สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การลงจากหลังเสือของเยลเลน

การลงจากหลังเสือของเยลเลน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในครั้งที่แล้วผมเขียนถึงการยืนยันท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐว่าจะยังยึดถือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมากต่อไปอีก

เพราะมองว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสมในการส่งเสริมให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน เพราะขณะนี้แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังต่ำและแม้ว่าการว่างงานจะลดลงแต่ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการลดลงของสัดส่วนคนทำงานเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในวัยทำงานทั้งหมด แต่ประเด็นหลักก็คือ การพิมพ์เงินใหม่ออกมาซื้อพันธบัตรที่มีความเสี่ยงต่ำจะต้องปิดฉากลงภายในตุลาคมนี้ และกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐเองก็คาดการณ์ว่าจะต้องเริ่มปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นตั้งแต่กลางปีหน้าเป็นต้นไป โดยคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยนโยบายนั้นน่าจะเพิ่มจากใกล้ศูนย์ในขณะนี้มาเป็นประมาณ 1% ในปลายปีหน้า

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่านโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยให้มีสภาพคล่องเกินพอนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ทำให้ตลาดทุนนั้นคึกคักและปรับตัวสูงขึ้นต่อไป แม้จะปรับลงมาบ้างจากการที่เครื่องบินของสายการบินมาเลเซียถูกยิงตกในยูเครน ซึ่งเป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่ง แต่ในส่วนของตลาดทุนนั้นความกังวลอีกด้านหนึ่งคือความเสี่ยงที่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยุโรปและอเมริกาจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความเข้มข้นของการคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย แต่โดยรวมแล้วผมก็ยังเชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังได้รับอานิสงส์จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและยังเชื่อว่าจะสามารถแสวงหากำไรจากนโยบายดังกล่าวได้ต่อไปอีก แต่ก็น่าจะเป็นการแสวงหากำไรในรอบสุดท้ายแล้ว

ความกล้าที่จะลงทุนโดยเพิ่มความเสี่ยงนั้นเรียกกันสั้นๆ ว่า “risk on trade” ซึ่งเห็นได้จากการที่นักลงทุนเพิ่มการใช้เงินดอลลาร์ (ที่มีต้นทุนต่ำโดยความอนุเคราะห์ของธนาคารกลางสหรัฐ) ซึ่งส่วนหลังนี้ก็ส่งผลกับประเทศตลาดเกิดใหม่เช่นไทย กล่าวคือ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น ทำให้เงินสกุลต่างๆ ในเอเชียแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยแนวโน้มการแข็งค่าดังกล่าวนั้นเริ่มประมาณปลายเดือนพ.ค.โดยค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 32.5 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ลงมาที่ประมาณ 31.9 ในขณะนี้ แม้จะมีข่าวลือในตลาดค้าเงินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อยากเห็นเงินบาทแข็งค่าเกินกว่า 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวมองได้อีกทางหนึ่งว่าเป็นการสะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติหลังทหารเข้ามาปกครองประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนหลังจากการปกครองประเทศของคสช. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ปรับเพิ่มขึ้น 9%

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่านักลงทุนต่างชาตินั้นขายหุ้นไทยสุทธิในเดือนพฤษภาคม (25,800 ล้านบาท) และเดือนมิถุนายน (375 ล้านบาท) แต่กลับมาซื้อหุ้นสุทธิในเดือนกรกฎาคม (ระหว่างวันที่ 1-18 16,500 ล้านบาท) ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนักและไม่น่าจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าได้อย่างมีนัยสำคัญ แต่หากพิจารณาจากตัวเลขการซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว จะเห็นว่าปริมาณซื้อสุทธิของนักลงทุนเป็นรายวันเมื่อเทียบกับปริมาณการซื้อสุทธิของหุ้นแล้วแตกต่างกันอย่างมากเช่น

แต่การซื้อพันธบัตรไทยกับการซื้อสุทธิหุ้นนั้นเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะพันธบัตรนั้นหมดอายุลงได้และส่วนหนึ่งอาจเป็นการซื้อทดแทนพันธบัตรที่หมดอายุลง แต่ก็ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการเข้ามาลงทุนของต่างชาตินั้นเน้นการเข้ามาลงทุนในพันธบัตรมากกว่าการลงทุนในหุ้น เช่นในช่วง 1-18 กรกฎาคมนั้นต่างชาติซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นสุทธิ 16,500 ล้านบาท แต่ยอดของพันธบัตรไทยที่ต่างชาติถือนั้นเพิ่มขึ้น 49,000 ล้านบาท

ประเด็นคือ นโยบายการเงินของสหรัฐปัจจุบันคือการที่ธนาคารกลางสหรัฐยังพิมพ์เงินใหม่เดือนละ 35,000 ล้านดอลลาร์มากว้านซื้อพันธบัตรที่มีคุณภาพดีและความเสี่ยงต่ำนั้น ก็ยังเป็นการนำเอาเงินดอลลาร์ใส่มือนักลงทุนให้นำเงินดังกล่าวไปลงทุนอะไรก็ได้ที่มีความเสี่ยงมากกว่า (เช่นลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ในประเทศตลาดเกิดใหม่) โดยเฉพาะเมื่อนักลงทุนมีความกล้าเสี่ยง (risk on trade) ทั้งนี้ แม้จะคาดการณ์ว่าการพิมพ์เงินใหม่จะยุติลงในเดือนตุลาคมนี้ แต่ธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ซื้อพันธบัตรคุณภาพสูงดังกล่าวไปแล้วเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์และน่าจะมีนโยบายที่จะคงปริมาณดังกล่าวต่อไปอีก 2-3 ปี แปลว่าเมื่อพันธบัตรหมดอายุก็จะนำเอาเงินที่ได้มาซื้อพันธบัตรเพิ่มให้ปริมาณพันธบัตรที่ธนาคารกลางสหรัฐคงที่ต่อไป มิฉะนั้นจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดลดลง

เมื่อเชื่อมั่นเช่นนี้ก็จะมีลู่ทางในการทำกำไรส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยพันธบัตรในประเทศตลาดเกิดใหม่เช่นไทย (พันธบัตร 10 ปีดอกเบี้ย 3.7%) กับดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐ (พันธบัตร 10 ปีดอกเบี้ย 2.5%) หากมั่นใจว่า

1. ธนาคารกลางสหรัฐคงสภาพคล่องที่เหลือเฟือเอาไว้อย่างต่อเนื่องและคงดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและราคายาวให้ต่ำคงที่อย่างต่อเนื่อง

2. ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าและหากแข็งค่าเพราะการไหลเข้าของเงินทุนก็ยิ่งจะทำให้ได้กำไรมากขึ้น

3. มั่นใจว่าประเทศไทยดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่รัดกุมมีวินัย แต่ในขณะเดียวกันก็จะไม่ใช้มาตรการควบคุมการไหลเข้า-ออกของเงินทุน (capital control)

กล่าวคือ การที่ไทยมีวินัยทางการเงินการคลัง ในขณะที่สหรัฐ (ซึ่งเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินของโลก) ดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างสุดกู่นั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทยครับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : การลงจากหลังเสือ เยลเลน

view