สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจยุโรป

เศรษฐกิจยุโรป

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาข่าวที่ทั้งโลกเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดคือ การลงประชามติของสกอตแลนด์

ว่าจะแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งก่อนวันลงประชามติหนึ่ง/สองวัน โทรทัศน์ระดับโลกอย่าง CNN หรือ BBC ได้เสนอข่าวต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เพราะผลการสำรวจความคิดเห็นในขณะนั้นปรากฏว่าทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันมากในระดับเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น ที่ประชาคมโลกให้ความสนใจมากเนื่องจาก หากชาวสกอตแลนด์เลือกที่จะแยกตัวออกจากอังกฤษสำเร็จ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศอังกฤษ และอาจจะกระทบไปถึงยุโรปด้วยก็ได้

สกอตแลนด์อยู่ตอนเหนือของประเทศอังกฤษ มีประชากรอยู่เพียงประมาณ 5 ล้านคน มีความเข้มแข็งที่สำคัญคือ มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่เมืองเอดินบะระ ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติคงจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะมีกระแสข่าวว่าหากมีการแยกตัวออกมาจริง บริษัทการเงินส่วนหนึ่งก็อาจจะมีการถอนการลงทุนหรือย้ายธุรกิจออกจากเอดินบะระ

จริงอยู่ว่าสาเหตุที่สกอตแลนด์ต้องการแยกตัวออกมาเพื่อที่จะได้มีความเป็นอิสระในการบริหารทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และนโยบายการบริหารเศรษฐกิจและการปกครองเป็นของตนเองได้ แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ติดตามค่อนข้างมากที่น่าจะพิจารณา เพราะการจะเป็นประเทศหนึ่งประเทศใดนั้นต้องคำนึงถึงอีกหลายๆ ปัจจัย และผลที่จะติดตามมา ในกรณีนี้คำถามแรกๆ ก็คือ แล้วสกอตแลนด์จะใช้เงินสกุลอะไรในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า หากจะใช้เงินสกุลอื่นๆ แล้วจะเป็นสกุลอะไร มีการพูดกันมากว่าสกอตแลนด์อาจจะเลือกใช้เงินสกุลยูโรแทนเงินปอนด์ นอกจากนี้ยังต้องมีการปรับปรุงระบบต่างๆ เช่น ระบบภาษี ระบบการปกครองจะเป็นอย่างไร เป็นความกังวลของนานาชาติ จนกระทั่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการถอนการลงทุนออกจากสกอตแลนด์ที่ยังไม่มีความชัดเจน และต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ของผู้เขียนคือ หากการแยกตัวของสกอตแลนด์สำเร็จก็จะทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์อ่อนแอลง โดยเฉพาะสกอตแลนด์ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะต้องมีการปรับปรุงระบบต่างๆ มากมาย ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายติดตามมา ตัวอย่างคือกรณีที่ประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกที่แยกตัวจากรัสเซีย ที่อ่อนแอลง ในขณะที่รัสเซียได้รับผลกระทบน้อยกว่ามาก ในขณะที่กระแสโลกประเทศต่างๆ ต้องการมีการรวมตัวกันในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ก็นับเป็นข่าวดีว่า ในที่สุดแล้วผลการลงประชามติออกมาว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยได้มีคะแนนเสียงชนะฝ่ายที่โหวตเห็นด้วยในอัตรา 55:45 ได้สร้างความโล่งใจให้กับฝ่ายต่างๆ ผู้ที่ซึ่งน่าจะดีใจมากมากที่สุดคือ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีของอังกฤษผู้เสนอให้มีการลงประชามติ นั่นเอง แต่ก็จะต้องจับตาดูว่าหลังจากนี้แล้วความสัมพันธ์ของอังกฤษและสกอตแลนด์จะเป็นอย่างไร ซึ่งกรณีของสกอตแลนด์นี้หากกระทำสำเร็จก็น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้เกิดกระแสการแบ่งแยกประเทศเกิดขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก

เมื่อการแยกตัวของสกอตแลนด์มีข้อยุติลงแล้ว ความสนใจก็จะกลับมาที่เศรษฐกิจของประชาคมยุโรป ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาต่อเนื่องจากวิกฤติทางการเงินของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 มาจนเป็นวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรปที่ยาวนานมาหลายปี จนทำให้เศรษฐกิจของประชาคมเข้าสู่ภาวะถดถอยที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ ที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรปยอมรับกลายๆ ว่า เศรษฐกิจยุโรปนั้น มีการฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้ามาก ดังจะเห็นได้จากตัวเลข GDP ของไตรมาสที่ 2/2557 ซึ่งอยู่ที่ 0% หรือไม่มีการเติบโตเลย ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส มีการขยายตัวน้อยมากในไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่อิตาลี ซึ่งเป็นอีกประเทศหลัก กลับมีอัตราเศรษฐกิจติดลบ

ดังนั้น ในการประชุมครั้งล่าสุด ธนาคารกลางยุโรปจึงต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมต่อไป ทั้งในการลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีหลักทรัพย์หนุนหลังและพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม

เมื่อพิจารณาถึงสภาพปัญหาของเศรษฐกิจยุโรปแล้ว ไม่ว่าภาคสถาบันการเงิน หรือ การว่างงานแล้วน่าจะใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว กว่าจะเข้มแข็งกลับคืนมาสู่ระดับเดิมได้ ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว (วิกฤติหนี้สาธารณะ) ซึ่งเป็นการยืมเอาเงินในอนาคตมาใช้จ่ายที่ในที่สุดแล้วต้องชดใช้คืน ดังนั้น แม้ว่าหนี้สาธารณะของประเทศไทยยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ ที่ต้องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ที่งบประมาณทุกบาททุกสตางค์จะต้องใช้ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน และให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจยุโรป

view