สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปริศนาเงินคงคลัง

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นครินทร์ ศรีเลิศ Bank_tennis@hotmail.com



ความคืบหน้าของการจัดทำงบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2558 มีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ

ล่าสุดที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) เพื่อบริหารราชการแผ่นดินได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ซึ่งมีวงเงินรวม 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 5 หมื่นล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 2%

เป็นที่น่าสังเกตว่ารายจ่ายงบประมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งได้ถูกตั้งไว้สำหรับเป็น รายจ่ายชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 41,965.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ที่มีการตั้งงบประมาณส่วนนี้ไว้เพียง 2,8541.7 ล้านบาท หรือมีการตั้งงบประมาณส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมาถึง 212.6%

‘เงินคงคลัง’ หรือ “Treasury Cash Balances” ถือเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการสภาพคล่องที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความมั่นคงแข็งแรงของฐานะทางการคลังของรัฐบาล เป็นเครื่องสะท้อนความน่าเชื่อถือของประเทศ แต่ละประเทศต้องมีเงินคงคลังที่เพียงพอต่อการรับมือกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

กรมบัญชีกลางประเมินว่าระดับของเงินคงคลังที่เหมาะสม ในควรจะครอบคลุมการเบิกจ่าย 13 วันทำการ หรือคิดเป็นประมาณ 5.1% ของงบประมาณรายจ่ายแต่หากเป็นในกรณีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และตลาดการเงินไม่อยู่ในภาวะปกติ ระดับของเงินคงคลังก็ควรที่จะปรับเพิ่มขึ้นไปด้วย เพราะการระดมทุนในช่องทางปกติของภาครัฐอาจไม่สามารถทำได้

เงินคงคลังของประเทศ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมาที่เคยอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5 แสนล้านบาท และลดลงจากช่วงต้นปี 2556 ที่มีเงินคงคลังสูงกว่า 6 แสนล้านบาทเศษ ดังนั้นนอกจากในงบประมาณ 2558 จะมีการตั้งงบประมาณชดเชยเงินคงคลัง สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยังมีมีแผนที่จะกู้เงินอีกจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้เพื่อมาใส่ในเงินคงคลัง การจัดสรรเงินมาคืนเงินคงคลังยังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่าหากมีการจ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป

แม้จะยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าเงินคงคลังที่ถูกใช้จ่ายไประหว่างปีงบประมาณ 2557 นำไปใช้ในรายการใดบ้าง แต่จากวงเงินที่ตั้งเพื่อชดเชยเงินคงคลังที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 200% เป็นการบอกถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ปกติจนต้องมีการขอยืมเงินคงคลังมาใช้จ่ายก่อน แล้วจึงตั้งงบประมาณคืนในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ตามที่กฎหมายได้วางไว้

นักเศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาเงินคงคลังมักถูกยืมมาใช้เติมให้กับรายจ่ายในงบกลางฯ เนื่องจากในปีที่รายจ่ายอื่นๆเพิ่มเข้ามาในระหว่างปีงบประมาณ รัฐบาลมักใช้เทคนิคในการโยกเงินจากงบกลางไปใช้ในรายการอื่นๆ เนื่องจากเป็นเงินส่วนเดียวที่ไม่ต้องมีการขออนุมัติรายละเอียดจากสภาฯ งบกลางฯจึงเสมือน “เช็คเปล่า” ที่ให้อำนาจกับฝ่ายบริหารไปใช้ในโครงการต่างๆ ดังนั้นหากมีเหตุให้งบกลางฯไม่พอสำหรับใช้ในรายจ่ายที่จำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาลทำให้ต้องยืมเงินคงคลังมาใช้ก่อน เป็นต้น

...แม้ในการบริหารงบประมาณ จะมีเทคนิคให้เลี่ยงไปใช้เงินส่วนอื่นๆ ในการบริหาร แต่เมื่อมีการตั้งวงเงินมาใช้คืนเงินคงคลังสูงขึ้นถึง 200% ก็ชวนให้น่าสงสัยว่าในปีที่ผ่านมา มีการยืมเงินคงคลังไปใช้ทำอะไรกว่า 4 หมื่นล้านบาท เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นปัญหาสั่งสมเรื้อรังมานานก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่?!?


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปริศนาเงินคงคลัง

view