สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กระตุ้นการบริโภค... ไทย ยิ่งดิ่งลงเหว

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

เสียงเรียกร้องอย่างมากมายให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลชุดใหม่เร่ง "กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ"

เรียกร้องให้รัฐบาลหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ยมาเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากการส่งออกของประเทศไทยติดลบ ไม่อาจพึ่งพาได้ เพื่อจุดมุ่งหมายให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตขึ้นไปด้วยตัวเลขสูง ๆ

เสียงเรียกร้องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่กำลังนำพาประเทศไทยไปถูกทางแล้วหรือไม่ ?? หรือกำลังจะพาประเทศไทยดิ่งลงเหวลึก ??

ขณะที่อนาคตประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ "สังคมผู้สูงวัย"

เห็นได้จากตัวเลขการศึกษาและวิจัยของหน่วยงานระหว่างประเทศ World Population Prospect, the 2013 Revision,  United Nations. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าปี 2556 ประเทศไทยมีประชากร 64.62 ล้านคน

ในจำนวนนี้มีประชากรอายุต่ำกว่า 15 ปีถึง 18.7% ในปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรอายุเฉลี่ยระหว่าง 20-35 ปี ประมาณ 12% สะท้อนให้เห็นว่า ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยในอีก 19 ปีข้างหน้า จะเป็นผู้สูงอายุ เพราะมีจำนวนประชากรในวัยทำงานน้อยมาก

การเก็บออมเพื่อใช้หลังวัยเกษียณถือเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ ??

แต่หากมีนโยบายให้เร่งจับจ่าย เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ตอนนี้จะเกิดอะไรขึ้น ??

ในการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) 2557 หลักสูตรความรู้เศรษฐกิจสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้ "นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์" ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ ได้ให้เกียรติมาเป็นวิทยากร และได้สะท้อนมุมมองส่วนตัวต่อนโยบายกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศว่า...

การเพิ่ม "ศักยภาพในการเจริญเติบโต" หรือ "Growth Potential" ถือเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า "การกระตุ้นเศรษฐกิจ" ถือเป็นเรื่องรองลงไป

"การกระตุ้นเศรษฐกิจ" จะทำเมื่อจำเป็นจริง ๆ กรณีอัตราการขยายตัวของประเทศติดลบมาก ๆ แต่ปีนี้อัตราการขยายตัวของประเทศน่าจะประมาณ 1.5-2% ตามที่สภาพัฒน์คาดการณ์ ซึ่งผมเห็นด้วย จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เศรษฐกิจไทยเงยหัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

โดยอัตราการขยายตัวน่าจะมาจากการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่เรื่องใหญ่ในการเบิกจ่ายของภาครัฐ ต้องดูเรื่องความซื่อสัตย์โปร่งใส และต้องเตรียมโครงการให้ดีก่อนจะเบิกจ่าย นอกจากนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดปีนี้คาดว่าจะเกินดุลอยู่ 2.6%

นายโฆสิตย้ำว่า สิ่งที่ควร "หลีกเลี่ยง" ไม่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง คือ "การสนับสนุนให้ประชาชนบริโภค"

หากย้อนไปดูในอดีตจะเห็นว่า ถ้าประชาชนบริโภคมาก หนี้สินเพิ่มขึ้น โดยปี 2557 ระดับหนี้ครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 82% ของจีดีพี

"การออม"
ของภาคครัวเรือนไทย "ลดลง" อย่างน่าตกใจ ! โดยปี 2542 ตัวเลขการออมของคนไทยอยู่ที่ 10% แต่ล่าสุดลงมาเหลือ 5%

โดยนายโฆสิตสะท้อนว่า เงินออมเหล่านี้จำเป็นมากขึ้นทุกวัน วันนี้คนไทยอายุขัยเฉลี่ย 70 ปี เพราะฉะนั้นโดยเฉพาะผู้ชายจะมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 70 ปี หลังเกษียณต้องมีเงินดูแลตัวเองอีก 10 ปี ผู้หญิงจะมีอายุไขเฉลี่ย 87 ปี หลังเกษียณต้องมีเงินดูแลตัวเองอีก 27 ปี

"เพราะฉะนั้นแนวทางที่ยุให้เกิดการบริโภค เพื่อมาสนับสนุนความเจริญระยะสั้น มันฆ่าครอบครัวไทย เดินไปสู่ความยากลำบาก เป็นบาป อย่าไปทำ"

ไม่มีใครดูแลใครในสมัยหน้า หากแก่ตัวไป เพราะฉะนั้นต้องมีการออมเงินเป็นเรื่องใหญ่สุด ๆ

แนวทางที่ถูกต้อง คือ เรื่องการสร้างศักยภาพของประเทศ เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ประชาชน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของความคิด ถ้าความคิดนี้ไม่ได้รับการอธิบาย และไม่มีการทำความเข้าใจลำบาก

ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องให้การเติบโตระยะสั้นสูง

ดังนั้น เสียงเรียกร้องอย่างมโหฬารของนักธุรกิจตอนนี้ อาจไม่ใช่วิถีที่ทำให้ความเจริญเติบโตของประเทศไทยดีขึ้น


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กระตุ้นการบริโภค ไทย ดิ่งลงเหว

view