สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ทักษะการแก้ปัญหากับการสร้างสรรค์นวัตกรรม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เรวัติ ตันตยานนท์



นวัตกรรมในทางธุรกิจหมายถึงการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ออกสู่ตลาดและสามารถสร้างยอดขายหรือมูลค่าเพิ่มได้อย่างมีนัยสำคัญ

เช่น ทำให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้สินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่ธุรกิจนำเสนอได้รับความนิยมและยอมรับอย่างแพร่หลาย และเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้บริโภคหรือลูกค้ามากขึ้น

ในหลายๆ ครั้งที่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจจะเกิดขึ้นเนื่องจากธุรกิจเกิดปัญหาขึ้นภายใน และสามารถหาวิธีการที่แก้ไขปัญหานั้นๆ ได้สำเร็จ

การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน มักไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ หากจะมีวิธีที่แก้ไขได้สำเร็จ ก็จะต้องเป็นวิธีการหรือมีการใช้แนวคิดใหม่ๆ มาใช้แก้ปัญหาเท่านั้น เพราะหากจะยึดกับวิธีการเดิมๆ หรือยึดตามทฤษฎีแนวคิดเดิมๆ ที่เคยใช้กันมาได้ ปัญหาก็คงจะไม่ค้างคามาเป็นเวลานาน

จึงจะเห็นได้ว่า ความพยายามในการแก้ปัญหา อาจเป็นแหล่งที่จะสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับธุรกิจได้ ด้วยวิธีคิดหรือวิธีการใหม่ๆ ที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหา

ความจริงแล้ว ปัญหาในทางธุรกิจ อาจอธิบายได้ง่ายๆ ว่า คือ ความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ธุรกิจต้องการให้เกิดขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการทำธุรกิจ

หากสิ่งที่ต้องการให้เกิด เกิดขึ้นได้ตามที่ต้องการ ก็ไม่เกิดปัญหาขึ้น

แต่หากสิ่งที่ธุรกิจต้องการให้เกิดขึ้น หรืออยากได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นคือไม่ได้สิ่งที่ต้องการ หรือไม่ได้สิ่งที่อยากได้ ก็แสดงว่าเกิดปัญหาขึ้นในการทำธุรกิจแล้ว

สำหรับผู้บริหารธุรกิจที่ต้องการสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจ แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นจากที่ใด อาจหันมาให้ความสนใจกับ “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ แล้วลองหาวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ก็อาจช่วยทำให้มองเห็นหรือเกิดความคิดดีๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมขึ้นในธุรกิจได้

ปัญหาที่จะนำไปสู่ไอเดียการสร้างนวัตกรรมธุรกิจ อาจเป็นปัญหาประเภทต่างๆ ได้แก่ เกิดสถานกาณ์ยุ่งยากทางการตลาดที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ยอดขายตก สินค้ามีปัญหาคุณภาพ สินค้าเริ่มลดความนิยม ฯลฯ

เป็นปัญหาเกี่ยวกับการผลิต เช่น เกิดความผิดพลาดในกระบวนการผลิตบ่อยครั้ง ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพหรือเกิดตำหนิบนตัวสินค้าบ่อยๆ ปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต ปัญหาเกี่ยวกับของเสียหรือความสูญเสียจากกระบวนการผลิต ฯลฯ

เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการและการบริการ เช่น ส่งสินค้าไม่ทันตามกำหนด ความเสียหายจากการจัดส่งสินค้า มีข้อร้องเรียนจากลูกค้า ฯลฯ

หรือเป็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการหรือการบริหารจัดการภายใน เช่น เกิดสถานการณ์ที่ตัดสินใจไม่ได้ ตัดสินใจยาก หรือผู้บริหารไม่อยากตัดสินใจ แม้ว่าเริ่มเกิดสิ่งผิดปกติหรือเริ่มจะเป็นความไม่ปกติขึ้นแล้ว

ทักษะการแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจขึ้นได้ จะต้องทำเป็นกระบวนการที่เป็นกิจลักษณะ

เมื่อเรียกว่าเป็น “กระบวนการ” ก็จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิบัติอย่างเป็นขั้นตอน ไม่สามารถข้ามขั้นตอนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดเอาเองว่าน่าจะเข้าใจขั้นตอนนั้นๆ แล้วจึงข้ามขั้นตอนที่เห็นว่าไม่จำเป็นหรือไม่น่าสนใจไปเสีย

และที่สำคัญที่สุดก็คือ “กระบวนการ” จะต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรมและเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าเป็นผู้รับผิดชอบใน “กระบวนการ” นั้นๆ

กระบวนการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ 5 ขั้นตอน

1.การกำหนดตัวปัญหาและขอบเขตของปัญหา

ในขั้นตอนแรกนี้ จริงๆ แล้วก็คือการทบทวนว่าสิ่งที่กำลังสนใจนั้น คือ “ปัญหา” จริงหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องทบทวนว่าสิ่งที่ธุรกิจต้องการหรือหวังว่าจะได้นั้นคืออะไร ผลที่เกิดขึ้นคืออะไร และผลที่เกิดขึ้นต่างจากความคาดหวังอย่างไร

คำตอบที่ได้จากคำถามเหล่านี้ จะนำไปสู่การกำหนดว่าปัญหาที่แท้จริงที่ต้องการแก้นั้น คืออะไร

2.การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

เมื่อทราบว่าปัญหาที่ต้องการแก้ไขคืออะไรแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการวิเคราะห์ค้นหาว่า ปัญหานั้นเกิดขึ้นที่ไหน หรือเริ่มสังเกตเห็นที่ไหน ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อไร ปัญหามีจำนวนหรือปริมาณมากน้อยแค่ไหน และผลกระทบจากปัญหาเป็นอย่างไร ความเสียหายรุนแรงแค่ไหน

3.การหาสาเหตุของปัญหา

ปัญหาทางธุรกิจ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจาก ความรู้ความสามารถของตัวบุคคล ความละเอียดแม่นยำ อำนาจหน้าที่ ความรับผิดชอบ อารมณ์ความรู้สึก ความกดดัน ระยะเวลาที่กำหนด ค่าใช้จ่ายที่บานปลาย ฯลฯ เป็นตั้น

ดังนั้น จึงควรตั้งสมมติฐานที่อาจเป็นไปได้จากสาเหตุเหล่านี้ แล้วพยายามหาข้อมูล ข้อเท็จจริง และคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับสาเหตุของปัญหา

4.เสนอและตัดสินใจเลือกวิธีการแก้ปัญหา

ขั้นตอนนี้ อาจจะต้องมีการใช้การระดมสมองจากผู้มีประสบการณ์ หาทางเลือกต่างๆ แล้วนำมาสรุปรวมเพื่อให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว ผู้มีอำนาจตัดสินใจมักจะตัดสินใจออกมาได้เป็น 4 ทางเลือก คือ (1) ยังไม่ทำอะไร ดูไปก่อน หรือรอเวลาให้ปัญหาหมดไปเอง การตัดสินใจนี้จะไม่นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมแต่อย่างใด

(2) ปรับความคาดหมายหรือความต้องการลงมา อาจทำให้เกิดเป้าหมายใหม่ที่สามารถทำได้ อาจนำไปสู่ระดับความสามารถที่เหมาะสมกับธุรกิจ นำไปสู่การนำเสนอนวัตกรรมใหม่สู่ตลาดได้แม้จะมีระดับนวัตกรรมที่ต่ำลง แต่ก็ยังอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นได้ และหากวิธีแก้ปัญหาใหม่มีความเหมาะสมกับบุคคลิกของธุรกิจ ผลลัพธ์จากการแก้ปัญหา สามารถนำไปสู่วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ที่ยาวนานได้

(3) หลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม แสวงหาแนวคิดหรือวิธีการใหม่ในการแก้ปัญหา เช่น อาจหาทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรอื่นๆ ที่เหมาะสม มีความสามารถแก้ปัญหาได้ วิธีนี้จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้ตามเป้าหมายเดิมที่ธรุกิจต้องการได้ หรือ (4) พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมต่อไป ซึ่งนอกจากจะต้องสูญเสียทรัพยากรต่างๆ ต่อไปแล้ว ยังอาจไม่ช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมใดๆ ขึ้นได้เลย

5.ติดตามผลและแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดเวลา

เป็นการตอกย้ำให้นวัตกรรมที่สร้างขึ้นมา สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและผู้บริโภคต่อไปได้อย่างยั่งยืน

การสร้างนวัตกรรม อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นการแสวงหาสิ่งใหม่อยู่เพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดขึ้นได้จากปัญหาเดิมๆ ที่อยู่คู่กับธุรกิจตลอดเวลา

เพียงแต่ผู้บริหารจะมองไม่เห็นปัญหา มองปัญหาไม่ออก หรือไม่อยากรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง การสร้างนัวตกรรมจึงเกิดขึ้นได้ยากในธุรกิจนั้นๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ทักษะการแก้ปัญหา การสร้างสรรค์นวัตกรรม

view