สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด ระบอบทักษิณ ในตลาดทุน (8): เก็บภาษีผลได้จากทุนจากกระดาน Big Lot

วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด "ระบอบทักษิณ" ในตลาดทุน (8): เก็บภาษีผลได้จากทุนจากกระดาน Big Lot

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ตอนที่แล้วผู้เขียนเสนอว่า รัฐควรเริ่มเก็บภาษีผลได้จากทุน (capital gains tax) ในตลาดทุนไทย เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

และปิดช่องเลี่ยงภาษีของเศรษฐีไทย โดยจะเริ่มเก็บจากรายการซื้อขายหุ้นขนาดใหญ่ก่อนก็ได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับนักลงทุนรายย่อย

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ข้อโต้แย้งว่ารัฐไม่ควรเก็บภาษีชนิดนี้ถูกข้อเท็จจริงหักล้างไปทีละข้อ ล่าสุดขนาดมหาเศรษฐีอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังออกมาประสานเสียงกับนักเศรษฐศาสตร์หลายคนว่า ภาษีผลได้จากทุนมิได้ลิดรอนแรงจูงใจของคนรวยในการลงทุนดังที่หลายคนเข้าใจผิดหรือแสร้งเข้าใจผิด เพราะ คนรวย “ถึงอย่างไรก็หาลู่ทางลงทุน ไม่ว่าภาษีจะสูงเพียงใด” ในคำยืนยันของบัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีน้อยรายที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลขึ้นภาษีคนรวยอย่างเขาเพื่อเพิ่มความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ

ผู้เขียนมองว่า ปัจจุบันข้อโต้แย้งภาษีผลได้จากทุนที่ดูมีเหตุมีผลที่สุดเหลือเพียงสองข้อเท่านั้น ข้อแรก หลายคนอ้างว่าภาษีผลได้จากทุนที่คำนวณบนผลตอบแทนจากหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เป็น “การเก็บภาษีซ้ำซ้อน” (double taxation) เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนจ่ายภาษีเงินได้ให้แก่รัฐไปแล้ว รัฐจึงไม่ควรเก็บภาษีจากผู้ถือหุ้นซึ่งได้รับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทอีกทีหนึ่ง ไม่ว่าจะในรูปเงินปันผลหรือส่วนต่างราคาหุ้น (ผลได้จากทุน) ก็ตาม

ข้อโต้แย้งประการที่สองคือ เงินเฟ้อส่งผลให้ผลตอบแทนสินทรัพย์สูงขึ้นตามเวลา ดังนั้น ระบบภาษีที่ไม่มีกลไกพิเศษ (เช่น ผูกโยงภาษีเข้ากับดัชนีที่ปรับตามเงินเฟ้อ) จึงเท่ากับเก็บ “ภาษีเงินเฟ้อ” อันเป็นภาษีเกินควรจากผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนที่ถือครองหลักทรัพย์ติดต่อกันเป็นเวลานาน

ต่อข้อโต้แย้งประการแรกคือ ภาษีผลได้จากทุนเป็นการ “เก็บภาษีซ้ำซ้อน” นั้น ข้อเท็จจริงคือผลได้จากทุนไม่เหมือนกับเงินปันผล เงินปันผลคือส่วนแบ่งกำไรประจำปีที่บริษัทจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของ ดังนั้น การเก็บภาษีเงินปันผลจึงเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนจริงๆ เนื่องจากบริษัทได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลบนรายได้ไปแล้ว (ก่อนหักค่าใช้จ่ายเหลือเป็นกำไร) แต่ผลได้จากทุนไม่ใช่ส่วนแบ่งโดยตรงจากกำไรประจำปีของบริษัท หากสะท้อน “มูลค่าสะสม” ของทุนที่งอกเงยขึ้นตามกาลเวลา เนื่องจากราคาหลักทรัพย์สะท้อนมุมมองของนักลงทุนต่อ “แนวโน้ม” กำไรของบริษัทในอนาคต ในแง่นี้ผลได้จากทุนจึงมีลักษณะคล้ายกับ “สินทรัพย์” ของผู้ถือหุ้น มากกว่า “รายได้” ฉะนั้น การเก็บภาษีผลได้จากทุนจึงมิได้เป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด เพราะคล้ายกับภาษีทรัพย์สินมากกว่า

ส่วนข้อโต้แย้งเรื่อง “ภาษีเงินเฟ้อ” ที่เกิดในระยะยาวนั้น รัฐสามารถบรรเทาผลข้อนี้ด้วยการออกแบบหลักเกณฑ์โดยไม่จำเป็นจะต้องยกเลิกภาษีดังกล่าวไปทั้งหมด เช่น หลายประเทศใช้วิธีเก็บภาษีผลได้จากทุนระยะสั้น แต่ยกเว้นภาษีผลได้จากทุนระยะยาว หรือเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่าระยะสั้น บางประเทศอย่างออสเตรเลียใช้สมการ ผูกต้นทุนสินทรัพย์สำหรับการคิดภาษีผลได้จากทุนเข้ากับดัชนีเงินเฟ้อ เพื่อขจัดผลของเงินเฟ้อต่อราคาหลักทรัพย์ ผู้เสียภาษีจะได้ไม่ต้องเสีย “ภาษีเงินเฟ้อ” ให้กับรัฐ เสียภาษีบนผลตอบแทน “ที่แท้จริง” เท่านั้น

