สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปปช-เผย8ปีคดีทุจริตอปท-สูงสุดปัดรับใบสั่งนักการเมือง

จาก โพสต์ทูเดย์

ป.ป.ช.แถลงผลงาน 8  ปี ชี้คดีทุจริตอปท.สูงสุด ยอมรับทำงานช้า-โต้ข้อกล่าวหาเลือกปฎิบัติ ปัดไม่เคยรับใบใส่นักการเมือง

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)แถลงผลงานครบรอบ 8 ปี (6 ต.ค. 2549 - 6 ต.ค. 2557) โดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช.นายวิชา มหาคุณ โฆษกป.ป.ช.และกรรมการป.ป.ช.ร่วมแถลง

นายปานเทพ กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานวันที่ 6 ต.ค. 2549 มีคดีค้างเก่า 11,578 เรื่อง มีคดีที่รับใหม่ 22,950 เรื่อง รวมคดีที่พิจารณาทั้งหมด 34,528 เรื่อง โดยเป็นเรื่องค้างสะสมมาจากคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดก่อน จำนวน 11,578 เรื่อง และเป็นเรื่องกล่าวหารับใหม่ จำนวน 22,950 เรื่อง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จ 25,012 เรื่อง คงเหลือเรื่องดำเนินการ 9,516 เรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงและอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง  ซึ่งเรื่องกล่าวหาที่รับดำเนินการส่วนใหญ่เป็นเรื่องรับสินบน การเบียดบังหรือยักยอกทรัพย์ การปลอมแปลงหรือรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ จำนวน 20,641 เรื่อง เรื่องการกระทำความผิด การปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำนวน 11,314 เรื่อง

นอกจากนี้ ยังมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ จำนวน 2,457 เรื่อง และการทำความผิดเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ จำนวน 116 เรื่อง

ขณะที่นายวิชา กล่าวว่า ตลอด 8 ปีที่ผ่านมามีคดีที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสูงหรืออปท.สูงสุด คิดเป็นร้อยละ 50 ของเรื่องทุจริต อันดับ 2.กระทรวงมหาดไทย ส่วนใหญ่เป็นกรมที่ดิน 3. เป็นส่วนราชการที่เป็นกรมไม่สังกัด เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)4.กระทรวงศึกษาธิการ และ 5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้เรื่องที่พบว่ามีการร้องเรียนมากที่สุดคือคดีจัดซื้อจัดจ้างและการเสนอภาครัฐ รองลงมาคือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ที่ผ่านมาป.ป.ช. มีการไต่สวนและยึดที่ดินที่ออกโดยมิชอบคืนได้กว่า 381 แปลงหรือกว่า 1 หมื่นไร่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ป.ป.ช. ทำหน้าที่ตลอด อย่างไรก็ตามเมื่อมีการตั้ง ป.ป.ช. จังหวัดขึ้นมารับเรื่องทำให้มีคดีเข้ามาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 1,000 เรื่องแสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความไว้ใจการทำงานของป.ป.ช.ดังนั้นต้องทำให้องค์กรเป็นที่พึ่งแก่ประชาชน โดยต้องมีการปฏิรูปองค์กรเป็นหลัก ซึ่งในเดือนพ.ย.นี้ป.ป.ช.และกระทรวงมหาดไทยจะทำเอ็มโอยูร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันและปราบปรามการทุจริต

“ส่วนการนำคดีขึ้นสู่ศาลจะเห็นได้ว่า ป.ป.ช. ชุดนี้มีการนำคดีขึ้นศาลฎีกามากที่สุด รวม 63 คดี เป็นคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ 6 คดี ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน 54 คดี ขอให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน 2 คดี ต่อไปจะพยายามทำให้คดีให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินให้มากขึ้น ซึ่งคดีส่วนใหญ่อัยการฟ้องแทน แต่เราก็มีความชำนาญในการฟ้องคดีเอง เพราะที่ผ่านมามีการฟ้องเอง 15 คดีหากอัยการไม่ฟ้องเราก็สามารถฟ้องเองได้” นายวิชา กล่าว

นายปานเทพ ยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีป.ป.ช.มีปัญหาและถูกสังคมตั้งคำถาม 2 เรื่อง คือ 1.ความล่าช้าในและคดีที่ค้าง ซึ่งตอนนี้มีคดีค้างประมาณ 9,000 คดี และเรื่องที่ร้องเรียนของ ป.ป.ช. นั้นเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 3,000 คดี/ปี แต่ ป.ป.ช. ทำเสร็จแล้ว 2,000 คดี/ปี ซึ่งได้แก้ไขโดยถ่ายโอนงานไปให้ ป.ป.ช. จังหวัดและส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) พนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งต่อไปจะมีการพัฒนาหลักสูตรในการไต่สวนคดีให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเน้นให้ความสำคัญเรื่องอายุความในคดีใหญ่ ๆ และให้ตั้งพนักงานไต่สวนเป็นชุดเฉพาะกิจดำเนินการเป็นเรื่อง ๆ

