สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ระดมสมอง ปกรณ์ วิชยานนท์

ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศในเดือนพฤษภาคม 2557 แทบทุกฝ่ายเห็นได้ชัดว่าบ้านเมืองไทยมีความสงบเรียบร้อยและบรรยากาศทางเศรษฐกิจดีขึ้น นอกจากนั้นยังมีความพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน หรือ "ปฏิรูป" ประเทศในหลายแง่มุม เช่น จัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ผู้ที่อยู่ในวงการตลาดเงินทุน อาจสงสัยว่าแล้วจะมีการปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบ้างหรือไม่ และในทิศทางใด


ก่อนจะวิเคราะห์คำถามดังกล่าว ควรพิจารณาย้อนหลังไปถึงวิวัฒนาการของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหล่านั้น ว่าก่อตั้งมาเพื่อจุดประสงค์ใด และที่ผ่านมาประสบความสำเร็จหรือมีปัญหามากน้อยเพียงไร

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สถิติการกระจายรายได้ของไทย แสดงให้เห็นชัดว่าแม้รายได้ประชาชาติส่วนรวมที่แท้จริงได้ขยายตัวโดยเฉลี่ยในอัตราที่น่าพอใจ แต่ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าวิตก

รัฐบาลไทยเคยวางกฎเกณฑ์หลายประการ บังคับให้ "สถาบันการเงินเอกชน" ปล่อยสินเชื่อแก่ผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น สินเชื่อแก่ภาคเกษตรกรรม สินเชื่อสู่ชนบท และสินเชื่อท้องถิ่น เพราะหากจะให้ลูกค้ารายย่อยมีโอกาสปรับปรุงฐานะและธุรกิจของตนให้ดีขึ้น ต้องสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

อย่างไรก็ตาม แรงแข่งขันของกลไกตลาด ได้สร้างปัญหาขึ้นเป็นอันมาก เกี่ยวกับสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อย เพราะสถาบันการเงินเอกชน ไม่ยินดีที่จะปล่อยสินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยที่ขาดหลักประกันและก่อความเสี่ยงสูง

ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สร้างรายได้กว่า 3.9 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 40% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) แต่ 2 ใน 3 ของเอสเอ็มอีเหล่านี้ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงินเอกชน เพระติดปัญหาในเรื่องหลักประกัน

รัฐตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาข้างต้น จึงได้จัดตั้ง สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (สงฉ.) ขึ้นหลายแห่ง เพื่อทำหน้าที่หมุนเวียนเงินทุนไปสู่ลูกค้ารายย่อยที่มีรายได้น้อยและขาดหลักประกันสินเชื่อสงฉ.ที่จัดตั้งมานานแล้ว ได้แก่ ธนาคารออมสิน (พ.ศ. 2490) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (พ.ศ. 2496) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (พ.ศ. 2509)

ส่วน สงฉ.แห่งใหม่ ๆ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2536) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2545) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2545)

หากพิจารณาสถิติเงินฝากและสินเชื่อของ 6 สงฉ.ที่กล่าวข้างต้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าทั้ง 6 สงฉ.ได้ทำธุรกรรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่นเงินฝากที่ 6 สงฉ.ระดมได้นั้น สูงขึ้นจาก 20% ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2546 ไปสู่ระดับ 30-35% ในปี 2554-2556

ทางด้านสินเชื่อสู่ภาคเอกชนที่ไม่รวมธุรกิจการเงินก็เช่นกัน เพิ่มขึ้นจาก 20% ไปสู่ระดับ 37-40% หากพิจารณาภาพรวมของระบบการเงินแล้ว ทั้ง 6 สงฉ.มีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน เพราะถือส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ จาก 16% ในปี 2546 ถึงระดับ 27% ในปี 2556

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูรายละเอียดถึงคุณภาพสินทรัพย์แล้ว แทบทุกฝ่ายคงข้องใจในประสิทธิภาพของการบริหารงานและความเสี่ยงของ 6 สงฉ.นี้ เพราะ 6 สงฉ.เหล่านี้ถือสินเชื่อที่ไม่ก่อรายได้ หรือ NPLs ในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์เป็นอันมาก (เช่น 38% และ 3% ตามลำดับ) นอกจากนั้น รัฐยังต้องรับภาระในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเข้าพยุงฐานะของ สงฉ.เหล่านี้อีกด้วย

ดังนั้น จึงควรปฏิรูป สงฉ.อย่างแน่นอน แต่จะในทิศทางใด และอย่างไร ควรวิจัยเจาะลึกเข้าไปถึงคำถามพื้นฐานก่อน ว่าเป็นเพราะสาเหตุใดที่ทำให้ สงฉ.ประสบปัญหาขาดทุน และถือ NPLs ที่สูงมาก

