สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทุจริตจำนำข้าว ต้องรับผิดทางละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้รัฐด้วย

ทุจริตจำนำข้าว ต้องรับผิดทางละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้รัฐด้วย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่ผู้ใดได้ทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะต้องรับผิด

ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานของรัฐนั้น โดยก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ออกใช้บังคับ การพิจารณาความรับผิดของเจ้าหน้าที่และการชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งเรื่องละเมิด แต่ปัจจุบัน เมื่อมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ออกใช้บังคับแล้ว การพิจารณาความรับผิดของเจ้าหน้าที่ และการใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 หากเป็นการกระทำโดยประมาท เจ้าหน้าที่จะต้องรับผิดเฉพาะกรณีที่เกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น

ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้ให้ความหมายของคำว่า เจ้าหน้าที่ไว้ คือ หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งในฐานะเป็นกรรมการหรือฐานะใด แต่พระราชบัญญัติและระเบียบดังกล่าวมิได้ให้ความหมายไว้ของคำว่าละเมิดไว้ การพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำละเมิดหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อการนั้น"

หากปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดทำละเมิดเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใด เป็นแนวทางที่หน่วยราชการถือปฏิบัติกันมานานว่า หน่วยงานนั้นและเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะติดตามเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐจนถึงที่สุด ไม่ว่าคดีนั้นจะมีทุนทรัพย์ความเสียหายมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีการฟ้องร้องก็ต้องฟ้องและสู้คดีกันจนถึงศาลสูง เช่น

คดีข้าวสารขององค์การคลังสินค้าหาย คดีนี้มีการปลอมลายเซ็นชื่อของผู้มีอำนาจสั่งจ่ายข้าวสาร ไปเบิกข้าวสารจากคลังสินค้าขององค์การคลังสินค้า จากคลังกลาง 1 รวม 19,497 กระสอบ จากคลังกลาง 2 รวม 440 กระสอบ องค์การคลังสินค้าได้ฟ้องเรียกให้หัวหน้ากองข้าวสาร ผู้ช่วยหัวหน้าคลัง สองคน และพนักงานระดับล่างหนึ่งคน และลูกจ้างชั่วคราวอีกสองคน ให้ชดใช้ค่าเสียหาย สู้คดีกับจนถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษาให้ผู้ช่วยหัวหน้าคลังทั้งสองคนชดใช้เงิน 6,141,495 บาท พร้อมดอกเบี้ย และอีกส่วนหนึ่งให้ผู้ช่วยหัวหน้าคลังทั้งสองคน และพนักงานระดับล่างหนึ่งคน ร่วมกันชดใช้เงิน 195,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1558/2524)

คดีหัวหน้าฝ่ายการคลังของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ไม่ส่งมอบเงินที่เหลือจ่ายให้แก่คณะกรรมการเก็บรักษาเงิน เพื่อให้เก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยที่ได้จัดไว้ให้ แต่กลับนำเข้าเก็บไว้ในตู้นิรภัย อีกตู้ ที่มีลูกกุญแจดอกเดียว และเก็บลูกกุญแจไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงาน มีคนร้ายงัดโต๊ะทำงาน และนำลูกกุญแจไปไขตู้นิรภัยลักเอาเงินที่เก็บรักษาไว้ไปจำนวน 170,571.40 บาท สู้กันจนถึงศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น ถือได้ว่าเกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของหัวหน้าฝ่ายคลัง เป็นการทำละเมิด ต่อหน่วยงานนั้น ต้องชดใช้เงินให้หน่วยงานนั้น จำนวน 170,571.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย (คำพิพากษาฎีกาที่ 4216/2531)

หรือคดีในศาลปกครองหลังจากมีพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ออกใช้บังคับแล้ว เช่น

คดีพนักงานขับรถของหน่วยงานแห่งหนึ่ง ขับรถไปปฏิบัติงาน ระหว่างทาง ปรากฏว่า เครื่องยนต์ร้อน น้ำในหม้อน้ำแห้ง จนผลที่สุดเครื่องยนต์เสียหาย หน่วยงานต้นสังกัด มีคำสั่งเรียกให้พนักงานขับรถชดใช้ค่าเสียหายเป็น 20,000 บาท พนักงานขับรถจึงฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่าไม่มีหลักฐานว่าพนักงานขับรถประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ต้องรับผิด หน่วยงานนั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.146/2553)

คดีรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่กำกับดูแลการเก็บรักษาเงินค่าบริการและค่ากิจกรรมนักเรียนนักศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ เป็นเหตุให้ผู้เก็บเงินถือโอกาสเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตน หลังสอบสวนแล้ว ทางวิทยาลัยมีคำสั่งให้รองผู้อำนวยการ ชดใช้เงินตามส่วนความรับผิด จำนวน 93,544.25 บาท รองผู้อำนวยการจึงฟ้องต่อศาลปกครอง สู้คดีจนถึง ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งวินิจฉัยว่า คำสั่งให้ชดใช้เงินตามส่วนดังกล่าวเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.565/2556)

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่มีข่าวคราว มีผู้ทักท้วงตลอดมาตั้งแต่เริ่มโครงการ ว่ามีการทุจริตทุกขั้นตอน ทั้งระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ระดับนโยบาย และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทำความเสียหายให้แก่งบประมาณของประเทศอย่างมหาศาลมากกว่าโครงการใดๆ ในประเทศไทย ทำลายระบบการค้าข้าวการส่งออกข้าวไทยจนพังย่อยยับลง จน ป.ป.ช. ได้ไต่สวนชี้มูลความผิดระดับรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ไปแล้วหลายราย และกำลังไต่สวนชี้มูลความผิดทางอาญาต่ออดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ และเอกชนที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก ล่าสุดเป็นข่าวจากกระทรวงการคลังว่า โครงการนี้ก่อให้เกิดความเสียหายไม่น้อยกว่าห้าแสนล้านบาท ข้าวหายเกือบสามล้านตัน

การทุจริตโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว นอกเหนือจากความรับผิดทางอาญาที่ ป.ป.ช. กำลังดำเนินการแล้ว หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ จะต้องดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือละเลยไม่ป้องกันหรือยับยั้งการทุจริตทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับใดให้รับผิดฐานจงใจทำละเมิดให้รัฐเสียหาย และชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้รัฐ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยไม่ละเว้น และต้องดำเนินการจนถึงที่สุด เฉกเช่นที่ปฏิบัติกันมา ดังคดีที่ได้ยกเป็นอุทาหรณ์ดังกล่าวข้างต้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทุจริตจำนำข้าว ต้องรับผิด ละเมิด ชดใช้ค่าเสียหาย รัฐ

view