สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิด9นโยบายคลังยุคสมหมาย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิด9นโยบายคลังยุค'สมหมาย' มุ่งปฏิรูปภาษี-สร้างความโปร่งใส

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูงส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ วานนี้(15 ก.ย.) โดยกำหนดแนวนโยบายสำคัญ ดังนี้

นโยบายหลักที่กระทรวงการคลังต้องให้ความสำคัญและดำเนินการมี 9 ข้อหลัก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2557 ประกอบด้วย

1.เร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดงบประมาณ 2557 ที่ยังค้างอยู่ ให้หน่วยงานที่กันงบเหลื่อมปีเร่งรัดการเบิกจ่าย โดยเฉพาะในส่วนของงบที่ก่อหนี้ผูกพันแล้วให้เร่งรัดการเบิกจ่ายภายใน 2 เดือน พร้อมทั้งให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบปี 2558 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ สานต่อนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเร่งรัดการเบิกจ่าย และการลงทุนขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังค้างเหลืองบค้างท่อ 3.5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งประสานนโยบายการเงินการคลังให้สอดคล้องกันเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

2.ปฎิรูปภาษีอากรเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ โดยขยายฐานเก็บภาษีประเภทใหม่ที่ได้จากทรัพย์สินทั้งภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ปรับปรุงภาษีด้านการค้า, ทบทวนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ให้แก่ผู้ประกอบการ ,ปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้เหมาะสม เกิดประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย และยกเลิกการยกเว้น หรือการลดหย่อนที่เอื้อประโยชน์ เฉพาะผู้ที่มีฐานะทางการเงินดี เพื่อความเป็นธรรมมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำและทดแทนนโยบายประชานิยม โดยพิจารณานำจ่ายภาษีให้คนจน (Negative Income Tax) มาใช้ เร่งรัดและพัฒนาระบบประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อรองรับภาษีที่เก็บจากทรัพย์สิน, ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้,ทบทวนการคัดค้านหรืออุทธรณ์ภาษีอากรให้เกิดความเป็นธรรม และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

3.ส่งเสริมความยั่งยืนและโปร่งใสทางการคลัง ด้วยการเร่งรัด พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ,บริหารหนี้ภาครัฐ และหนี้รัฐบาลชุดก่อน และหาแหล่งเงินระยะยาว และยืนเวลาการชำระหนี้คืนให้นานที่สุด เพื่อลดภาระงบประมาณในอนาคต,ทบทวนบทบาทและการกำกับดูแลกองทุนนอกงบประมาณ,ทบทวนระเบียบพัสดุให้โปร่งใสและไม่เป็นอุปสรรคต่อการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ

4.พัฒนาและเร่งปรับปรุงระบบบริหารรัฐวิสาหกิจและเร่งฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา ด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐวิสาหกิจที่ชัดเจน,ทบทวนและความจำเป็นของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งและกำหนดบทบาทและทิศทางดำเนินงานที่ชัดเจน,เร่งแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่มีปัญหา 7 แห่ง,ผลักดันการร่วมลงทุนกับเอกชน ผ่านพ.ร.บ.ร่วมลงทุน (พีพีพี)

5.เสริมสร้างความเข้มแข็งและบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(แบงก์รัฐ) และระบบการออม เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ด้วยการปรับบทบาทของแบงก์รัฐให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย รายย่อยเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน และบริการทางการเงิน,ส่งเสริมการเข้าถึงการเข้าถึงเงินทุนของประชาชน(Nano Finance) และภาคธุรกิจ(กฎหมายหลักประกัน) และส่งเสริมความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ,ส่งเสริมกลไกการคุ้มครองทางการเงินให้แก่ผู้บริโภค เช่นพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ,สนับสนุนการพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม ระบบการออม ระบบสวัสดิการชุมชน ตลอดจนการกู้ยืมที่เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ และมีความยั่งยืนมากขึ้น

6.เร่งรัดความพร้อมและความชัดเจนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ทั้งการจัดหาแหล่งเงินทุน พัฒนาด่านตามแนวชายแดน เปิดเผยรายละเอียดแผนการลงทุนเพื่อความโปร่งใสของความน่าเชื่อถือของภาคเอกชนในการตัดสินใจลงทุน และจัดระบบติดตามและประเมินผลการเบิกจ่ายรายโครงการ

7.การบริหารจัดการที่ราชพัสดุและเหรียญกษาปณ์ให้มีประสิทธิภาพ ด้วยการเร่งรัดระบบบริหารจัดการที่ดินให้มีเอกภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งเร่งรัดการประเมินที่ราชพัสดุ 23 ล้านแปลงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว พิจารณาจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ใช้ประโยชน์ตามความจำเป็น โดยที่ดินยังเป็นของรัฐ ทบทวนใช้ที่ราชพัสดุใจกลางเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ บริหารเหรียญกษาปณ์ให้มีประสิทธิภาพและหมุนเวียนเพียงพอสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

8.สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน และนานาประเทศ

9.เปลี่ยนภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังให้เป็นที่รักของประชาชนผู้เสียภาษีทุกระดับ และส่งเสริมความโปร่งใสและธรรมาภิบาล ในทุกระดับ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เปิด9นโยบายคลัง ยุคสมหมาย

view