สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เสริมสร้างสมรรถภาพทางใจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
เชอรี่ประชาชาติ cheryd@gmail.com


นิตยสาร "อะเดย์" ฉบับที่ว่าด้วยการ "วิ่ง" รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับการวิ่งไว้ในหลายแง่มุม เพื่อตามหาความหมาย และเบื้องหลังแรงบันดาลใจของบุคคลหลากหลายอาชีพที่มีต่อการ "วิ่ง"

ครูพละ, นักมวย, นักร้อง, นักบอล, นักวิ่งมาราธอน, พนักงานออฟฟิศ, ทหาร, เด็กนักเรียน และอื่น ๆ พวกเขาออกวิ่งเพราะสิ่งใดกัน

กรมพลศึกษาให้ทุกโรงเรียนบรรจุ "การทดสอบสมรรถภาพทางกาย" ไว้ในวิชาพลศึกษา โดยนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมัธยมจะต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่การยืดเหยียด ลุกนั่ง กระโดดไกล และวิ่ง เพื่อวัดผลว่ามีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงมากแค่ไหน

แต่ละชั้นจะมีแบบทดสอบแตกต่างกันไปปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามพัฒนาการทางร่างกายของเด็ก ๆ ทุกปี

ยิ่งโตขึ้น การทดสอบก็จะยิ่งเยอะและยากขึ้น

บททดสอบที่ต้องผ่านให้ได้คือการวิ่ง ด้วยเหตุผลว่า เป็นการกระตุ้นร่างกายแทบทุกส่วนให้ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เช่น เก็บของระยะ 10 เมตร เพื่อทดสอบความคล่องแคล่วว่องไว วิ่งระยะ 50 เมตร ทดสอบกล้ามเนื้อที่ต้องทำงานซ้ำ ๆ อย่างรวดเร็ว และวิ่งระยะไกล 600-1,000 เมตร ทดสอบความอดทนของระบบหายใจและการไหลเวียนของเลือด

"วิบูลย์ ไอยราพัฒนา" ครูสอนวิชาพละ โรงเรียนดรุณานุเคราะห์ บอกว่า แม้นักเรียนบางคนจะทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่สอบตกในกิจกรรมนี้ไม่มีผลร้ายถึงขั้นเรียนซ้ำชั้น แค่กลับมาทำแบบทดสอบใหม่จนกว่าจะผ่าน เพราะการเรียนวิชาพละแค่ 1-2 ชั่วโมงต่ออาทิตย์อาจไม่เพียงพอ

เด็ก ๆ ต้องทำให้การออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อสอบให้ผ่านตามเกณฑ์พื้นฐานให้ได้

สำหรับนักมวย "การวิ่งเป็นเครื่องยืนยันว่านักมวยคนนั้นจะสามารถจดจ่ออยู่กับคู่ต่อสู้ได้โดยไม่หมดแรง" สุนา พวงสีเคน ครูมวยค่าย ส.วรพินบอกไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้

เพราะ "เมื่อไรหมดแรงเมื่อนั้นก็จบ" ถ้าไม่แกร่งและอึดพอก็จะไม่สามารถยืนอยู่บนสังเวียนเพื่อไปให้ถึงชัยชนะได้

สิ่งที่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับนักมวยมาจากการฝึกฝนกำลังขาด้วยการวิ่ง

เป็นเหตุผลที่ทำไมนักมวยจำเป็นต้องวิ่งทุกวัน นอกจากเพื่อลดน้ำหนัก

การเตรียมความพร้อมสำหรับการรบของทหารเกณฑ์ก็เริ่มต้นด้วยการฝึกเดินเร็ว

ใน 1 ปี ทหารทุกนายต้องผ่านการทดสอบที่เรียกว่า "การเดินเร่งรีบ" หมายถึงการเดินและวิ่งไกล 15 กิโลเมตร พร้อมแบกอาวุธหนักกว่า 10 กิโลกรัม เพื่อไปให้ถึงจุดหมายภายใน 2 ชั่วโมง

พันเอกทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บอกว่า "ถ้าไม่ฝึกวิ่งก็ออกรบไม่ได้ เพราะการวิ่งเป็นหัวใจของกองทัพ"

