สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สมควรแก่เวลา ขึ้นราคาแท็กซี่

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล


ค่าครองชีพสูง น้ำมันแพง แถมราคาก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีทำท่าจะขยับขึ้นไปอีก

ทั้งหมดนี้ทำให้กลุ่มคนขับแท็กซี่มิเตอร์ต้องออกมาเรียกร้องขอความเห็นใจให้ขึ้นราคาค่าโดยสารกับเขาบ้าง

ถึงเวลาที่ต้อง “ขยับ”

เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ในเมืองไทยถือว่าไม่แพงนัก

ยกตัวอย่างประเทศที่ค่าโดยสารแพงที่สุดคือ พม่า แม้เป็นประเทศที่มีค่าแรงถูกและประชาชนมีรายได้น้อยติดอันดับท้ายๆ แต่แท็กซี่ที่นี่เริ่มต้นมิเตอร์ที่ 89 บาท และคิดค่าระยะทางกิโลเมตรละ 58 บาท สาเหตุที่แท็กซี่ในพม่ามีราคาแพง เนื่องจากแท็กซี่เป็นการเดินทางอันหรูหราสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเท่านั้น มิใช่สำหรับคนทั่วไป

รองลงมาคือบรูไน เริ่มต้นมิเตอร์ที่ 80 บาท สิงคโปร์ 72 บาท กัมพูชา 60 บาท และคิดค่าระยะทางกิโลเมตรละ 30 บาท ส่วนประเทศที่มีค่าแท็กซี่ต่ำกว่าไทย ได้แก่ ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซียที่เริ่มต้นมิเตอร์ประมาณ 30 บาท ตามมาด้วยเวียดนามและอินโดนีเซียอยู่ที่ 17-18 บาท

กลับมาที่เมืองไทย ครั้งล่าสุดที่เคยมีการปรับราคาค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์คือ วันที่ 18 มิ.ย.2551 หรือ 9 ปีที่แล้ว

โดยราคาเริ่มต้นจากเดิม 2 กิโลเมตรแรกคิด 35 บาท ปรับเป็น 1 กิโลเมตรแรก = 35 บาท ก.ม. ที่ 2-12 จากเดิมก.ม.ละ 4.50 บาท ปรับเป็น  5  บาท ก.ม.ที่ 12-20 จากเดิม ก.ม.ละ 5 บาท ปรับเป็น 5.5 บาท ก.ม. ที่ 20-40 จากเดิมก.ม.ละ 5.5 บาท ปรับเป็น 6 บาท ก.ม. ที่ 40-60 ปรับเป็นก.ม. ละ 6.50 บาท ก.ม.ที่ 60-80 ปรับเป็นก.ม. ละ 7.50 บาท และก.ม. ที่ 80 ขึ้นไป ปรับเป็นก.ม. ละ 8.50 บาท

“หลายปีที่ผ่านมา ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อยๆ ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าก๊าซแอลพีจี เอ็นจีวี อัตราค่าโดยสารก็ควรปรับตามภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย บ้านเราอำนาจอยู่ที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบก แต่ในทางปฏิบัติไม่มีอธิบดีคนไหนกล้าปรับด้วยตัวเอง ต้องไปขอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้เห็นชอบ ซึ่งรัฐมนตรีเองก็กลัวจะเกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการซึ่งมีมากกว่า 2 ล้านคน เลยไม่กล้าตัดสินใจ ปัญหามันก็เลยคาราคาซังมาจนถึงวันนี้”

วิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพ ย้ำชัดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องยื่นเรื่องให้รัฐบาลทบทวนอีกครั้ง ภายใต้ความหวังที่จะให้อาชีพโชเฟอร์แท็กซี่ลืมตาอ้าปากได้

