สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Private QE กระสุนลูกใหม่ของธนาคารกลางยุโรป

Private QE กระสุนลูกใหม่ของธนาคารกลางยุโรป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาผมได้เขียนเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ

ของโลกไปค่อนข้างมากแล้วเดือนนี้ต้องขออนุญาตเขียนอีกครั้ง หวังว่าท่านผู้อ่านคงยังไม่เบื่อนะครับ

ECB ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายและทำ Private QE

โดยล่าสุดก็เป็นไปตามที่เราคาดไว้ ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ได้เข้ามาทำการผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง หลังจากตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อออกมาค่อนข้างน่าผิดหวัง รวมถึงผลกระทบจากความตึงเครียดและมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศในยุโรปและรัสเซีย โดย ECB ได้ประกาศผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมดังนี้

1)ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 10 bps ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์กู้จาก ECB (ที่เรียกว่า refi rate โดยลดลงเหลือ 0.05%) และดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากเงินไว้กับ ECB (ที่เรียกว่า deposit rate โดยลดลงจาก -0.1%เหลือ -0.2% ผมไม่ได้พิมพ์ผิดนะครับ ดอกเบี้ยเงินฝากติดลบจริงๆ นั่นหมายความว่าธนาคารพาณิชต้องจ่ายเงินให้กับ ECB หากจะนำเงินไปฝากไว้ โดยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ก็เพื่อหวังลดต้นทุนการกู้ยืม และเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบธนาคาร ส่วนการลดดอกเบี้ยเงินฝากนั้นมีจุดประสงค์เพื่อลดแรงจูงใจของธนาคารพาณิชย์ที่คิดจะนำเงินมาฝากกับ ECB ให้กลับไปปล่อยกู้ให้กับภาคเศรษฐกิจแท้จริง เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

2)จะทำการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อธนาคารพาณิชย์หนุนหลัง (Asset-Backed Securities: ABS) รวมถึง covered bond (ต้องขอโทษด้วยครับผมหาคำภาษาไทยมาเรียกตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์หนุนหลังตัวนี้ไม่ได้) โดยมาตรการนี้จะเข้าซื้อเฉพาะตราสารหนี้ของภาคเอกชน ซึ่งเป็นที่มาว่าทำไมนักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งถึงเรียกมาตรการนี้ว่า Private Quantitative Easing (Private QE) ซึ่งต่างจาก มาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เข้าซื้อทั้งพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์หนุนหลัง (Mortgage-Backed Securities) ซึ่งช่วงหลังถูกเรียกว่า Public QE

จุดประสงค์หลักเพื่อทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง

โดย ECB จะประกาศรายละเอียดของการเข้าซื้อในการประชุม ECB วันที่ 2 ตุลาคมนี้ และจะเริ่มเข้าซื้อตราสารหนี้ดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคมนี้เลย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะทำให้งบดุล (balance sheet) ของ ECB เพิ่มขึ้นประมาณ 1ล้านล้านยูโร (ปัจจุบัน balance sheet ของ ECB อยู่ที่ประมาณ 2ล้านล้านยูโร) ซึ่งถ้าทำได้ตามเป้าหมายจริงจะทำให้ balance sheet กลับไปมีขนาดเท่ากับช่วงกลางปี 2012 ที่ประมาณเกือบ 3 ล้านล้านยูโร โดยจุดประสงค์หลักของการขยาย balance sheet ก็คือการทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง โดยล่าสุดค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงประมาณ 2% เมื่อเทียบกับก่อนประกาศมาตรการ (มาอยู่ที่ประมาณ 1.29 USD/EUR ณ เช้าวันที่ 10 กันยายน) ซึ่งนับเป็นระดับที่อ่อนค่าที่สุดในช่วงเกือบๆ 2 ปี (ค่าเงินยูโรเมื่อเทียบกับค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี อยู่ที่ประมาณ 41.5 บาท/ยูโร) โดยทาง ECB หวังว่าค่าเงินที่อ่อนลงนี้จะมีส่วนทำให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเพื่อกระตุ้นการส่งออก รวมถึงทำให้ภาวะเงินเฟ้อเริ่มกลับมาสูงขึ้น

จากสถานการณ์ปัจจุบัน เรายังไม่คิดว่า ECB จะทำ Public QE เร็วๆ นี้

ช่วงหลังผมรู้สึกประทับใจกับวิธีการดำเนินนโยบาย และการสื่อสารกับตลาดของผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป นาย Mario Draghi มากขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าผู้ว่าการท่านนี้ไม่เพียงเข้าใจกลไกตลาดเงินตลาดทุนเป็นอย่างดี แต่ยังรู้จักเล่นกับความคาดหวังของนักลงทุนและตลาดได้ดีมากๆ อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากประสบการณ์อันคร่ำหวอดของท่านผู้ว่าการทั้งในวงการธนาคารกลาง วงการเอกชน และมหาวิทยาลัย (โดยก่อนมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ECB นาย Mario Draghi เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของอิตาลี ผู้บริหารของสถาบันการเงินชั้นนำ Goldman Sachs รวมถึงสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก) ซึ่งเราคงต้องตามกันดูต่อไปว่าท่านผู้ว่าการชาวอิตาลีท่านนี้จะมีอะไรมาสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนอีก หนึ่งในความเป็นไปได้คือการทำ QE แบบเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล (Public QE) อย่างที่ธนาคารกลางสหรัฐฯทำ ซึ่ง ECB เองก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดนี้ แต่เราคิดว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในยูโรโชนอยู่ในระดับที่ต่ำมากอยู่แล้ว) รวมถึงนโยบายผ่อนคลายที่ทำมาค่อนข้างมาก ECB น่าจะอยากเก็บกระสุน Public QE ไว้ใช้เมื่อยามจำเป็นจริงๆ มากกว่า


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Private QE กระสุนลูกใหม่ ธนาคารกลางยุโรป

view