นายปานเทพ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องความยุติธรรมป.ป.ช.ถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ หรือ 2 มาตรฐาน ทั้งที่ป.ป.ช.ยึดหลักกฎหมายและหลักฐานเป็นหลัก คดีที่มีหลักฐานและผิดกฎหมายชัดเจนก็สามารถดำเนินการได้เร็ว ซึ่งยืนยันว่าเราดำเนินการทุกเรื่องไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญในเรื่องการต่อต้านทุจริตคอรัปชั่น

ขณะที่ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า กรณีที่มีคนกล่าวหาว่าเรามีใบสั่ง หรือมีคนร้องขอนั้น ยอมรับว่ามีจริง แต่เราไม่ช่วย เพราะถ้าหลักฐานไม่ถึงก็คือไม่ถึง ขอยกคำกล่าวที่ตลกแต่หัวเราะไม่ออกคือ กรณีเราไม่ชี้มูลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหนึ่ง แต่กลับไปชี้มูลรัฐวิสาหกิจแทน ซึ่งมีผู้ใหญ่บางคนโทรมาบอกว่า รัฐมนตรีคนนั้น เขารู้กันทั้งประเทศว่านี่แหละตัวจริงเลย แต่ตนก็เรียนกลับว่า ต้องมาดูหลักฐานก่อนว่ายังไงก็ไม่ถึงรัฐมนตรีคนนี้ ดังนั้นตราบใดที่หลักฐานไม่ถึงก็ไม่สามารถดำเนินการได้ การทำงานของป.ป.ช.มีมาตรา 125 ตามพ.ร.บ.ป.ป.ช. ถ้ากรรมการคนใดไม่เที่ยงธรรม ทุจริตต่อหน้าที่จะโดนโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดของความผิดนั้น ๆ นอกจากบาปที่ติดในใจเราแล้ว กฎหมายก็โดนเป็นสองเท่า ฉะนั้นจึงไม่แปลกว่า กรรมการป.ป.ช.หลายคนโดนฟ้องอาญา ฟ้องแพ่ง ฟ้องศาลปกครอง บางคนโดนถอดถอน

นายประสาท กล่าวอีกว่า คดีหลายคดีกว่าจะฝ่าขวากหนามได้ ปลายิ่งตัวโตยิ่งดิ้นแรง แหพังหมด แต่ปลาตัวเล็กก็หมูไม่มีฤทธิ์อะไร แต่ปลาตัวใหญ่มีอำนาจ มีเงิน มีความรู้ไม่ต้องพูดกับใคร ซื้อได้หมด แต่ตนไม่ได้เอ่ยถึงใคร ภาพทั่วไป แต่เรามีจุดยืนที่มั่นคง ตรงนี้ทำให้เรายืนอยู่ได้ถึง 8 ปี ตนดีใจที่ไม่เคยมีเรื่องกล่าวหาว่ารับสินบน หรือทุจริต นี่คือหัวใจของความตรงไปตรงมา

“ส่วนที่ว่า ป.ป.ช. ทำอะไรอยู่คดีถึงช้า ยอมรับว่ามันช้าจริง ๆ ประการแรกไม่มีรัฐบาลที่ไหนในโลกให้เขี้ยวเล็บแก่ ป.ป.ช. ผมพูดแค่นี้ ขณะที่งานเราท่วมหัว จำนวนเรื่องร้องเรียนต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่ ป.ป.ช. ด้วยความที่เขายอมรับเชื่อถือศรัทธา ป.ป.ช. เราจะทำอย่างไรให้เขายอมรับ ตอนนี้เขารู้จักกันหมด และใช้บริการเราแล้ว ดังนั้นเราบ่นไม่ได้” นายประสาท กล่าว

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของนักการเมือง เราจะตรวจสอบอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ตรวจสอบธุรกรรมการเงินให้ลึก และเมื่อช่วงพ้นตำแหน่งก็ตรวจสอบเช่นกัน หากมีรายการไหนชี้แจงไม่ได้ก็ขออนุญาตยึดคืน เรื่องนี้เป็นกรอบที่ต้องทำงานเพื่อนำปัญหา ไม่ใช่ตามปัญหา ขณะนี้มีคดีค้างอยู่ 3 หมื่นกว่าคดี และมีความเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท เชื่อว่าคงมีคนหยิบไปมากกว่านั้น ดังนั้นในส่วนนี้คงต้องพยายามทำงานให้ดีที่สุด โดยให้สถาบันทางการเงินตรวจสอบเชิงลึกระหว่างที่นักการเมืองทำงานอยู่ ทุกคนที่เข้ามาต้องเสียสละในการทำงาน หากหยิบเกี่ยวอะไรก็ต้องคืน วางไว้ในห้องของประเทศไทย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปปช เผย8ปี คดีทุจริตอปท สูงสุด ปัดรับใบสั่ง นักการเมือง

view