สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย สร อักษรสกุล aksornskul@hotmail.com



ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ในทำนองว่า "ประเทศไทย หากปราศจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ถนนทุกสายสามารถปูได้ด้วยทองคำ"

นั่น แสดงให้เห็นว่า เงินทองที่ถูกทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง จากทั้งข้าราชการชั่ว นักการเมืองเลว และผู้ที่มีส่วนในการใช้เงินที่เก็บมาจากภาษีของประชาชน มีจำนวนมหาศาล

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เสียชีวิตไปนานกว่า 15 ปีแล้ว แต่ปัญหาการทุจริต ฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือที่หลายคนมักเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "คอร์รัปชั่น" (Corruption) ในประเทศไทย ยังไม่มีทีท่าจะลดลงแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำกลับเพิ่มมากขึ้นไปอีก เห็นได้จากการจัดลำดับประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อยและมากขึ้นตามลำดับ ขององค์กรเพื่อความโปร่งใส หรือ Transparency International-IT ที่จัดลำดับความโปร่งใสของประเทศไทย ปรากฏว่าลำดับยัง คงที่ หรือ เพิ่มขึ้น

นั่นหมายความว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยไม่ได้ลดลง

ปี 2554 องค์กร IT จัดให้ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 80 ของประเทศที่มีความโปร่งใสน้อย จากจำนวน 183 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยได้คะแนนเพียง 3.4จากคะแนนเต็ม 10 ขณะที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อนบ้านของไทยได้ 9.2 จากคะแนนเต็ม 10

กว่า 10 ปีก่อน เรามักได้ยินเรื่อง การชักเปอร์เซ็นต์ ของนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ จากโครงการที่บริษัทเอกชนชนะการประมูลจากกระทรวงนั้น ๆ จำนวน 15% ของงบประมาณโครงการ แต่ต่อมาเปอร์เซ็นต์ที่นักการเมืองเจ้ากระทรวงให้ลูกน้องคนสนิทไปแจ้งกับ บริษัทที่ชนะการประมูลโครงการเพื่อหักเปอร์เซ็นต์ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนปัจจุบันนี้การชักเปอร์เซ็นต์สูงถึง 30% ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมดังกล่าวนี้ทำให้นักการเมืองดี ๆ (ที่มีอยู่ไม่มากนักในบ้านเรา) พลอยเสียชื่อเสียงไปด้วย

ข้าราชการหลายระดับ ตั้งแต่ระดับสูงสุด เช่น ปลัดกระทรวง จนถึงระดับล่างบางคน ยังคงหาช่องทางที่จะหารายได้พิเศษ โดยการเรียกร้องเงินทองจากประชาชนที่มาใช้บริการและต้องการความสะดวก ความรวดเร็ว ประชาชนบางคนจึงยอมจ่าย เงินพิเศษ หรือ เงินใต้โต๊ะ ให้กับเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ซึ่งแรก ๆ มักเรียกว่า "กินตามน้ำ" เพราะผู้ที่มาใช้บริการเสนอให้เอง เนื่องจากต้องการความสะดวก

ความรวดเร็วมากขึ้น ต่อ ๆ มากลายเป็น"กินทวนน้ำ" คือเจ้าหน้าที่จะเรียกจากผู้ที่มาใช้บริการเอง จนกลายเป็นนิสัย

ประเทศ สิงคโปร์ หนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ASEAN ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในเอเชียนั้น รัฐบาลของเขาตั้งเงินเดือนให้ข้าราชการค่อนข้างสูง รวมทั้งมีสวัสดิการที่ดี นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์มีเงินเดือนสูงมาก สูงกว่าเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และสูงกว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรื่องนี้มีคนถามว่าหากให้เงินเดือนข้าราชการไทยสูง ๆ อย่างสิงคโปร์ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทยจะลดลงหรือไม่ ตอบได้เลย ว่าการคอร์รัปชั่นในเมืองไทยจะยังคงมีเหมือนเดิม เพราะบริบทและค่านิยมของสังคมสิงคโปร์กับสังคมไทยไม่เหมือนกัน

การ แก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย คนที่คิดจะแก้ปัญหาจะต้องรู้จักพฤติกรรมของคนไทยด้วยกันให้ดีพอ เนื่องจากคน ไทยส่วนมากยังยกย่องเชิดชูคนที่มีฐานะ โดยเพียงดูจากภายนอกเช่น มีบ้านใหญ่โต มีรถยนต์หรูราคาแพง เท่านั้น แต่ไม่สนใจที่มาของรายได้ของคนเหล่านั้น ว่าได้มาโดยสุจริต ถูกต้อง หรือคดโกงมา นอกจากนั้นคนไทยอีกจำนวนไม่น้อยที่ปากว่าเขา แต่พอตนเองมีโอกาสก็กระทำ (คอร์รัปชั่น) เช่นกัน

เข้าทำนอง "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง"

