณยิ่งลักษณ์เองนั้น ไม่ยอมรับข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่มีการนำเสนอต่อศาลเลย

"ผมก็ยืนยันว่าพวกผมที่ได้เป็นผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลนี้ ยืนยันเลยครับที่คุณยิ่งลักษณ์บอกเสียดายนั้น เสียดายค่าจ้างที่ปรึกษา 5 – 6 หมื่นล้านที่จะเกิดขึ้นใช่มั้ยครับ เพราะว่าในแผนการใช้จ่ายเงินซึ่งผมไม่ทราบคุณยิ่งลักษณ์เคยดูหรือเปล่า ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปีนี้ เมื่อกฎหมายบังคับใช้ ก็คือจะไปจ้างที่ปรึกษาประมาณ 5 – 6 หมื่นล้านในโครงการเดียว ไม่ได้มีตรงไหนที่ทำให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีตรงไหนที่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่เป็นรูปธรรมเลย" อภิสิทธิ์ กล่าว


ผลกระทบพ.ร.บ.กู้2ล้านล้าน จับตาบรรทัดฐาน'เงินแผ่นดิน'

"..หากศาลตีความว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่เป็นเงินแผ่นดิน ก็หมายความว่า สตง. จะไม่สามารถตรวจสอบการใช้เงินก้อนนี้ได้เลย.."

วันนี้ จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ทุกคนทุกฝ่ายในประเทศไทย ต้องเงี่ยหูฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....วงเงิน 2 ล้านล้านบาท หรือที่เรียกกันติดปากว่า "พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน"

ภาคธุรกิจก็ตั้งใจฟัง เพื่อจะได้รู้ทิศทางการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐในห้วงเวลา 7 ปี นับจากนี้ว่าจะ "เฮ" หรือ "แห้ว" ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ลุ้นตัวโก่งไม่แพ้กัน ถ้าผ่านด่านศาลรัฐธรรมนูญได้ ฟากรัฐบาลก็จะได้นำไปขยายผลสร้างคะแนนนิยม แต่หากพลาด ฟากต่อต้านรัฐบาลย่อมนำไปขยายผลเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบ

ที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถูกยื่นตีความได้อย่างไร และแนวโน้มของคำวินิจฉัยจะออกหน้าใดได้บ้าง นับว่าน่าสนใจไม่น้อย...

ปรีชา สุวรรณทัต นักกฎหมายอิสระเชี่ยวชาญกฎหมายการเงินการคลัง และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเกาะติดประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้น อธิบายว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ถือว่าผ่านการพิจารณาของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแล้ว เพียงแต่ช่วงก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ประเด็นหลักๆ ที่ยื่นคำร้องมี 2 ประเด็น คือ

1. มีพฤติการณ์เสียบบัตรแสดงตนแทนกันของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งทราบว่ามีการยอมรับในชั้นไต่สวนด้วยว่าเป็นความจริง หากศาลวินิจฉัยประเด็นนี้แล้วตีตกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ไปเลย เพราะถือว่าผ่านการพิจารณาโดยมิชอบ โดยไม่ตีความคำร้องในประเด็นข้อกฎหมายที่ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ก็ถือว่าน่าเสียดาย เพราะศาลจะไม่ได้วางบรรทัดฐานเรื่องเงินแผ่นดินและการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณที่เป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าศาลจะพิจารณาครบทุกประเด็น

2. หลักการของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่ เพราะตามร่างกฎหมายเป็นการกู้เงินมาใช้เป็นเงินนอกงบประมาณ ซึ่งสามารถแยกแยะเป็นประเด็นย่อยๆ ที่ศาลจะพิจารณาได้ดังนี้

- เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ การตีความของศาลในประเด็นนี้จะเป็นประโยชน์มากทั้งในทางวิชาการและบรรทัดฐานการคลังภาครัฐ

- ถ้าเป็นเงินแผ่นดิน การนำเงินกู้ไปใช้จ่ายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่ คือ ใช้จ่ายได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมาย 4 ฉบับเท่านั้น คือ กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง

- ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ เข้าข่ายกฎหมาย 4 ฉบับ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้จ่ายเงินแผ่นดินหรือไม่ แต่ประเด็นนี้ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ เขียนไว้ชัดว่า เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่เข้าข่ายเป็น "เงินคงคลัง" ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่นี้ ศาลอาจวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ได้

