สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อานันท์ ปันยารชุน (3)

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด โดย วิรัตน์ แสงทองคำ htpp//:viratts.wordpress.com

อานันท์ ปันยารชุน ผสมผสานประสบการณ์ด้านการทูตกับธุรกิจ บทบาทจึงกว้างขึ้น จากเพียงกิจการเดียวสู่ระดับสังคมธุรกิจ

อานันท์ ปันยารชุน เข้าดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการสหยูเนี่ยนในปี 2522 และใช้เวลานานทีเดียวกว่าจะได้ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการ (ปี 2534)

บริษัทสหยูเนี่ยนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ก่อตั้งขึ้นโดย ดำริห์ ดารกานนท์ ผู้มีประสบการณ์ธุรกิจในฐานะ "หลงจู๊" ของสหพัฒนพิบูล และในฐานะน้องภรรยาเทียม โชควัฒนา

"ความแตกต่างระหว่างดำริห์กับเทียมก็คือ ดำริห์จะมีความใฝ่ฝันเป็น "นักอุตสาหกรรม" ยิ่งกว่าเป็น "นักการค้า" แบบเทียม เพราะเชื่อว่าเส้นทางอุตสาหกรรมจะไปได้ไกลกว่า กอปรกับครอบครัวของดำริห์มีฐานะดี จึงมีทุนรอนที่จะไปเริ่มธุรกิจใหม่ได้เลย ในที่สุดดำริห์จึงไปร่วมทุนกับบริษัทวายเคเคแห่งญี่ปุ่น" (จากหนังสือ "Untold Story ประธานเครือสหพัฒน์ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา" โดย สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล)

เท่าที่ทราบการร่วมทุนกับ YKK แห่งญี่ปุ่น สำนักงานทรัพย์สินฯ และธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้นด้วย "ปี 2504 ดำริห์ตั้งโรงงานผลิตซิปยี่ห้อวายเคเค ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้า จากการเรียนรู้เทคโนโลยีจากญี่ปุ่น ผลิตสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าญี่ปุ่น ดำริห์เริ่มพัฒนาใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นผลิตสินค้ายี่ห้อใหม่ เป็นความพยายามสร้าง Goodwill ของตนเอง เป็นการเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายการค้า "วีนัส" ในปี 2515 สหยูเนี่ยนจึงตั้งบริษัท Holding Company ขึ้นมาถือหุ้นบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับญี่ปุ่น เป้าหมายมิใช่อยู่ที่อำนาจบริหารเท่านั้น ที่สำคัญอยู่ที่อำนาจในการเรียนรู้และรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น" ผมเองเคยเขียนถึงสหยูเนี่ยนไว้เช่นกัน (การเรียนรู้ของสหยูเนี่ยนการเรียนรู้ของนักอุตสาหกรรมไทย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 6-12 มีนาคม 2532) สหยูเนี่ยนเข้าตลาดหุ้นในปี 2518 ในช่วงเวลาเดียวกันที่อำนวย วีรวรรณ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ลาออกจากราชการตั้งแต่วัยหนุ่มเข้ามาเป็นประธานกรรมการ เมื่ออานันท์ ปันยารชุน ออกจากราชการในเวลาต่อมา เขาจึงอยู่ในตำแหน่งรองจากอำนวย ปัจจุบันสหยูเนี่ยนยังดำเนินไปได้ด้วยดี ภายใต้การบริหารรุ่นที่ 2

"เป็นบริษัทแกนนำของกลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน โดยกลุ่มบริษัทแบ่งการดำเนินธุรกิจเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ (1) ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต : สิ่งทอและอุปกรณ์ตัดเย็บ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยาง และโลหะ (2) ธุรกิจคอมพิวเตอร์ (3) ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอุตสาหกรรมเคมีในประเทศไทยและจีน (4) ธุรกิจการลงทุนและอื่น ๆ" ข้อมูลจากข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์ฯ

ในช่วงเวลาที่อานันท์เริ่มต้นทำงานกับสหยูเนี่ยน ถือว่าเป็นช่วงที่ดีช่วงหนึ่งของกิจการ

"สหยูเนี่ยนได้เรียนรู้ความเสียเปรียบของตนเองในการใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่น ดังนั้นจึงพยายามหาทางพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาและซื้อหุ้นคืนจากญี่ปุ่น เป็นเรื่องบังเอิญที่ขณะนั้นไทยอยู่ท่ามกลางสงครามเวียดนาม ญี่ปุ่นไม่มั่นใจ สถานการณ์จึงยอมโดยง่าย จากนั้นผลิตภัณฑ์เครื่องหมายการค้า "วีนัส" ได้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นเองของกลุ่มสหยูเนี่ยน

การทำลายพันธนาการของญี่ปุ่นเปิดทางให้สินค้าหลายชนิดของสหยูเนี่ยนส่งออกไปต่างประเทศเริ่มใกล้ ๆ จากฮ่องกง โดยได้ตั้งบริษัทนำเข้าส่งออกขึ้น นั่นเป็นกิจการในต่างประเทศแห่งแรก การออกเผชิญโลกภายนอกทำให้สหยูเนี่ยนสร้างสายสัมพันธ์กับผู้ผลิตสินค้าในต่างประเทศมากขึ้น

