สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นวัตกรรมสังคม กุญแจไขความสุขที่ยั่งยืน

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk โดย ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ชุมชนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่เป็นรากฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพราะท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและวิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป

ภาคเอกชนจึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวในชุมชน เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชนถือเป็นกลไกหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการบรรเทาปัญหา และเสริมสร้างความอยู่ดีมีสุขให้เกิดในสังคม

แนวคิดที่ภาคเอกชนใช้บรรเทาปัญหาชุมชน ดิฉันมองว่าเอกชนมักดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ Social Contribution ด้วยวิธีการช่วยเหลือทางการเงินแก่ชุมชนที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจหรือปัญหาอื่น ๆ เช่น บริจาคเงินหรือสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ชุมชน รวมทั้งระดมแรงอาสาสมัครช่วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน

ต่อมาจึงเริ่มมีการผนวกแนวคิดความรับผิดชอบขององค์กรต่อสังคม CSR หรือ Corporate Social Responsibility เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร จึงทำให้เกิดมุมมองต่องานการพัฒนาสังคมที่สัมพันธ์กับงานขององค์กรในการบริหารธุรกิจมากขึ้น

กระทั่งปี ค.ศ. 2006 ศาสตราจารย์ "Michael E. Porter" และ "Mark R. Kramer" จากมหาวิทยาลัย Harvard ได้นำเสนอแนวคิด CSV หรือ Creating Shared Value โดยเป็นการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคมผ่านการเชื่อมต่อของกลยุทธ์ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) และการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

โดยนักคิดทั้งสองท่านเล็งเห็นว่า การทำประโยชน์ให้แก่สังคมสามารถกลายมาเป็นจุดสร้างความแตกต่างในทางธุรกิจ และนำไปสู่ผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวมีความท้าทายในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะยาวให้แก่ชุมชนได้ เช่น นโยบายขององค์กรเอกชนที่ดำเนินการช่วยเหลือไม่ต่อเนื่อง การช่วยเหลือมาในรูปแบบการสร้างภาพลักษณ์หรือผลประโยชน์ร่วมกันมากกว่าการเข้าถึงปัญหาของชุมชนอย่างแท้จริง

เพื่อการแก้ไขที่ตรงประเด็น และความสม่ำเสมอในการสำรวจติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดที่จะเอื้อให้ชุมชนยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง เพราะชุมชนอาจเกิดการคาดหวังจากการให้เปล่ามากกว่าการใช้องค์ความรู้เพื่อเลี้ยงชีพได้ด้วยตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ องค์กรขนาดใหญ่ที่มีความมั่งคั่งจึงเริ่มหันมาสนใจการสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนในระยะยาว โดยผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้จากองค์กรสู่สังคม ซึ่งในเชิงเศรษฐกิจชุมชนสามารถมองได้ว่าวิธีนี้เป็นอีกทางเลือกที่สามารถเรียกได้ว่า "นวัตกรรมสังคม" หรือ "Corporate Social Innovation (C-SI)"

ซึ่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินธุรกิจให้มีรายได้อย่างยั่งยืน อันนำไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชนนั้น ๆ

นอกจากนั้น ดิฉันยังคิดว่าการดำเนินงานนวัตกรรมสังคมคือการแบ่งปันองค์ความรู้ ปัจจัยความสำเร็จ ปรัชญาความคิด และลงมือปฏิบัติด้วยกัน ที่ภาคธุรกิจมีให้แก่ชุมชนเพื่อวางรากฐานการพัฒนาชุมชน โดยเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน และสอนวิธีการดำเนินงานธุรกิจเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง

วิธีการนี้มีความจำเป็นและสำคัญต่อชุมชนอย่างมาก เพราะความรู้ที่ชุมชนได้รับจากภาคเอกชนคือการสอนให้คิดเป็นและทำอย่างเป็นระบบ จนสามารถนำไปประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเอง จนสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน เปรียบเสมือนความรู้ที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต

วิธีการนี้มีประสิทธิผลในระยะยาวมากกว่ากิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ ที่เป็นการให้แค่เพียงผิวเผิน แต่ไม่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนอันนำไปสู่ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของชุมชนได้

ต่างประเทศเริ่มมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับแนวคิด C-SI ที่แบรนด์พยายามนำเสนอความหลากหลายทางความคิด ค้นหาแรงบันดาลใจ ร่วมมือประสานงานและประเมินผลในชุมชนและสังคมนั้น ๆ เพื่อดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มากกว่าผลกำไรทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว เช่น OpenIDEO ของ Coca-Cola ที่สร้างชุมชนบนโลกออนไลน์ขึ้นสำหรับแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาบริบทเชิงสังคม

ทุกความคิดเห็นที่จะได้รับการพิจารณา และคัดเลือกแนวทางดีที่สุดเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติจริง และอีกหนึ่งตัวอย่างคือ โครงการ Lego"s CUUSOO ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Lego"s Ideas ที่เปิดรับนวัตกรรมทางความคิดจากบุคคลทั่วไปในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของเลโก้ โดยนวัตกรรมชิ้นใดที่มีผู้สนับสนุนเกิน 10,000 คนจะถูกนำมาผลิตเป็นสินค้าจริง ๆ ของเลโก้

อีกหนึ่งกรณีศึกษาในประเทศไทยของธุรกิจชุมชนที่เริ่มบุกเบิก และมีความชัดเจนในการใช้นวัตกรรมสังคมเข้ามาช่วยเหลือจากองค์กรขนาดใหญ่ คือ โรงสีข้าวรัชมงคล ซึ่งเป็นโรงสีข้าวตามแนวพระราชดำริที่ดำเนินงานมาแล้วกว่า 15 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรท้องถิ่น ด้วยการรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และสหกรณ์การเกษตรชุมชนในราคายุติธรรม และจำหน่ายในราคาที่เหมาะสมแก่ผู้บริโภค

โรงสีข้าวรัชมงคลมีการนำระบบการผลิตแบบโตโยต้า (Toyota Production System) มาประยุกต์ใช้ เริ่มจากการปรับวางผังของพื้นที่ในโรงสีให้ Workflow จนดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมปลูกฝังให้พนักงานมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย เพื่อลดค่าเสียหายและลดการเสียโอกาสจากการเกิดอุบัติเหตุ

จากนั้นจึงนำระบบการผลิตตรงตามเวลา (Just in Time) มาใช้ในการวางแผนรับข้าวเปลือก และผลิตข้าวตามความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งเน้นเรื่องการจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) มาใช้ในการวางแผนการผลิต เพื่อลดต้นทุนที่เกิดจากการเก็บรักษาสินค้าที่ผลิตมามากเกินความต้องการของตลาด รวมถึงสินค้าที่ได้จะมีความสดใหม่ คงคุณภาพสูงสุดสู่ลูกค้าอยู่เสมอ

ทั้งยังมีการนำระบบการจัดการต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนช่วยลดเวลาในการดำเนินงาน เช่น การปรับรูปแบบโกดังเก็บสินค้า และนำ Pallet มาใช้เพื่อสามารถจัดเก็บสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ที่สำคัญยังช่วยลดเวลาการทำงาน ทั้งจากกระบวนการจัดเก็บและการขนส่ง อันส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการจ้างงานได้ เป็นต้น

ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างชุมชนกับภาคธุรกิจขนาด ใหญ่ในการดำเนินธุรกิจชุมชนที่ช่วยให้ทิศทางความเป็นอยู่ของชุมชนดีขึ้น สามารถเลี้ยงตนเองและเสริมสร้างความยั่งยืนได้อีกกรณีหนึ่ง

เพราะนวัตกรรมสังคมที่ส่งต่อสู่ชุมชนทำให้เกิดนวัตกรรมทางความคิด จึงเป็นกุญแจดอกสำคัญที่มาไขความสุขที่ยั่งยืนสู่ชุมชนอย่างจริงจังและจริงใจ เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะแข่งขันกับการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นวัตกรรมสังคม กุญแจไขความสุข ยั่งยืน

view