คำตอบ ที่นอกเหนือจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่บริหาร และความคดโกงหรืออิทธิพลทางการเมืองก็มีหลายประการ ได้แก่ 1.เจ้าหน้าที่มีจุดอ่อนในการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า 2.ลูกค้ารายกลางและรายย่อยที่มีความสามารถในการชำระหนี้ดี มีจำนวนน้อยในเขตการบริหารงานของแต่ละสาขาของ สงฉ. 3.หลังจาก สงฉ.ปล่อยสินเชื่อแล้ว ขาดการกำกับดูแลและติดตามธุรกิจของลูกหนี้อย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ ทำให้ลูกหนี้บางรายไม่ชำระหนี้คืนตามข้อตกลง 4.สงฉ.กระจายประเภทลูกค้าน้อยไป ทำให้ความเสี่ยงโดยเฉลี่ยอยู่ในระดับสูง

หากพิจารณาโครงสร้างสาขาของ สงฉ.แล้ว จะเห็นว่าการร่วมมือหรือประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสาขา (Pooling)  ของ สงฉ.ประเภทต่าง ๆ จะเป็นช่องทางที่สามารถช่วยแก้ปัญหาและก่อประโยชน์ได้หลายประการ ทั้งนี้ เพราะ สงฉ.มีสาขาจำนวนเฉลี่ยที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ (เช่น ช่วงกลางปี 2557 ธนาคารพาณิชย์ไทย 16 ธนาคาร มีสาขาทั้งสิ้น 6,852 สาขา ในขณะที่ สงฉ.6 แห่ง มีสาขาทั้งสิ้น 2,676 สาขา) แต่สาขาของ สงฉ.กลับกระจายตัวตามเขตชนบทของประเทศได้กว้างไกลกว่าธนาคารพาณิชย์เป็นอันมาก ดังนั้น รัฐควรพิจารณาใช้กลยุทธ์ Pooling เครือข่ายสาขาของ สงฉ.เข้าด้วยกันดังต่อไปนี้

1.ประสานงานกันเพื่อ สงฉ.ประเภท ก. ปล่อยสินเชื่อหรือให้บริการทางการเงินที่ สงฉ.ประเภท ข. ปล่อยหรือให้ตามปกติ การประสานงานกันเช่นนี้ เสมือนกับเป็นการเพิ่มจำนวนสาขาให้แก่ สงฉ.แต่ละประเภท ดังนั้น สงฉ.แต่ละประเภทจะมีลูกค้าให้เลือกและกระจายมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะเพิ่มแรงผลักดันทางด้านสินเชื่อแก่ธนาคารพาณิชย์ด้วย

2.ติดตามกำกับและเรียกชำระคืนสินเชื่อที่กล่าวถึงในข้อ 1 เพราะการประสานงานเช่นนี้จะทำให้ สงฉ.แต่ละประเภทสามารถติดตามกำกับดูแลลูกค้าของตนได้อย่างรอบคอบและใกล้ชิดมากขึ้น และยังช่วยกระจายความเสี่ยง และลดความเสี่ยงโดยเฉลี่ยให้แก่ สงฉ.ได้

3.เนื่องจาก สงฉ.แต่ละประเภทถือโครงสร้างสภาพคล่อง หรืออายุชำระคืนของสินทรัพย์และหนี้สินต่างกัน เช่น ค่อนข้างสั้นสำหรับ ธ.ก.ส. และค่อนข้างยาวสำหรับ ธอส. ดังนั้น การประสานงานของสาขา สงฉ.แบบ Pooling จะช่วยในการบริหารสภาพคล่องให้แก่กันและกัน โดยเปรียบเทียบกับ ATM Pooling ระหว่างธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบที่ใช้ในปัจจุบัน

นอกเหนือจากผลดีในแง่มุมที่กล่าวข้างต้นแล้ว รัฐยังมีผลพลอยได้อีกสองประการ คือหนึ่ง-เนื่องจาก Pooling ทำให้กลุ่ม สงฉ.สามารถพึ่งตัวเองได้มากขึ้น และรัฐมีภาระทางการเงินน้อยลงที่จะต้องเข้าไปอุ้ม สงฉ.ที่ประสบปัญหาดังเช่นในอดีต สอง-สถานะของ สงฉ.ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง มิใช่ธนาคารแห่งประเทศไทยดังเช่นธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น การประสานงาน หรือ Pooling ของสาขา สงฉ.คงจะช่วยลดปัญหาการแทรกแซงตลาดโดยมาตรการทางการคลังและการเงิน

โดยสรุป แม้ว่าช่องทางการปฏิรูป สงฉ.ตามที่เสนอนี้อาจประสบอุปสรรคบ้างในด้านบุคลากรขาดความรู้ หรือความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับธุรกรรมของ สงฉ.ต่างประเภทกัน หรือในด้านกฎหมายที่ควบคุม สงฉ. แต่ละประเภท แต่ถ้ารัฐตั้งใจจริงในการปฏิรูปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของ สงฉ.ก็ย่อมสามารถฝึกฝนเพิ่มความรู้และความเชี่ยวชาญให้แก่พนักงานของ สงฉ.ได้อย่างแน่นอน ในด้านกฎหมายก็เช่นกัน มิเช่นนั้นรัฐคงไม่จัดตั้ง สนช.ขึ้นมาเพื่อแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังเช่นปัจจุบัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปฏิรูปสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของรัฐ

view