การตั้งบริษัทหรือสาขาในสหรัฐ ทำให้สหยูเนี่ยนได้เรียนรู้สภาพตลาดที่กว้างขวางและมีศักยภาพอย่างสูง ในเวลาเดียวกันได้สร้างโอกาสในการตั้งโรงงานปั่นด้ายแห่งแรกขึ้นในย่านใจ กลางของตลาดสหรัฐ แม้สหยูเนี่ยนจะเคยมีประสบการณ์ในการตั้งโรงงานปั่นด้ายขนาดเล็กมาแล้วใน ฮ่องกง แต่สำหรับที่เมืองแอตแลนตาในจอร์เจียนั้นมีความหมายยิ่งใหญ่กว่ามากทั้งของ สหยูเนี่ยนเองและอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยโรงงานแห่งนี้ลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท จากการซื้อโรงงานปั่นด้ายเก่าในราคาค่อนข้างถูกเมื่อปี 2531 เป็นโรงงานปั่นด้ายของคนไทยแห่งแรกในสหรัฐและในย่านตลาดสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุด ในสหรัฐ (จอร์เจีย) และห่างจากย่านโรงงาน แหล่งผลิตและแหล่งวัตถุดิบในมลรัฐแคโรไลนาเพียง 3-4 ชั่วโมงของระยะเวลาการเดินทางโดยรถยนต์

ผู้บริหารของสหยูเนี่ยนมีเหตุผลง่าย ๆ ทลายกำแพงโควตาสิ่งทอของสหรัฐ และเบื้องต้นรักษาส่วนแบ่งตลาดโดยเข้าไปฝังตัวอยู่ในสหรัฐเลย" ข้อเขียนอีกบางตอนของผมเล่าเรื่องสหยูเนี่ยนที่น่าสนใจไว้ จากนั้นบทบาทของอานันท์ ปันยารชุน กว้างขึ้นอีกมีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมระดับกว้าง----อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมไทยขณะนั้นยังไม่ยกระดับเป็นสภาอุตสาหกรรมฯ(2523) ประธาน ASEAN TASK FORCE (2525-2526) เป็นจุดเริ่มต้นความพยายามผนึกกำลังภาคอุตสาหกรรมในอาเซียน เมื่อก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมฯขึ้นก็ได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานสภา

ที่สำคัญ ในฐานะกรรมการบริษัทเอกชน เขาได้ก้าวข้ามจากกิจการอุตสาหกรรมไปสู่ธนาคารแล้ว โดยเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ครั้งแรก (2527-2534) ในเวลานั้นเป็นช่วงที่ธนาคารกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เป็นเวลาเดียวกันที่ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ (2527-2535) แต่ไม่ใคร่มีใครสนใจบทบาทของเขาที่ธนาคารไทยพาณิชย์นัก

ในปี 2534 อานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สหยูเนี่ยนยังได้ชื่อว่าเป็นสำนักงานธุรกิจแห่งแรกที่เป็นที่ประชุมหารือ อย่างไม่เป็นทางการในการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแม้อยู่ในตำแหน่งไม่นานนัก เขาได้ปรับโครงสร้างการบริหารรัฐไว้มากมาย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจถือเป็นผลงานอ้างอิง ผู้คนกล่าวถึงในเชิงบวกมาจนทุกวันนี้ แต่มีบางกรณีที่ไม่ใคร่มีใครกล่าวถึง

โดยเฉพาะกรณีการเกิดขึ้นของทีวีเสรี อันเชื่อมโยงมาสู่การก่อเกิดกลุ่มสยามทีวีที่มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สยามทีวีเกิดขึ้นในต้นปี 2537 เพื่อเข้าประมูลและได้บริหารกิจการทีวีเสรีในระบบ UHF โดยมีบริษัทสหศินิมา ของสำนักงานทรัพย์สินฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาตถือหุ้น ที่มาและแรงบันดาลใจเกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ ก่อนหน้านั้น "อิทธิพลของข้อมูลข่าวสารและระบบสื่อสารที่มีพลังอย่างยิ่งในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ได้สร้างแรงบันดาลใจต่อนักวางแผนธุรกิจใหญ่อย่างมาก โดยเฉพาะการเติบโตอย่างน่าเกรงขามของกลุ่มธุรกิจสื่อสารใหม่ ๆ ในสังคมไทย กลายเป็นอำนาจต่อรองที่ไม่อาจมองข้ามได้ อิทธิพลของกลุ่มใหม่เหล่านี้ส่งผลสะเทือนต่อกลุ่มอิทธิพลธุรกิจเก่าโดยตรง" ผมเคยวิเคราะห์ไว้ (ธนาคารไทยพาณิชย์ (3) ความผันแปรที่สยามทีวี ตุลาคม 2541)

ในช่วงเวลาการเกิดและขยายตัวอย่างรวดเร็วยิ่งใหญ่นั้น เชื่อว่าอานันท์ ปันยารชุนก็ควรได้รับรู้เมื่อเขาพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ได้กลับเข้ามาเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์อีกครั้ง (ตั้งแต่ปี 2535) ความผันแปรอย่างรวดเร็วของกลุ่มสยามทีวีและไอทีวี ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักหน่วงของธนาคารไทยพาณิชย์เกิดขึ้นต่อจากนั้น ไม่นานภาพลักษณ์ของเขาที่ผูกกับสหยูเนี่ยนได้จางไป ความสนใจของผู้คนจึงมาอยู่ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการยาวนานถึง 22 ปี ก่อนก้าวเป็นนายกกรรมการในปี 2550

"ตลอดระยะเวลา 22 ปี อานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางดำเนินงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการนำพาธนาคารผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในหลายยุค" ถ้อยแถลงสำคัญของธนาคารไทยพาณิชย์ ในครั้งที่ประกาศแต่งตั้งนายกกรรมการคนใหม่แทนจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา (มีนาคม 2550)

เขายังดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงทุกวันนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อานันท์ ปันยารชุน (3)

view