หาก คนไทยส่วนมากยังคงยกย่อง เชิดชู คนที่มีฐานะทางสังคม โดยไม่สนใจที่มาของรายได้ ที่อาจได้มาโดยมิชอบ รวมทั้งคนไทยจำนวนไม่น้อยยังเป็นพวก "วัตถุนิยม" (Materialism) จึงยากที่จะแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์ บังหลวง หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองลงได้ ซึ่งผิดกับบางประเทศ เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นน้อยมาก เนื่องจากประชาชนในประเทศเหล่านี้ส่วนมากมีค่านิยมไม่ยกย่องคนที่มีฐานะร่ำรวย รวมทั้งคน

ที่มีฐานะดีในประเทศของเขาก็ไม่แสดงตัวโอ้อวด และหากทราบว่าใครที่มีประวัติการคอร์รัปชั่น สังคมของเขาจะไม่ยอมรับและไม่คบค้าสมาคมด้วย (Social Sanction) ซึ่งการลงโทษทางสังคมเช่นนี้ถือเป็นการลงโทษที่รุนแรง ทำให้คนคนนั้นแทบจะอยู่ในสังคมของเขาอย่างยากลำบาก เพราะคนรอบข้างไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย

ประเทศบางประเทศที่ไม่ไกล จากไทยนักอย่างเกาหลีใต้ อดีตประธานาธิบดี โรห์ แต วูได้กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายเมื่อหลายปีก่อน เมื่อทราบว่าภรรยาของตนมีส่วนในการรับสินบนและทุจริตคอร์รัปชั่น ขณะที่ตนยังเป็นประธานาธิบดีอยู่ ซึ่งในประเทศไทยของเรารับรองไม่มีเรื่องอย่างนี้แน่นอน

เพราะสังคม ไทยไม่ค่อยประณามคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ว่าทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ตรงกันข้าม โดยเฉพาะคนที่รู้จักกันกับผู้ที่กระทำการทุจริตคอร์รัปชั่น มักให้อภัยและให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นด้วย

ตัวอย่าง ที่ไม่ดีเหล่านี้ เด็ก เยาวชน และนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต่างรับรู้ รับทราบจนกลับกลายมาเป็นค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง บางคนมีทัศนคติว่า คนที่ทุจริตคอร์รัปชั่นเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นไม่เป็นไร ขอให้มีผลงาน ถือเป็นทัศนคติที่อันตรายอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น

ในบ้านเมืองเรา ซึ่งในปัจจุบันนี้ประเทศไทยถือว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่นมาก และแทบจะทุกระดับ ดังที่เป็นข่าวตามสื่ออยู่เนือง ๆ

การ ทุจริตคอร์รัปชั่นระบาดไปทุกวงการ ไม่ว่าจะระดับกระทรวง กรม กอง จังหวัด และในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้ง "กินตามน้ำ" และ "กินทวนน้ำ" ที่เลวร้ายคือคนไทยจำนวนไม่น้อยกลับยอมรับและยกย่องคนที่ทุจริตคอร์รัปชั่น เพียงเพราะเห็นว่าคนคนนั้นมีเงินทองและทรัพย์สินมาก

แล้วเราจะทำอย่างไร เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในบ้านเราได้ผลอย่างจริงจัง ซึ่งผู้เขียนขอเสนอไว้ 2 แนวทาง ดังนี้

การแก้ปัญหาระยะสั้น ด้วยการลงโทษอย่างจริงจังต่อผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และ ควรให้รวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ (จะด้วยการแก้กฎหมายให้ไม่มีการหมดอายุความของคดีการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือด้วยวิธีการอื่น) นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประมูลงานจากภาครัฐ ควรมีการพบปะกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เพื่อตกลงที่จะไม่มีการหักเปอร์เซ็นต์
เพื่อ ให้ราคาโครงการถูกลงมาจากราคากลางได้อีก โดยมีสื่อมวลชนเป็นสื่อกลาง ดังที่รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนปัจจุบัน (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) ได้กระทำกับผู้แทนขององค์การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และสภาหอการค้าฯเมื่อไม่นานมานี้ เพราะกระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้น ฐาน (Infrastructure) ค่อนข้างสูง

การแก้ปัญหาระยะยาว การปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีความคิด ค่านิยม และมีทัศนคติว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่ง
ที่เลวร้าย เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ รวมทั้งการไม่ยอมรับคนรวย คนที่มีฐานะดี แต่มีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใส ตัวอย่าง เช่น นักการเมืองในบ้านเราบางคนที่ก่อนเข้ามาเล่นการเมือง ก่อนเป็นรัฐมนตรี มีฐานะธรรมดามาก แต่หลังจากนั้นไม่นานกลับมีฐานะมั่งคั่ง ร่ำรวย อย่างนี้สันนิษฐานได้ว่า คนคนนั้นมีรายได้ที่ไม่สุจริตระหว่างที่เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งการไม่ยอมรับทางสังคม (Social Sanction) ในบ้านเรา ในอนาคตอาจได้ผลเช่นเดียวกับประเทศในยุโรป และอาจทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในเมืองไทยลดลงได้

ข้อสำคัญ คนไทย ข้าราชการไทย รัฐบาลไทย เหนืออื่นใด สังคมไทย จะต้องรณรงค์และเอาจริงกับการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ ให้หมดสิ้นไปจากเมืองไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น

view