สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2)

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ขอนำประเด็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

โดยแยกพิจารณาผู้มีหน้าที่เสียภาษีและผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการมาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา กรณีผู้มีเงินได้มีคู่สมรสและต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ มีหลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร โดยเฉพาะตั้งแต่ปีภาษี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา

วิสัชนา เนื่องจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้มาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ที่กำหนดถือเอาเงินได้ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นรายการและเสียภาษี ในกรณีที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาได้มีตลอดปีภาษี เว้นแต่ภริยาจะใช้สิทธิแยกคำนวณและเสียภาษีเงินได้ต่างหากจากสามีเฉพาะเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2556 ให้ยกเลิกมาตรา 57 ตรี และมาตรา 57 เบญจ แล้วบัญญัติมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากรเพิ่มเติมขึ้นใหม่ กำหนดหลักเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้ของสามีภริยา ทั้งนี้ ไม่ว่าความเป็นสามีภริยาจะได้มีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ ดังนี้

วิธีที่หนึ่ง ให้ต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเงินได้ในส่วนที่ตนเองได้รับ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล ทั้งที่เป็นชายและหญิงตามรัฐธรรมนูญ กรณีผู้มีเงินได้เป็นมีบุตรผู้เยาว์ หรือบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้วแต่ยังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ก็ให้ทั้งสองฝ่ายได้สิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรได้เต็มจำนวนทั้งสองฝ่าย ซึ่งแต่เดิมกำหนดให้ลดหย่อนได้เพียงฝ่ายละครึ่งเดียว เว้นแต่ กรณีที่มิได้มีความเป็นสามีภริยา

วิธีที่สอง ให้สามีภริยามีสิทธิเลือกที่จะถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้นั้น เช่นเดียวกับกรณีตามความในมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการกำหนดให้เป็นทางเลือกที่จะรักษาสิทธิของสามีภริยาที่ได้เมื่อเลือกใช้วิธีนี้แล้วจะทำให้เสียภาษีเงินได้ลดลง

วิธีที่สาม ให้สามีภริยามีสิทธิเลือกที่จะถือเอาเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของภริยาเป็นเงินได้ของสามี ซึ่งจะทำให้สามีต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ส่วนเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ภริยาแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ต่างหากจากสามี ซึ่งเป็นสิทธิเดิมตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ที่สามีภริยาที่ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ และความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีเคยได้สิทธิมาก่อน

วิธีที่สี่ ให้สามีภริยามีสิทธิเลือกที่จะถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของสามีเป็นเงินได้ของภริยา และให้ภริยาเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นรายการเงินได้นั้น วิธีนี้กำหนดให้เป็นทางเลือกใหม่เพื่อสิทธิความเท่าเทียมกันของชายและหญิง ให้ภริยามีสิทธิหักลดหย่อนสามี อันเป็นทางเลือกตรงกันข้ามกับวิธีที่สองที่กำหนดให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินทั้งหมดของภริยาเป็นเงินได้ของสามีดังกล่าวข้างต้น

วิธีที่ห้า ให้สามีภริยามีสิทธิเลือกที่จะถือเอาเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (2) - (8) แห่งประมวลรัษฎากร ของสามีเป็นเงินได้ของภริยา ซึ่งจะทำให้ภริยาต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เว้นแต่เงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร สามีแยกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ต่างหากจากภริยา อันเป็นทางเลือกตรงกันข้ามกับวิธีที่สามดังกล่าว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2)

view