สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

70 ปี : ระบบการเงินโลกจะไปทางไหนต่อ

70 ปี : ระบบการเงินโลกจะไปทางไหนต่อ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




อาทิตย์ที่แล้วหลังผมเขียนเรื่องธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ของกลุ่มประเทศ BRICS ก็มีเพื่อนนักวิชาการต่างประเทศ

ส่งบทสรุปการสัมมนา 70 ปี After the Bretton Woods จัดที่เมือง Cusco ประเทศเปรู เมื่อเดือนที่แล้วมาให้ ผมเองไม่ได้ไปร่วมสัมมนาเพราะติดงานที่กรุงเทพฯ วันนี้ก็เลยอยากจะเขียนเรื่องนี้ว่าระบบการเงินโลก 70 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และกำลังเดินไปทางไหน โดยเอาสาระบางส่วนมาจากบทสรุปการสัมมนาที่ได้รับ

ที่พูดถึง 70 ปี ระบบการเงินโลก หมายถึง 70 ปีหลังการจัดตั้งระบบ Bretton Woods ซึ่งเป็นชื่อเมืองในรัฐนิวแฮมเชอร์ (New Hampshire) สหรัฐอเมริกา ที่เป็นสถานที่ประชุมที่นำมาสู่การจัดตั้งระบบการเงินโลก ที่เรียกว่า Bretton Woods System เพื่อให้เป็นระบบการเงินของเศรษฐกิจโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หัวใจของระบบนี้ก็คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะผูกค่าตายตัวกับราคาทองคำที่ระดับ 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อเอาซ์ (Ounce) และอัตราแลกเปลี่ยนประเทศอื่นๆ ก็จะถูกกำหนดค่าตายตัวกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเงินโลกตั้งแต่ปี 1944 ที่มุ่งลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลต่างๆ เพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุน และถ้าประเทศใดมีปัญหาดุลการชำระเงินรุนแรง ประเทศนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนระดับที่กำหนดค่าเงินของตนกับเงินดอลลาร์สหรัฐได้ เพื่อแก้ไขปัญหา (คือลดค่าเงิน) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และธนาคารโลกได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลและสนับสนุนการทำงานของระบบ Bretton Woods ดังกล่าว

ระบบ Bretton Woods ทำงานได้ค่อนข้างดีในช่วงสามสิบปีแรก การค้าโลกมีการขยายตัวดี นำมาสู่การเติบโตของเศรษฐกิจ แต่พอถึงปี 1971 การผูกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกับทองคำก็ถูกยกเลิก เพราะสหรัฐซึ่งเงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาก จากการขาดวินัยด้านการคลัง และชดเชยการขาดดุลโดยการกู้ยืมจากธนาคารกลาง ทำให้เศรษฐกิจโลกท่วมไปด้วยเงินดอลลาร์ พัฒนาการดังกล่าวสร้างแรงกดดันให้สหรัฐสูญเสียทองคำที่ตนเองถืออยู่ เพราะประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล มีเงินดอลลาร์ก็พยายามเอาดอลลาร์มาแลกเป็นทองคำตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนด การยกเลิกทำให้ระบบการเงินโลกเข้าสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่ค่าเงิน หรืออัตราแลกเปลี่ยนถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ระบบใหม่นี้เป็นระบบที่อยู่กับเศรษฐกิจโลกมาถึงปัจจุบัน ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลายครั้งพร้อมกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่เติบโตมาก ณ จุดนี้จึงมีคำถามว่า ระบบการเงินโลกภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวจะไปอย่างไรต่อ และเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังสามารถครองความเป็นสกุลหลักของโลกต่อไปได้หรือไม่

คำตอบก็คือ ระบบการเงินโลกแบบปัจจุบันที่เน้นการทำงานของกลไกตลาดคงอยู่ต่อไป แต่การควบคุมดูแลโดยกฎระเบียบจะมีมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของระบบ แต่ตัวระบบเองก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลง จากระบบเดิมที่เน้นความสำคัญของเงินสกุลเดียว คือ ดอลลาร์สหรัฐ และองค์กรอย่าง ไอเอ็มเอฟ ไปสู่ระบบการเงินที่มีความหลากหลายในหลายมิติ กล่าวคือ

หนึ่ง องค์กรการเงินที่มีหน้าที่สนับสนุนและสอดส่องดูแลการทำงานของระบบการเงินโลก มีความหลากหลายขึ้น ตัวอย่างล่าสุดของคือ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่ที่จะทำหน้าที่คล้ายไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่าระบบการเงินโลกกำลังลดการพึ่งบทบาทขององค์กรเดิมๆ เช่น ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ไปสู่การเสริมให้มีทางเลือกมากขึ้น สำหรับประเทศต่างๆ ทั้งเพื่อการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

สอง มีความร่วมมือทางการเงินในระดับภูมิภาคมากขึ้น (Regionalism) ทั้งเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น โครงการความร่วมมือในระดับภูมิภาคของเอเชีย คือ CMIM ที่ได้เขียนถึงอาทิตย์ที่แล้ว และการจัดตั้งธนาคารเพื่อส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระดับภูมิภาค จุดเปลี่ยนแปลงก็คือ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และลาตินอเมริกา ได้มีการรวมตัวทางการเงินในระดับภูมิภาคมากขึ้น เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ แทนที่จะพึ่งระบบหรือองค์กรในระดับ “โลก” อย่างเดียว

