สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข่มขืนรอดคุก97เปอร์เซ็นต์ เพิ่มโทษไปก็ไร้ค่า

ข่มขืนรอดคุก97-เพิ่มโทษไปก็ไร้ค่า

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

การแถลงข่าวด้วยสีหน้านิ่งเฉยของ วันชัย แสงขาว ผู้ต้องหาคดีฆ่า-ข่มขืน เด็กหญิงวัย 13 ปี ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ประกอบกับคำบอกเล่าถึงพฤติกรรมอุกอาจที่กระทำต่อเหยื่อ

ทำให้ทุกสายตาในสังคมต่างจับจ้องโทษทัณฑ์ที่ผู้ต้องหารายนี้จะได้รับ

เสียงเชียร์ให้ประหารชีวิตผู้ต้องหาคดีข่มขืนดังขึ้นตลอดวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยหลายคนเห็นตรงกันว่ามาตรการนี้เท่านั้นจึงจะสาสมกับความผิดที่ก่อไว้

คำถามคือ “การประหารชีวิต” เป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดแล้วจริงหรือ?

ณัฐนที ดอกไม้ นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐ ได้แสดงความคิดเห็นโดยยกอ้างงานวิชาการและเทียบเคียงสถิติจนเห็นภาพข้อเท็จจริงที่ปราศจากอารมณ์

ณัฐนที อธิบายว่า งานวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ Valerie Wright จากมหาวิทยาลัย Cleveland ในหัวข้อ “Deterrence in Criminal Justice” ซึ่งศึกษาในสหรัฐ อังกฤษ และสวีเดน พบว่า การเพิ่มโทษนั้นไม่ได้ช่วยลดอัตราการก่ออาชญากรรมอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี วิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลกลับเป็น “การสร้างหลักประกัน” ว่าผู้ก่อเหตุจะต้องได้รับโทษในกระบวนการยุติธรรมโดยไม่มีทางจะรอดพ้นไปได้

“หากผู้กระทำผิดรู้ตัวว่าจะต้องถูกลงโทษแน่ๆ ก็จะกลัวการกระทำผิดนั้น ต่างกับการเพิ่มโทษที่ต่อให้โทษแรงแค่ไหน แต่ถ้าผู้กระทำผิดรู้ว่าจะไม่ถูกลงโทษ ก็ไม่มีทางที่จะกลัวต่อการลงโทษนั้น” ณัฐนที อ้างอิงงานวิชาการ

ณัฐนที บอกอีกว่า รูปแบบการข่มขืนในปัจจุบันมีหลากหลายและละเอียดซ้ำซ้อนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากคนใกล้ตัวที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพ่อข่มขืนลูก พี่ข่มขืนน้อง สามีข่มขืนภรรยา เพื่อนสนิทข่มขืนเพื่อน โดยสถิติของเว็บไซต์ RAINN (Rape, Abuse, & Incest National Network) ซึ่งเก็บข้อมูลของสหรัฐระบุว่า 2 ใน 3 ของการข่มขืนกระทำโดยคนที่รู้จักกัน และ 38% เกิดจากคนใกล้ตัว

ทั้งนี้ เมื่อนำผลสรุปของงานวิจัยข้างต้นมาเทียบกับข้อมูลสถิติในเว็บ RAINN จะพบว่าสถานการณ์การข่มขืนน่าเป็นกังวลอย่างยิ่ง นั่นเพราะ 60% ของการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกแจ้งความต่อตำรวจ (ส่วนใหญ่เป็นญาติ-คนใกล้ชิด) และ 97% ของผู้ข่มขืนไม่เคยต้องติดคุก

วันชัย สอนศิริ อดีต สว. และอดีตเลขาธิการสภาทนายความฯ แสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันโทษคดีข่มขืนรุนแรงอยู่แล้ว โดยให้จำคุกสูงสุดถึง 20 ปี ขณะเดียวกันหากมีการรุมโทรม ใช้กำลัง ใช้อาวุธ หรือข่มขืนเด็กและเยาวชน ก็จะมีการเพิ่มโทษขึ้นอีกตามลำดับ