“อยากให้มีการปรับอัตราค่ามิเตอร์โดยสารขึ้น 20 % ตามระยะทาง เพื่อให้คนขับแท็กซี่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากที่เคยได้ 300 บาทเป็น 400-500 บาทต่อวัน หลังจากหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆแล้ว 20 % คือตัวเลขที่จะทำให้พวกเขาคุ้มทุนอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก ถ้าเดินทางระยะใกล้ๆ 2-3 กิโลเมตรแทบไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าวิ่งไกลๆ จาก 100 บาทอาจขึ้นเป็น 120 บาท”

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีแท็กซี่มิเตอร์ทั้งหมดกว่า 1 แสนคัน แต่วิ่งให้บริการจริงเพียง 8 หมื่นคันเท่านั้น ที่เหลืออีก 2 หมื่นคันไม่มีผู้เช่าขับ ไม่ก็รถเสียต้องจอดซ่อมไว้ที่อู่

“ทั้งหมด 80,000 กว่าคันนี้ มีประมาณ 65,000 หมื่นคันที่ใช้ก๊าซNGV อีก 15,000 คันใช้ก๊าซLPG ความแตกต่างระหว่างแท็กซี่ที่ใช้ก๊าซNGVกับLPGก็คือ แต่ละวันรถแท็กซี่จะวิ่งให้บริการเฉลี่ย 350 กิโลเมตรต่อวัน คันที่ใช้ก๊าซLPGจะต้องเติมวันละประมาณ 600 บาท ขณะที่NGVเติมวันละ 450 บาท ดังนั้นต้นทุนจึงต่างกันราว 100-150 บาท

แต่ปัญหาก็คือก๊าซLPGเติมครั้งเดียวจบ ส่วนNGVแม้จะราคาถูกกว่า แต่ต้องเติมหลายรอบ อีกทั้งถ้าต้องวิ่งไปส่งคนยังกรุงเทพชั้นในจะไม่มีปั๊มให้เติม ต้องวิ่งออกมาเติมข้างนอก แถมรอคิวนาน จำนวนเที่ยวก็เลยลดน้อยลง”

เมื่อวิ่งแล้วไม่คุ้มทุน จึงต้องจำใจปฏิเสธผู้โดยสาร ทั้งที่รู้แก่ใจดีว่าผิดกฎหมาย 

หัวอกโชเฟอร์

เฉลิม แป้นน้อย โชเฟอร์แท็กซี่มิเตอร์วัยเฉียดหกสิบ ผู้ทำหน้าที่หลังพวงมาลัยมานานกว่า 20 ปี ตัดพ้อว่าอาชีพคนขับแท็กซี่เป็นอาชีพที่น่าเห็นใจ

“ต้องทำงานในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆขนาดเมตรคูณเมตร มีความกดดันสารพัดทั้งจากภายในและภายนอก ต้องขับอย่างปลอดภัยไม่ให้ใครมาเฉี่ยวชน ไม่โดนตำรวจจับ ต้องรวดเร็วทันใจผู้โดยสาร ไหนจะต้องเจอรถติด ต้องรีบส่งรถ ก๊าซหมดไม่มีปั๊มเติม กลางคืนยังต้องคอยระวังขโมยขโจรอีก”

ทุกวันนี้เฉลิมต้องตั้งหน้าตั้งตาขับรถถึง 12-15 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้มีเงินเหลือเข้าบ้านมากพอ หลังจากหักลบค่าใช้จ่ายต่างๆออกไปแล้ว

“ผมวิ่งรถตั้งแต่ตีห้าครึ่งยาวจนถึงสี่ทุ่ม ช่วงเช้าๆลูกค้าเยอะ บ่ายๆคนน้อยหน่อยก็ไปงีบหลับเอาแรงข้างทางสักชั่วโมง กลับมาวิ่งหาคนอีกทีก็เย็นๆหลังเลิกงานยาวไปจนถึงสี่ทุ่ม ดึกกว่านั้นไม่มีคนแล้วครับ วิ่งรถอย่างเก่งได้วันละ 1,400 -1,500 บาท หักค่าเช่ารถวันละ 600 บาท ค่าก๊าซNGV รวมวันละ 500-600 บาท ค่าล้างรถ ค่ากิน เหลือตกถึงมือจริงๆแค่ 300-400 บาท ถ้าไม่ปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารก็แทบจะไม่มีเงินเหลือเลย”

จากสถิติของศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ สายด่วน 1584 ระบุว่า ปี 2556 ที่ผ่านมา มีการร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะแท็กซี่มากถึง 30,000 ราย ปัญหาที่พบบ่อยที่สุดคือปฏิเสธรับผู้โดยสาร รองลงมาคือกรณีอื่นๆ เช่นแสดงกิริยาไม่สุภาพ ไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกันไว้ ขับรถโดยประมาทและหวาดเสียว  รวมถึงแต่งกายไม่สุภาพ 

“เรื่องปฏิเสธผู้โดยสารไม่มีใครอยากทำหรอกครับ แต่บางครั้งมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ บางคันก็ไม่อยากเข้าเมืองไปเจอรถติดเพราะวิ่งไม่คุ้มทุน แล้วยังพะวังก๊าซหมดอีก ผมว่าสังคมคาดหวังกับแท็กซี่มิเตอร์มากเหลือเกิน อยากให้คนขับเข้ารับการอบรมการบริการที่ดีมีมาตรฐาน แต่บางคนยังไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียนตอนเช้าเลย ท้องยังหิวแต่จะให้ไปพัฒนาตัวเอง น่าจะให้เขากินอิ่มก่อนดีไหม”

ทั้งนี้มีเสียงสะท้อนจากฟากผู้โดยสารอย่าง บังอร ศรีธนะบุตร แม่บ้านผู้นิยมใช้บริการแท็กซี่มิเตอร์ เธอมองว่าการควบคุมปริมาณแท็กซี่ให้เหมาะสมกับความต้องการน่าจะได้ผลกว่าขึ้นราคาค่าโดยสาร

“ทุกวันนี้แท็กซี่เยอะเกินไปค่ะ แถมเรียกยาก ทั้งที่เปิดไฟว่าง บางครั้งก็แย่งลูกค้ากัน ควรควบคุมโดยกำหนดคุณสมบัติของโชเฟอร์ ใครที่จะมาขับรถต้องสอบใบขับขี่สาธารณะที่ยากขึ้น ผ่านการอบรมมารยาทและการบริการ โดยส่วนตัวมองว่าถ้ามีการจำกัดปริมาณรถแท็กซี่ให้มีจำนวนน้อยลง พวกเขาน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น”

ปรับพฤติกรรมก่อนปรับราคา

ล่าสุด พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการปรับค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ว่าได้พิจารณาแล้วโดยแยกประเด็นเป็น 2 กลุ่ม คือ ค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของประชาชนและผู้ประกอบการ จะพิจารณาให้ปรับขึ้นขั้นต่ำ 8-11% ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่จะเปลี่ยนแปลง ต้องรอข้อสรุปชัดเจนก่อนว่าจะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซที่ใช้กับแท็กซี่อย่างไร คาดว่าจะสรุปช่วงเดือนต.ค.นี้

อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมจะให้เวลารถแท็กซี่ปรับปรุงสภาพรถให้อยู่ในสภาพดีอย่างชัดเจนรวมระยะเวลา 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.นี้เป็นต้นไป เช่น การแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นภายในตัวรถ ระบบแอร์ ความสะอาด มารยาทคนขับ และสภาพรถต่างๆ หากครบกำหนดแล้วรถคันไหนสามารถปรับปรุงให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดได้ จะได้รับสัญลักษณ์ติดไว้ที่รถเพื่อให้สามารถพิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารได้ แต่หากคันไหนไม่สามารถดำเนินการได้จะไม่ได้รับการพิจารณา

จะปรับราคาขึ้นเท่าไหร่ ตรงตามที่เหล่าคนขับแท็กซี่คาดหวังหรือไม่ เดือนพ.ย.นี้รู้ผลแน่


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สมควรแก่เวลา ขึ้นราคาแท็กซี่

view