สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พิมพ์เขียวปฏิรูปตำรวจ-ปลอดการเมือง-ตรวจสอบได้

พิมพ์เขียวปฏิรูปตำรวจ-ปลอดการเมือง-ตรวจสอบได้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับ “วันตำรวจแห่งชาติ” เมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสดีที่จะสะท้อนการทำงานของตำรวจไทยในอนาคตว่าจะเดินไปในทิศทางไหน

“คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ” โดย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้จัดทำกรอบความเห็นแนวทางการปฏิรูปด้านต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ การปฏิรูปตำรวจให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินงาน ดังนี้

สภาพปัญหา - ตำรวจเป็นองค์กรต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน ในสภาพปัจจุบันนั้นตำรวจมีโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่และมีการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้การบริหารขาดประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในระดับชุมชน นอกจากนี้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นยังทำได้ง่าย ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการสอบสวน

กรอบความเห็น - ภาคประชาชนมีข้อเสนอถึงการปฏิรูปงานตำรวจ 2 เรื่อง 1.การปรับโครงสร้างและการบริหารงานตำรวจ ต้องมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางทั้งในส่วนการบังคับบัญชา บริหารงานบุคคล และงบประมาณ ตลอดจนการสั่งคดีไปที่ระดับจังหวัด คือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคทั้ง 9 ภาค และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ไปจนถึงกระจายการบริหารจัดการระบบตำรวจในพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบ

ข้อดีคือ องค์กรของตำรวจมีขนาดเล็กลง มีการกระจายอำนาจ และถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักสู่หน่วยงานระดับรองที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่มีสายการบังคับบัญชาที่สั้น มีความเป็นอิสระในการบริหารได้อย่างเบ็ดเสร็จมีประสิทธิภาพ ข้อจำกัด คือ อาจได้รับการแทรกแซงจากนักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพล

โครงสร้างตำรวจภูมิภาคใหม่ในรูปแบบกลุ่มจังหวัด

- กำหนดให้ 1 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดใกล้เคียง 5-6 จังหวัด มีผู้บัญชาการกลุ่มจังหวัดและให้ผู้บังคับการจังหวัดของแต่ละจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาตำรวจสูงสุดของจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดของกลุ่มจังหวัดนั้นๆ

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงกับกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระและเป็นกลางปลอดการเมือง ทั้งยังให้เพิ่มจำนวนตำรวจอาสาสมัครมาช่วยเหลืองานตำรวจอีกทางหนึ่ง และเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีคดีที่มีความละเอียดอ่อน เช่น คดีเกี่ยวกับเพศ

ส่วนเรื่องสวัสดิการต้องมีการการปรับเงินเดือน สวัสดิการ การจัดหาทรัพยากรให้เพียงพอเหมาะสมกับการปฏิบัติงานและสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของสังคม เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการปฏิบัติงานและลดความเสี่ยงทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงพัฒนาความรู้ ความสามารถ คุณธรรม และจริยธรรมตำรวจ เช่น เพิ่มความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพของงานสอบสวน การปรับปรุงสถานีตำรวจให้เป็นศูนย์บริการความปลอดภัยสังคมแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อยกระดับให้บริการประชาชน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานสอบสวนกลาง โดยแยกงานสืบสวนออกจากงานสอบสวน เพื่อให้ระบบงานสอบสวนเป็นอิสระจากการบังคับบัญชามีขอบเขตชัดเจน และปรับปรุงคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ก.ตร. ให้มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจและคณะกรรมการระดับย่อย รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับพฤติกรรมตำรวจ จนถึงมีคณะกรรมการตำรวจภาคประชาชนมีส่วนร่วมระดับชาติ ภูมิภาค และสถานีตำรวจ เพื่อให้มีกลไกเป็นอิสระเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน

การปรับปรุงการทำงานของตำรวจเพื่อให้บังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ เสมอภาค และเป็นธรรมกับทุกกลุ่ม ถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจไปให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบ เช่น งานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายรวดเร็ว

ส่วนระบบงานสอบสวนถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำคดีความ ต้องแยกอำนาจสืบสวนจับกุมออกจากงานสอบสวนกำหนดประเภทคดีอาญาแผ่นดินให้พนักงานสอบสวน และให้คดีลหุโทษหรือคดีที่ยอมความได้ให้ตำรวจ ซึ่งจะทำให้ระบบงานสอบสวนมีขอบเขตชัดเจน เป็นอิสระจากการบังคับบัญชา