ภาษีผลได้จากทุนมีลักษณะและรูปแบบการจัดการแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ สหรัฐอเมริกาเก็บภาษีผลได้จากทุนเป็นขั้นบันได ยิ่งถือหลักทรัพย์ไว้นานก่อนขาย อัตราภาษียิ่งน้อยลง อัตราภาษีผลได้จากทุนระยะสั้น (ปกตินิยามว่าถือครองหลักทรัพย์ไม่ถึงหนึ่งปีก่อนขายหรือเปลี่ยนมือ) ต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 10 สูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 35 ส่วนอัตราภาษีผลได้จากทุนระยะยาว (ปกตินิยามว่าถือครองหลักทรัพย์เกินหนึ่งปีก่อนขายหรือเปลี่ยนมือ) ต่ำสุดอยู่ที่ร้อยละ 0 สูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 15 โดยรัฐจะยกเว้นภาษีทั้งจำนวนให้ในกรณีที่บริจาคผลได้จากทุนให้แก่การกุศล ส่วนเดนมาร์กเก็บภาษีผลได้จากทุนในอัตราสูงที่สุดในโลก คือร้อยละ 43 แต่ยกเว้นภาษีให้สำหรับผู้ที่ขายหลักทรัพย์มูลค่าไม่ถึง 16,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 480,000 บาท) และถือครองหลักทรัพย์นั้นมานานกว่า 3 ปี ก่อนขายหรือเปลี่ยนมือ

เราต้องยอมรับความจริงว่า ยิ่งตลาดทุนเติบโตเท่าไร ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินยิ่งถ่างกว้างมากขึ้นเท่านั้น เพราะตลาดทุนเป็นแหล่งต่อยอดความมั่งคั่งแหล่งสำคัญของคนรวย พอๆ กับที่ดิน ซึ่งเมืองไทยก็ยังไม่เคยเก็บภาษีอย่างเหมาะสม เพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นมีรายได้ภาษีส่วนนี้ไปพัฒนาท้องถิ่นด้วย

กล่าวโดยสรุป ถึงเวลาแล้วที่รัฐจะออกกฎหมายจัดเก็บภาษีผลได้จากทุน (capital gains) ในฐานะกลไกสำคัญของการบรรเทาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน โดยควรใช้ระบบที่แยกแยะระหว่างผู้มีรายได้มากกับผู้มีรายได้น้อย และระหว่างนักลงทุนระยะยาว (ซึ่งรัฐควรส่งเสริม) กับนักลงทุนระยะสั้น (ซึ่งรัฐไม่จำเป็นต้องส่งเสริม) ทั้งนี้ เพื่อรักษาประโยชน์ของตลาดทุนในฐานะแหล่งเงินออมที่สำคัญของคนหมู่มาก และรักษาความสามารถในการแข่งขันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเทียบกับกับตลาดต่างประเทศ

ยกตัวอย่างวิธีเช่น รัฐสามารถยกเว้นภาษีผลได้จากทุนสำหรับผู้มีรายได้น้อย (เช่น ขายหุ้นมูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท) และเก็บภาษีผลได้จากทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจาก “หุ้นเก่า” ที่เจ้าของเดิมตกลงกับผู้ซื้อนอกตลาด แต่นำมาเคาะขายในตลาดหลักทรัพย์คราวละมากๆ (เรียกว่ากระดาน Big Lot) ซึ่งโดยมากมักจะทำแบบนี้เพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีเงินได้ เนื่องจากธุรกรรมซื้อขายในตลาดได้รับยกเว้นภาษี ทั้งที่เจตนารมณ์ของกฎหมายคือยกเว้นภาษีส่วนนี้เพราะอยากสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามาลงทุนในตลาดทุน เข้ามาซื้อขายหุ้นในราคาตลาด ไม่ใช่สนับสนุนให้เศรษฐีไปมุบมิบตกลงขายหุ้นกันนอกตลาด เอาหุ้นมา “โยน” เคาะกันในตลาดเพื่อเลี่ยงภาษีชนิดน่าเกลียด (แต่คนรวยหลายคนก็ทำกันเป็นปกติ) แบบที่ดีลขายหุ้นชินคอร์ปอันลือลั่นชี้ให้เห็น

ณ วันนี้ หลักการ เหตุผล และวิธีการเก็บภาษีผลได้จากทุนในตลาดทุนไทยมีอยู่ค่อนข้างพร้อมมูลแล้ว เหลือแต่รอรัฐบาลที่มีเจตจำนงการเมืองมากพอเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิธีปฏิรูปเพื่อกำจัด ระบอบทักษิณ ตลาดทุน เก็บภาษีผลได้จากทุน กระดาน Big Lot

view