สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความสำคัญของการส่งออก

ความสำคัญของการส่งออก

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ผมเคยได้ยินคนตั้งคำถามว่าการส่งออกนั้นสำคัญจริงหรือ เพราะแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยจะส่งออกสินค้าและบริการ

(ส่วนของบริการนั้นคือการท่องเที่ยวเป็นหลัก) ประมาณ 75% ของจีดีพี แต่บางคนตั้งแง่ว่าแม้จะสูงถึง 3 ใน 4 ของจีดีพี แต่การนำเข้าก็ประมาณ 72-73% ของจีดีพีเช่นกัน ทำให้การส่งออกสุทธิมีสัดส่วนเพียง 2-3% ของจีดีพีเท่านั้น จึงไม่น่าที่จะพูดได้ว่าการส่งออกมีความสำคัญขนาดนั้น เพราะเสมือนว่าประเทศไทยซื้อมาขายไป ขณะที่การบริโภคของเอกชนมีสัดส่วน 55-60% ของจีดีพีน่าจะสำคัญกว่ามาก นอกจากนั้นการลงทุนของเอกชนก็ประมาณ 20% ในขณะที่ภาครัฐใช้จ่ายประมาณ 17-18% ของจีดีพีก็ยังมีสัดส่วนสูงกว่าการส่งออกสุทธิอย่างมาก

คำตอบคือการส่งออกนั้นยังไงๆ ก็มีความสำคัญอย่างมากและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ตารางประกอบ)

จะเห็นได้ว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยนั้นพึ่งพาการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 35 ปีจากปี 1970 ถึงปี 1995 (ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองสูงสุดจนเกิดฟองสบู่ที่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997) นั้น สัดส่วนการส่งออกต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 14.9% มาเป็น 41.8% สรุปอย่างรวบรัดก็คือประเทศไทยนั้นหากินโดยการส่งออกเป็นหลักนั่นเอง ทั้งนี้เพราะความเป็นเศรษฐกิจขนาดเล็กทำให้ 1.ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าและบริการหลายชนิดที่ผลิตเองไม่ได้ และ 2.ตลาดต่างประเทศใหญ่กว่าและมีศักยภาพมากกว่าตลาดภายใน กล่าวคือประเทศไทยมีขนาดเล็กทั้งในเชิงของอุปสงค์ (ที่ไทยจะขายผลผลิต) และอุปทาน (ที่ไทยต้องพึ่งสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ไม่มีในประเทศ)

การส่งออกเป็นลู่ทางไปสู่การทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี หมายความว่า การส่งออกคือการได้มาซึ่งเงินตราระหว่างประเทศ (80% เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ) ที่จะนำไปซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าและนำไปขายเพื่อทำกำไรหรือนำไปซื้อสินค้าทุนเพื่อลงทุนพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนาคตหรือนำไปซื้อสินค้านำเข้าเพื่อบริโภค ดังนั้น การส่งออกจึงมีความสำคัญยิ่ง จะนำเอาการนำเข้าไปหักออกแล้วบอกว่าการส่งออกสุทธิมีเพียงนิดเดียวจะเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด

แต่เวลาคำนวณจีดีพีนั้นแน่นอนว่าจะต้องหักมูลค่านำเข้าออก เพราะการนำเข้าคือการสร้างรายได้ให้กับต่างประเทศ แต่เวลาเราคำนวณจีดีพีนั้นเรากำลังคำนวณรายได้ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในช่วง 1970-1995 นั้นการส่งออกสุทธิติดลบมาโดยตลอด หากใช้การส่งออกสุทธิเป็นเกณฑ์ของการวัดความสำคัญก็จะสรุปอย่างผิดๆ ว่าการส่งออกสุทธิ (ที่ติดลบ) เป็นผลเสียกับเศรษฐกิจไทย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องเพราะการส่งออกสุทธิที่ติดลบนั้นเป็นการสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีลู่ทางในการลงทุนสูงและมีการเร่งรัดการลงทุนเพื่อเร่งรัดการพัฒนาประเทศจนเกินกว่ารายได้ของประเทศในขณะนั้น ทำให้ต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศโดยการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศในรูปของเจ้าของกิจการและ/หรือเป็นเจ้าหนี้ของไทยนั่นเอง

แต่การกู้ยืมเงินและนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศนั้นหากทำมากเกินควร เช่น ในช่วง 1993-1997 ก็ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงได้เช่นกัน คือ กู้เงินเกินความสามารถและสร้างฟองสบู่ทางเศรษฐกิจที่แตกสลายและนำไปสู่วิกฤติในปี 1997 (แต่ในครั้งนั้นคงจะไปกล่าวโทษนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ถนัดนัก เพราะตอนนั้นภาคการเมืองยังอ่อนแอรัฐบาลเลือกตั้งเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยครั้ง) ประเด็นสำคัญคือช่วงหลังวิกฤติกระบวนการปรับตัวทางเศรษฐกิจไทยภายใต้ไอเอ็มเอฟมุ่งเน้นการลดการใช้จ่ายในประเทศและเร่งรัดการส่งออก (ส่วนหนึ่งเพื่อคืนหนี้ต่างประเทศจะได้ไม่ต้องพักชำระหนี้) ทำให้ไทยยิ่งต้องพึ่งพาภาคการส่งออกมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพิ่มขึ้นจาก 41.8% ของจีดีพีในปี 1995 เป็น 73.6% ของจีดีพีในปี 2005 และอยู่ระดับนี้มาอย่างต่อเนื่อง

กล่าวโดยสรุปคือ ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมา 50 ปีแล้วและคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไป ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างใด เพราะมีการเปลี่ยนแปลงภายในโครงสร้างการส่งออกในช่วงดังกล่าว คือสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยส่งออกทรัพยากรธรรมชาติของเราเป็นหลัก จนกระทั่งทรัพยากรหมดก็หันมาพึ่งพาการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ โดยกีดกันสินค้าต่างประเทศด้วยกำแพงภาษีศุลกากรในช่วงทศวรรษที่ 60 แต่ทำไปไม่ได้นานก็พบว่าตลาดภายในมีข้อจำกัด เพราะมีขนาดเล็กมากจึงต้องหันมาส่งเสริมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเบาที่ใช้แรงงาน เช่นสิ่งทอ เครื่องหนัง ของเล่นเด็ก เครื่องประดับ ฯลฯ ในทศวรรษที่ 70 ต่อมาก็ค้นพบก๊าซธรรมชาติทำให้สามารถก่อตั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น รถยนต์และผลิตก๊าซที่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมจึงเฟื่องฟูอย่างยิ่งในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การพัฒนาของอุตสาหกรรมไทยใน 30 ปีให้หลัง เป็นการเชื้อเชิญให้บริษัทข้ามชาติมาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกไปขายในตลาดอาเซียนและตลาดโลก โดยเฉพาะในการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ลำดับที่ 9 ของโลก ในขณะที่จีดีพีของไทยนั้นอยู่ที่ระดับ 29 ของโลก


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ความสำคัญ การส่งออก

view