สำหรับคดีข่มขืนเด็กหญิงบนรถไฟก็มีโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ซึ่งไม่ว่าจะจำนนด้วยหลักฐานหรือรับสารภาพเองก็ถือว่าเข้าข่ายรับโทษสูงสุดเช่นกัน เนื่องจากมีการข่มขืนและฆ่า รวมถึงผู้เสียหายเป็นเด็ก

“เรามีการปรับแก้โทษคดีข่มขืนมามากแล้ว ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่โทษของเราถือว่ารุนแรงพอสมควร เพราะหากข่มขืนเพียงอย่างเดียว โทษจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี ส่วนจะให้คดีข่มขืนทุกคดีต้องรับโทษประหารชีวิตด้วยกันทุกคดีนั้น คิดว่าเป็นไปไม่ได้ และเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ”ทนายความชื่อดังระบุ

สุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ไม่มีหลักเกณฑ์ใดที่สามารถวัดได้ว่า หากเพิ่มโทษประหารชีวิตในคดีข่มขืนจะทำให้สถิติการข่มขืนลดน้อยลง และโทษในคดีอุกฉกรรจ์นี้ ก็มีโทษสูงสุดอยู่ที่การประหารชีวิตอยู่แล้ว ฉะนั้นควรให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำงานเพื่อลงโทษต่อไป

“ไม่ควรไปเพิ่มโทษ แต่ควรให้โอกาสกลับตัวในอนาคต เราอาจโกรธได้ แต่ต้องหามาตรการอื่นมาประกอบว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร เช่น เรื่องนี้เกิดบนรถไฟ ก็ต้องถามว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีมาตรการในการดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารอย่างไร หรือมีมาตรฐานการคัดเลือกพนักงานอย่างไร มากกว่าจะไปบอกให้ประหารชีวิตอย่างเดียว”สุนี ระบุ


นักสิทธิฯค้าน'ประหารชีวิต'ยกฆ่าตัดตอนยันไม่แก้ปัญหา

นักสิทธิฯค้าน'ประหารชีวิต' ยกกรณี "ฆ่าตัดตอน" สงครามยาเสพติด มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่ไม่แก้ปัญหา

อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยกับการประหารชีวิตเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด ไม่อยากให้สังคมไทยมีมุมมองให้ผู้กระทำผิดต้องตายตกตามเหยื่อไปด้วย และการฆ่าคนคนหนึ่งไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะถูกแก้ไข

ยกตัวอย่าง สมัยรัฐบาลในอดีตสมัยหนึ่ง เคยประกาศทำสงครามกับยาเสพติด มีการฆ่าตัดตอนผู้ที่เชื่อว่าอยู่ในขบวนการค้ายาเสพติดอย่างกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,500 ศพที่ต้องสนองนโยบายนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหายาเสพติดในเวลาต่อมาลดลง บางทีการให้โอกาสผู้กระทำผิดได้กลับตัวเป็นคนดี ยังมีโอกาสสร้างประโยชน์ได้มากกว่า

"ถ้าเราศึกษาคดีข่มขืนที่เกิดขึ้น จะพบว่ามีเหตุที่นำไปสู่การข่มขืนซ้ำๆ ซากๆ ถ้าไม่ใช่เพราะเมาสุราจนขาดสติ ก็จะเป็นเรื่องเสพยา ถ้าเราปรับทัศนคติคนในสังคมให้รู้สึกถึงคุณค่าของสตรี ความเสมอภาคทางเพศ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนก็คงอยู่ร่วมกันโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน ในหลายประเทศการฆ่าข่มขืนเข้าลักษณะความผิดเดียวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ต้องโทษประหารเท่านั้น แต่ก่อนลงโทษในอัตราสูงสุดนั้น ต้องผ่านการไต่สวนในกระบวนการยุติธรรมจนชัดเจนว่าเป็นการกระทำโดยสันดานจริงๆ"


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ข่มขืน รอดคุก เปอร์เซ็นต์ เพิ่มโทษไปก็ไร้ค่า

view