สำหรับตัวกฎหมายปัจจุบันนั้นมีความล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันต้องปรับปรุงสอดรับกัน ส่วนมาตรการคุ้มครองพยาน หรือรางวัลนำจับคดีร้ายแรง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้การจับผู้ต้องสงสัยมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการสร้างวัฒนธรรมองค์กรตำรวจในด้านความซื่อสัตย์สุจริต คุณธรรม จริยธรรม และการมีจิตอาสา ในการปฏิบัติงาน ต้องสร้างกลไกการตรวจสอบจากภายนอกให้ประชาชนร้องทุกข์ตรวจสอบการทำงานของตำรวจ ประชาชนเข้าถึงระบบงานตำรวจได้อย่างถูกต้องเสมอภาค สามารถป้องกันตนเองจากการถูกหลอก ระบบส่วย และอิทธิพลของผู้รู้กฎหมาย

การปฏิรูปตำรวจคือ 1 ใน 11 ด้านที่ สปช.ต้องการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยน ซึ่งหลายฝ่ายจับตาบทบาทตำรวจในอนาคตว่าจะเดินในรูปแบบใด


ส่องตำรวจยุคโซเชียลฯ กำลังพลขาด-ผู้พิทักษ์ฯสูงอายุ

"..เนื้อใน องค์กรตำรวจเองก็มีปัญหาซ้อนทับมากมาย และในเร็วๆ นี้ก็ต้องเผชิญกับ การขาดแคลนบุคลากร.."

13 ต.ค.ของทุกปีเป็น "วันตำรวจ" ซึ่งในปีนี้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ส่งสารถึงตำรวจทั่วประเทศ เน้นย้ำบทบาทหน้าที่ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" โดยมีความผาสุขของสังคมและประชาชนเป็นหลักชัย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตำรวจในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจับกุมผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า การให้รางวัลตำรวจที่จับกุมประชาชนที่ติดสินบนคดีจราจร

หรือแม้กระทั่งคดีที่สั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมอย่างคดีตำรวจให้การช่วยเหลือ นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ เสี่ยโจ้ เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สหทรัพย์ทวีค้าไม้ ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยพัวพันกับการค้าน้ำมันเถื่อนในภาคใต้ ให้หลบหนีคำพิพากษาในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารและดวงตราประทับเข้าเมือง

ทว่าท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากสังคมและประชาชนให้ปรับปรุงและพัฒนา "ตำรวจ" นั้นกลับพบว่า "เนื้อใน" องค์กรตำรวจเองก็มีปัญหาซ้อนทับมากมาย และในเร็วๆ นี้ก็ต้องเผชิญกับ "การขาดแคลนบุคลากร" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

โดยปัญหาการขาดแคลนตำรวจนั้นถูกระบุไว้ใน ร่างยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2557-2566 ซึ่งจัดทำขึ้นโดย สำนักงานกำลังพล ซึ่งจะเป็นร่างยุทธศาสตร์ที่ใช้พัฒนาทรัพยากรบุคคลในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ร่างยุทธศาสตร์ชิ้นนี้ได้ให้ข้อมูล "กรอบอัตรากำลัง" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ปัจจุบันตำรวจมีกำลังพลทั้งหมด 216,958 นาย แบ่งเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร จำนวน 58,941 นาย คิดเป็นร้อยละ 27.17 ของตำรวจทั้งหมด ส่วนตำรวจชั้นประทวนมีจำนวน 158,017 นาย คิดเป็นร้อยละ 72.83 ของตำรวจทั้งหมด

หากจำแนกตามเพศพบว่า มีตำรวจเพศชาย 200,637 นาย คิดเป็นร้อยละ 92.48 เพศหญิง 16,321 นาย คิดเป็นร้อยละ 7.52 ทั้งนี้ในปัจจุบันมีตำรวจหญิงดำรงตำแหน่งสูงสุด คือ รองผู้บัญชาการ 2 นาย และผู้บังคับการ 8 นาย (ทั้งสองตำแหน่งครองยศ พล.ต.ต.)

อย่างไรก็ดีเมื่อเปรียบเทียบข้าราชการตำรวจกับข้าราชการในฝ่ายพลเรือนแล้วตำรวจมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 16.08 มากเป็นลำดับสอง รองจากกระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับอายุของตำรวจในปัจจุบันนั้นพบว่า ตำรวจมีอายุเฉลี่ย 43 ปี โดยหน่วยงานที่มีอายุเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ภูธรภาค 5 อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 48.57 ปี รองลงมา คือ ตำรวจตระเวนชายแดน อายุเฉลี่ย 46.76 ปี และภูธรภาค 9 อายุเฉลี่ย 46.46 ปี

ขณะที่ตำรวจซึ่งหน่วยปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม พบว่า มีอายุเฉลี่ยเกิน 44 ปี ทุกหน่วย!

เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการเกษียณอายุราชการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2557 เป็นต้นไป พบว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้าตำรวจจะเกษียณอายุเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึงปี พ.ศ.2563 ซึ่งมีจำนวนผู้เกษียณสูงสุด 7,636 นาย

การเกษียณอายุราชการของตำรวจนี้เป็นประเด็นท้าทายด้านทรัพยากรบุคคลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ต้องเร่งหาทางรับมือ เนื่องจาก จำนวนตำรวจเกษียณมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในปี 2560 หรืออีกราวๆ 2 ปีข้างหน้าจะมีตำรวจเกษียณอายุเกิน 5,000 นาย จึงต้องสรรหากำลังพลมาทดแทนให้เพียงพอและทันเวลา

ที่สำคัญยังจำเป็นต้องมีจัดเตรียมสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่จะมารองรับการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเข้าสู่การเป็น "องค์กรแห่งผู้สูงอายุ" ด้วย

นอกจากนี้ยังเกิดการขาดแคลนตำรวจระดับชั้นประทวนด้วย เนื่องจากนโยบายส่งเสริมให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมีความก้าวหน้าในอาชีพ โดยเปิดสอบข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเป็นสัญญาบัตรจำนวนมากและการเลื่อนชั้นข้าราชการตำรวจยศดาบตำรวจอายุ 53 ปี เป็นสัญญาบัตร ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการขาดแคลนข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ได้เปิดรับสมัครบุคคลภายนอกมาทดแทน

การขาดแคลนกำลังพลยังเกิดขึ้นกับส่วนงานด้าน "เทคนิค" ซึ่งเป็นบุคลากรที่ต้องมีคุณวุฒิพิเศษ เช่น ผู้ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ ทำลายวัตถุระเบิด ผู้ปฏิบัติงานด้านนี้จำเป็นต้องอาศัยทักษะ ความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน ตลอดจนจะต้องสั่งสมประสบการณ์ในการทำงาน จำเป็นต้องมีแนวทางในการดำเนินการสรรหาบุคลากรด้านเทคนิค หรือคุณวุฒิพิเศษ เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

มองในมิติของ "จำนวน" ตำรวจที่ขาดแคลนก็น่าปวดหัวแล้ว แต่เมื่อพิจารณาในด้าน "คุณภาพ" กำลังพลแล้วก็ทำให้เกิดความกังวลไม่น้อย ด้วยตำรวจอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 43 ปี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในหน่วยป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมก็จะได้รับผลกระทบเพราะงานด้านนี้จำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีอายุน้อย มีสมรรถนะร่างกายเหมาะสมกับภารกิจที่ตรากตรำและเสี่ยงภัย

สำหรับปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาองค์กรและการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้นก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ ซึ่งในร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ ชี้ให้เห็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อกำลังพลไว้หลายประเด็น

ไม่ว่าจะเป็น เรื่องโครงสร้างองค์กรตำรวจที่มีขนาดใหญ่ มีชั้นการบังคับบัญชา ทำให้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทำได้ล่าช้า, ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายไม่สามารถตอบสนองต่อภารกิจและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ, เส้นทางการเจริญเติบโตในสายอาชีพไม่ชัดเจนและไม่สร้างแรงจูงใจ

ค่าตอบแทนไม่เหมาะสมกับภาระ หน้าที่ความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีอิสระในการปฏิบัติงาน และการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ระบบยังไม่สามารถสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถและมีสมรรถนะที่เหมาะสมกับงานตำรวจ

อย่างไรก็ดี ร่างยุทธศาสตร์ฯ ของสำนักงานกำลังพล ได้เสนอระบบการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จำเป็นต้องทำ ดังนี้ 1.ต้องกำหนดแผนงานพัฒนาระยะยาว เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องตลาดชีวิตราชการ 2.ผู้บริหารระดับสูง โดยเฉพาะผู้บริหารระดับผู้บังคับการขึ้นไปต้องมีภาวะผู้นำและได้รับการพัฒนาศักยภาพการบริหาร

3.ตำรวจชั้นประทวน เป็นตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จำเป็นต้องจัดระบบการฝึกอบรมและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเพิ่มอำนาจให้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันได้อย่างคล่องตัวและสนองตอบแนวทางการกระจายอำนาจการบริหาร

4.การเปลี่ยนแปลงของสังคม อาชญากรรมรูปแบบใหม่ จำเป็นต้องให้ข้าราชการตำรวจมีสมรรถนะที่เหมาะสมกับปัญหาด้านอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และ5.การเตรียมความพร้อมของทรัพยากรบุคคลเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พิมพ์เขียวปฏิรูปตำรวจ ปลอดการเมือง ตรวจสอบได้

view