สาม ความเป็นผู้นำของเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะเงินสกุลหลักของโลก กำลังถูกท้าทาย ส่วนหนึ่งมาจากความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของสหรัฐเอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากความเข้มแข็งของประเทศอื่นๆ ที่มีมากขึ้น เช่น จีน ทำให้การใช้สกุลเงินเพื่อการค้าและลงทุนในเศรษฐกิจโลกกำลังกลายมาเป็นระบบการใช้เงินหลายสกุล ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐสกุลเดียว มีการใช้เงินสกุลอื่น เช่น ยูโร และเงินหยวนของจีน เป็นทางเลือกนอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐ

การเปลี่ยนแปลงในทั้งสามมิติ กำลังทำให้ระบบการเงินโลกเดินออกจากระบบเดิม ที่เน้นการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐและการทำหน้าที่ขององค์กรเดิมอย่างไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ในการกำกับดูแลและสนับสนุนเศรษฐกิจโลก มาเป็นระบบหลายมิติ (Multi-Polar System) ทั้งในแง่สกุลเงิน และความหลากหลายขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้ประเทศต่างๆ มีทางเลือกมากขึ้น ไม่พึ่งพาองค์กรหรือเงินสกุลใดสกุลหนึ่งเป็นพิเศษ

อะไรเป็นสาเหตุที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงนี้ คำตอบก็คือ

หนึ่ง ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ความผันผวนจากการไหลเข้าออกของเงินทุนระหว่างประเทศ มีมากขึ้นชัดเจน จนนำไปสู่การเกิดวิกฤติเศรษฐกิจบ่อยครั้ง เรื่องนี้ทำให้องค์กรกำกับดูแลอย่างไอเอ็มเอฟ ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของระบบเดิม คือ อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ต้องปรับตัวมากเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหามักถูกมองว่าใหญ่เกินกว่าที่องค์กรเดียวจะสามารถดูแลได้ นำไปสู่ความพยายามที่จะมีองค์กรใหม่เข้ามาเสริม

สอง การประสานนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักเพื่อแก้ไขปัญหาดูล้มเหลว อันนี้ชัดเจนจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น เพราะระบบปัจจุบันไม่สามารถโน้มน้าวให้ประเทศอุตสาหกรรม ประสานนโยบายเศรษฐกิจให้สอดคล้องกันเพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ตรงกันข้ามแต่ละประเทศต้องการใช้นโยบายเศรษฐกิจของตนดูแลเศรษฐกิจของตน ทำให้การประสานนโยบายไม่ประสบความสำเร็จ ผลก็คือวิกฤติเศรษฐกิจแก้ไขยาก ยืดเยื้อ และส่งผลกระทบไปทั่วมากกว่าที่ควรจะเป็น

สาม ธรรมาภิบาลในการกำกับดูแลการทำงานของระบบการเงินโลกผ่านองค์กรจัดตั้งสององค์กร คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกก็ถูกมองว่าล้มเหลว ทั้งในแง่สิทธิการออกเสียงของประเทศสมาชิกที่ถูกครอบงำโดยประเทศอุตสาหกรรมหลัก และวิธีสรรหาผู้บริหารสูงสุดของทั้งสององค์กรที่มีประเพณีปฏิบัติเข้าข้างประเทศอุตสาหกรรมหลัก คือ เบอร์หนึ่งจะเป็นคนจากสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป เท่านั้น ประเด็นนี้มีผลให้การเปลี่ยนแปลงในการทำงานของสององค์กรนี้เกิดขึ้นยาก และไม่ให้ประโยชน์ต่อประเทศตลาดเกิดใหม่เท่าที่ควร

แล้วประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไทยจะอยู่อย่างไรกับระบบการเงินแบบนี้

เพราะประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็ก ระบบการเงินโลกที่ผันผวนแบบปัจจุบัน ทำให้ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่มีอยู่ตลอด ทั้งจากกระแสเงินทุนไหลเข้าออกที่รุนแรง จากการดำเนินนโยบายของตนเองที่อาจผิดพลาด และจากผลกระทบที่มาจากปัญหาของประเทศอื่น ขณะที่การพึ่งพาองค์กรที่จะดูแลการแก้ไขปัญหา เช่น ไอเอ็มเอฟ ก็มีข้อจำกัด ทำให้ประเทศตลาดเกิดใหม่จำเป็นต้องพยายามพึ่งตนเองเอาไว้ให้มากเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ โดย

หนึ่ง มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่มากพอ สอง เน้นใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ยืดหยุ่นในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ สาม รักษาวินัยด้านการเงินและการคลังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เศรษฐกิจเกิดปัญหาความไม่สมดุล และสี่ พยายามรักษาระบบสถาบันการเงินของตนให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพ นี้คือระบบการเงินโลกปัจจุบัน และวิธีการอยู่รอดที่ตรงกับแนวคิดของพุทธศาสนาที่ว่า โลกคือความไม่แน่นอน การพึ่งตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 70 ปี ระบบการเงินโลก ไปทางไหนต่อ

view