สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตัดต่อพันธุกรรมธุรกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

ในยุคที่เทคโนโลยีชีวภาพครองโลก การจะปล่อยให้อะไร ๆ เจริญเติบโตตามธรรมชาติก็คงไม่ทันใจและถูกใจมนุษย์

เช่นเดียวกับในยุคทุนนิยมครองโลก การเติบโตของธุรกิจด้วยการขยายการลงทุนตามธรรมชาติก็อาจไม่รวดเร็วทันใจนักลงทุน

ดังนั้น ในยุคนี้จะพบว่ากระแสเรื่องการควบรวมกิจการ หรือที่เรียกว่า M&A (Mergers & Acquisitions) เข้ามา มีบทบาทมากขึ้น ทั้งการควบรวมกิจการของบริษัทในประเทศกันเอง หรือการควบรวมกับบริษัทต่างประเทศ เรียกว่าเป็นทางลัดในการสร้างความเจริญเติบโตทางธุรกิจ

เทียบได้กับการตัดต่อพันธุกรรมธุรกิจ เพื่อให้มีความแข็งแรงและเติบโตมากกว่าการปล่อยให้โตตามธรรมชาติ

เช่นที่ "กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์" ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด มือหนึ่งด้านกฎหมายธุรกิจ โดยเฉพาะเรื่องการควบรวมกิจการซึ่งได้ทำดีลยักษ์ของประเทศไทยมานับไม่ถ้วนระบุว่า ปัจจุบันการเติบโตโดยธรรมชาติ (Organic Growth) ของธุรกิจจะช้าลง ทำให้หลายธุรกิจจึงเลือกที่จะทำ M&A เพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรับมือการแข่งขัน

"M&A ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ ทุกวันนี้จะเห็นว่าการเทกโอเวอร์ของบริษัทต่างประเทศสูงมาก เรียกว่าเปิดหนังสือพิมพ์ต่างประเทศไม่มีวันไหนที่ไม่มีข่าว M&A"

นอกจากนี้ ประธานกรรมการ บริษัทเบเคอร์ฯระบุว่า ในช่วงเวลาการนับถอยหลังสู่การเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 เรื่อง M&A ก็มีความสำคัญมากขึ้น เพราะจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจไทยหรือเอสเอ็มอีเพื่อขยายตลาดอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการ M&A กันเองของบริษัทไทยหรือกับบริษัทต่างประเทศ

เพราะขณะเดียวกันก็มีบริษัทต่างชาติจำนวนมากมองเห็นโอกาสในประเทศไทย ต้องการที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานในการขยายไปเออีซี


ฉะนั้น ทุกฝ่ายต้องมีความเข้าใจเรื่อง M&A อย่างดี และนับวันจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในมุมของนักลงทุนและผู้ถือหุ้น

สำหรับเมืองไทยกระแส M&A ที่ผ่านมาก็มีไม่น้อย ดีลใหญ่ที่เกิดขึ้นช่วงปีที่ผ่านมาก็อย่างเช่น กรณีซีพี ออลล์ เจ้าของแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่ได้เข้าซื้อกิจการค้าส่ง "แม็คโคร" ด้วยมูลค่าถึง 1.8 แสนล้านบาท หรือกรณีที่ธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ (BTMU) เข้ามาซื้อธนาคารกรุงศรีฯด้วยมูลค่าราว 5.9 หมื่นล้านบาท เพราะมองเห็นโอกาสจากฐานลูกค้าของธนาคารกรุงศรีฯที่สามารถต่อยอดธุรกิจได้เร็วกว่าการเริ่มต้นธุรกิจใหม่

โดยปีนี้แม้จะไม่มีดีลใหญ่ให้เห็น แต่ดีลควบรวมกิจการก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีที่กลุ่มสิงห์ของตระกูลภิรมย์ภักดี เข้าซื้อบริษัทรสา พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ เพื่อโดดเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เต็มตัว

อย่างไรก็ตาม "กิติพงศ์" ระบุว่า ความสำเร็จของการทำ M&A ไม่ใช่แค่การตีราคาซื้อขายหุ้นกันแล้วจบ แต่ขึ้นอยู่กับแผนหลังการควบรวมกิจการว่าจะทำอย่างไรต่อ นั่นเป็นโจทย์ใหญ่ที่เจ้าของธุรกิจต้องเข้าใจ เพราะถ้าไม่มีกระบวนการหลังการควบรวมที่ชัดเจนกว่า 60% ของดีลเอ็มแอนด์เอจะล้มเหลว ด้วยหลายสาเหตุทั้งวัฒนธรรม คน หรือกระบวนการทำงานที่แตกต่างกัน

ขณะเดียวกัน มีสถิติว่าดีล M&A ที่ทำไป 100 ราย จะสำเร็จแค่ 49.5% เรียกว่าล้มเหลวกว่าครึ่ง และที่สำคัญการจะพิสูจน์ว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ อาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีถึงจะรู้ว่าธุรกิจที่เราตัดต่อพันธุกรรมไว้นั้นมันเจริญงอกงามและแข็งแรงจริงหรือไม่ และที่ควรระวังอีกประเภทก็คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นที่ทำ M&A เพื่อสร้างสตอรี่ สร้างราคาหุ้นเท่านั้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ตัดต่อพันธุกรรม ธุรกิจ

view