สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระบบนิเวศของเศรษฐกิจ ยุคศตวรรษที่ 21

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ CSR Talk โดย พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการโปรแกรมความรับผิดชอบต่อสังคม สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

ปัจจุบันมีการพูดถึงเรื่องของความยั่งยืนกันจนเป็นเรื่องปกติของการสร้างความเติบโตของธุรกิจ ในทุกองค์กรที่เป็นภาคธุรกิจเชิงการผลิตและเชิงอุตสาหกรรมต่างควานหาวิธีที่จะสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ในระยะยาว โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบซึ่งกันและกัน

และไม่โดนเป็นเชลยของสังคมว่าเป็นตัวการให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานไม่มีทรัพยากรและระบบนิเวศทางธรรมชาติ เพื่อเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตและการพัฒนาต่อไปในอนาคต

ในกลุ่มประเทศฝั่งยุโรปมีการพูดถึงแนวทางในอนาคตเพื่อรักษาความยั่งยืน ด้วยการคิดโมเดลเศรษฐกิจวงรอบ (Circular Economy) เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายด้านการพัฒนาที่ต้องแลกมาด้วยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แบบที่เรารู้จักว่าเป็นระบบเส้นตรง (Linear) ที่เน้นกระบวนการผลิตเป็นจุด ๆ

ไม่ได้สร้างความเชื่อมโยง และยังสร้างของเสียที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รับผิดชอบในการจัดการของเสียเหล่านั้น ทั้งก่อนและหลังจากของเสียเหล่านั้นเกิดขึ้น

ระบบเส้นตรงให้ความสำคัญอยู่ที่การใช้ทรัพยากรเพื่อนำมาเป็นปัจจัยนำเข้าในการผลิต ทำให้จบลงที่ขยะจำนวนมหาศาล และในท้ายที่สุด เราต้องใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาอีกเพื่อจัดการขยะเหล่านั้นให้หมดไป หรือกลายเป็นว่าชุมชนที่อยู่รายล้อมต้องมารับเคราะห์ รับผลกระทบที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนก่อ

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์ใช้ทรัพยากรโลกหมดไปร้อยละ 30 แล้ว และก่อมลพิษและขยะมากมาย อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบเชิงนิเวศและวิถีชีวิตทางสังคมอีกด้วย

ดังจะเห็นว่าหากเราต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อมาเป็นปัจจัยนำเข้าของการผลิต เราจะพบว่าบริเวณพื้นที่ดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นจะโดนโยกย้ายไป เพื่อให้สะดวกในการตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณนั้นมาใช้ในวันนี้

ในยุคสมัยที่มีการพูดเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืนกันมากขึ้น โมเดลทางเศรษฐกิจได้รับการทบทวนว่าเป็นคุณเป็นโทษกับโลกใบนี้มากน้อยเท่าไหร่ เศรษฐกิจวงรอบ หมายถึงระบบการผลิตที่จะไม่มีของเสีย โดยของเสียของธุรกิจหนึ่งจะเป็นวัตถุดิบต้นทางของอีกธุรกิจเสมอ การ Reuse-Recycle จะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจนี้

ตัวอย่างความพยายามที่จะตอบโจทย์นวัตกรรมเศรษฐกิจวงรอบ เช่น นาย Henry Saint-Bris, Senior Vice-President Strategy ของ Suez Environment ให้ความเห็นว่า ของเสียจากอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ สามารถเป็นเชื้อเพลิงของอีกอุตสาหกรรมหนึ่งได้ และเห็นว่าเศรษฐกิจแบบ Circular Economy จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในโมเดลของการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ

อีกทั้งเห็นว่าในด้านนโยบาย การส่งเสริมการรีไซเคิลจะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการอุดหนุนพลังงานทดแทน สหภาพยุโรปเสนอเป้าหมายใหม่ของการ Recycling เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ ห้ามฝังกลบขยะที่นำไปใช้ได้อีกครั้ง (Recyclable)

หลังปี 2025 นำขยะประจำวันมาใช้อีกครั้ง (Recycle) ร้อยละ 70 และนำวัสดุห่อและบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ไปใช้ร้อยละ 80 ลดขยะที่ทิ้งลงทะเลและขยะที่เป็นเศษอาหาร เพื่อลดผลกระทบของเศรษฐกิจต่อสิ่งแวดล้อม และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ลดอุปสงค์ของทรัพยากรที่มีราคาแพงและมีปริมาณอุปทานน้อย

การสร้างงานในภาคการจัดการขยะ การลดลงของค่าดำเนินการของภาคธุรกิจ สหภาพยุโรปมุ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจวงรอบโดยการออกแบบให้ผลิตภัณฑ์สามารถซ่อม อัพเกรด และนำไปใช้อีกครั้งได้ง่าย สร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้นาน และมีขั้นตอนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ลดการใช้วัตถุดิบที่อันตราย หรือยากต่อการในไปใช้อีกครั้ง

สร้างแรงจูงใจในการลดปริมาณขยะ เปลี่ยนขยะให้เป็นวัตถุดิบโดยใช้ความก้าวหน้าเชิงเทคนิค เศรษฐกิจวงรอบจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ดึงออกมาจากธรรมชาติให้เกิดประโยชนสูงสุด หรือไม่ให้เกิดของเสียเลย

โดยการนำเอาของเสียจากธุรกิจหนึ่งจะกลายไปเป็นวัตถุดิบของอีกธุรกิจหนึ่งต่อไปเรื่อย ๆ เป็นวาระที่เราต้องเลือกว่าจะไปทางที่แข่งขันกันสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต สร้างความมั่งคั่ง แล้วค่อยเอาเงินนั้นมาซ่อมสร้างความเสียหาย หรือจะสร้างเศรษฐกิจขนาดย่อย ๆ ที่ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเอง

บริโภคแบบพอดีคู่กับการรักษาระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่เราสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขเอาไว้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ ศตวรรษที่ 21

view