"ประเด็นสำคัญที่สุดที่ศาลต้องวินิจฉัย คือ เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ถือเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ เพราะว่าเงินแผ่นดินไม่มีนิยามชัดเจนในกฎหมายใด แต่ในความเห็นของผม หากย้อนไปดูข้อความในกฎหมายเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 ก่อนจะเข้าสู่มาตราต่างๆ ได้ระบุหลักการและเหตุผลของการตรากฎหมายเอาไว้ว่า 'โดยที่เป็นการสมควรจัดระบบการควบคุมเงินแผ่นดิน ว่าด้วยเงินคงคลังให้รัดกุม' นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่าเงินคงคลังเป็นส่วนหนึ่งของเงินแผ่นดินเท่านั้น ยังมีเงินอีกหลายประเภทที่ไม่เป็นเงินคงคลัง แต่ก็เป็นเงินแผ่นดิน คือเงินที่เป็นของส่วนราชการ ไม่ใช่เงินของเอกชน ย่อมเป็นเงินแผ่นดิน"

สำหรับผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น อาจารย์ปรีชา บอกว่า หากศาลวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นหลักการสำคัญ ย่อมมีผลทำให้ร่างกฎหมายตกไปทั้งฉบับ แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพียงบางส่วนที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ก็จะตกไปเพียงเนื้อหาเฉพาะส่วนนั้น

ในทางกลับกัน หากศาลวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อว่า นายกรัฐมนตรีซึ่งมีสถานะเป็นนายกฯ รักษาการ สามารถนำร่าง พ.ร.บ. ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยได้หรือไม่

"ผมคิดว่าเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) ว่าด้วยข้อจำกัดของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ต้องไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ก็คงต้องดูว่าการทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เข้าข่ายสร้างผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดหน้าหรือไม่ แต่ถ้าถามคนในรัฐบาล ก็ต้องตีความว่าไม่มีผล และอ้างว่าเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ อยู่แล้ว"

อาจารย์ปรีชา กล่าวอีกว่า ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไป คือ หากศาลวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ต้องตกไปทั้งฉบับ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบประการใดหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลต้องเรียกร้องให้นายกฯลาออก เพราะกฎหมายที่ไม่ผ่านเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี (กฎหมายงบประมาณรายจ่าย หากไม่ผ่านสภา รัฐบาลต้องลาออก)

"ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ต้องเรียกร้องให้ นายกฯ ลาออกจากรักษาการ แต่ผมคิดว่า นายกฯ คงไม่ยอมออกแน่ๆ ก็คงต้องเป็นประเด็นถกเถียงกันทางการเมืองต่อไป" นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง ระบุ

อาจารย์ปรีชา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้จับตาดูคำวินิจฉัยของศาลให้ดี หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่เป็นเงินแผ่นดินตามที่รัฐบาลพยายามอธิบาย ก็หมายความว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะไม่สามารถตรวจสอบการใช้เงินก้อนนี้ได้เลย และไม่มีกลไกใดๆ ตรวจสอบเลย เพราะเป็นการใช้จ่ายเงินโดยไม่ผ่านสภา (เงินนอกงบประมาณ) ด้วย

กระนั้น ถ้าศาลวินิจฉัยว่าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทถือเป็นเงินแผ่นดิน ก็จะส่งผลกระทบย้อนกลับไปถึงการกู้เงินลักษณะเดียวกันนี้ ที่อ้างว่าเป็นเงินนอกงบประมาณในรัฐบาลชุดก่อนๆ รวมถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีเงินกู้ตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งด้วย

-------------------------------------------------

(ล้อมกรอบ)

พลิก รธน.มาตรา 169 วางหลักการจ่ายเงินแผ่นดิน

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่สำคัญที่สุด ซึ่งคาดว่าศาลน่าจะนำมาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน คือ มาตรา 169 ซึ่งบัญญัติว่า

"การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนรัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีเช่นว่านี้ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่าย พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ ให้กำหนดแหล่งที่มาของรายได้เพื่อชดใช้รายจ่ายที่ได้ใช้เงินคงคลังจ่ายไปก่อนแล้วด้วย"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มติศาล รธน. เอกฉันท์ กู้ 2 ล้านล้าน รัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก ชี้รัฐ ตรา กม.มิชอบ

view