"การวิ่งแถว" คือการวิ่งอย่างพร้อมเพรียงและร้องเพลงปลุกใจไปด้วย เป็นการฝึกที่ง่ายที่สุดเพื่อหล่อหลอมให้ทหารรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะกฎคือทุกคนต้องถึงจุดหมายพร้อมกัน ทหารในหน่วยเดียวกันต้องคอยดูแลคนที่อ่อนแอ ส่วนคนที่อ่อนแอต้องพยายามพัฒนาตนเองให้เท่าคนอื่น

การได้ยินเสียงเพื่อนร้องเพลงปลุกใจทำให้รู้ว่าเพื่อนยังวิ่งไหว

การวิ่งยังเป็นหนึ่งในการฝึกที่ช่วยละลายช่องว่างระหว่างยศและชั้นวรรณะ การที่ทุกคนวิ่งไปด้วยกันแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งอะไร ทุกคนพร้อมที่จะร่วมมือกันเพื่อกองทัพ และไม่ว่าจะอายุเท่าไรหรือมียศแค่พลทหาร ทหารทุกนายต้องออกมาวิ่งพร้อมกันอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์

"อาทิวราห์ คงมาลัย" หรือตูน บอดี้สแลมก็เป็นศิลปินนักวิ่งเช่นกัน นอกจากวิ่งอย่างหนักบนลู่วิ่ง 45 นาทีเกือบทุกวันเพื่อฟิตร่างกายสำหรับแสดงคอนเสิร์ตแล้ว เขายังมักลงสมัครลงวิ่งแข่งในรายการต่าง ๆ ด้วย

การทำงานและการวิ่งใช้ตรรกะเดียวกัน

"ทุกคนมีเส้นชัยต่างกัน แรงขับเคลื่อนต่างกัน ท้อแท้ได้ หยุดบ้าง เดินบ้าง พักชมวิวข้างทางบ้าง แล้ววิ่งต่อไปอย่างมีความสุข ทำงานอย่างมีความสุขในแต่ละวัน สุดท้ายเส้นชัยก็มาถึงเอง เส้นชัยของผมคืองาน ผมทุ่มเทให้อัลบั้มนี้อย่างเต็มที่เหมือนลงแข่งวิ่งฟูลมาราธอน แค่คิดก็หนักแล้ว ต้องวางแผน เตรียมตัวและเตรียมหัวใจให้ดี"

หลายคนเลือกออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เพราะเรียบง่ายที่สุด ไม่ต้องพึ่งพิงอุปกรณ์ใด ๆ และวิ่งคนเดียวได้ ถึงอย่างนั้นก็มีนักวิ่งกลุ่มหนึ่งทำให้การวิ่งเรียบง่ายมากขึ้นไปอีกด้วยการวิ่งเท้าเปล่า

ทฤษฎีการวิ่งเท้าเปล่า หรือ Barefoot Running ไม่ใช่แค่ถอดรองเท้าแล้ววิ่ง แต่ต้องเปลี่ยนวิธีลงน้ำหนักจากส้นเท้าเป็นหน้าเท้าหรือกลางเท้าแล้วพยายามให้การลงเท้าแต่ละครั้งแตะพื้นอย่างแม่นยำและนุ่มนวลที่สุด

"ทสึโยชิ โยชิโนะ" โค้ชผู้เชี่ยวชาญการวิ่งเท้าเปล่า ชาวญี่ปุ่นบอกว่า เราทุกคนมีครูอยู่ที่เท้า ครูที่คอยบอกว่าเราวิ่งถูกต้องหรือไม่ เราจึงต้องฟังเสียงร่างกายตัวเอง ถ้าเราเคลื่อนไหวถูกต้อง ถึงจะไม่ใส่รองเท้าเราก็วิ่งอย่างมีคุณภาพได้

นักวิ่งทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการวิ่งเท้าเปล่ามากขึ้น แม้ว่าจะยังมีข้อถกเถียงกันมากว่าการวิ่งเท้าเปล่าสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายในทางที่ดีขึ้นจริงหรือไม่

สำหรับโยชิโนะ "การวิ่งเท้าเปล่าทำให้ความคิดเรื่องการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป ชีวิตคือความเรียบง่าย เหมือนความงามของวิถีเซน ตอนเริ่มวิ่ง ผมคิดว่าเราควรวิ่งอย่างไรให้บาดเจ็บน้อยที่สุด แล้วการวิ่งก็สอนผมว่า เราควรใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขมากที่สุด"

ไม่ว่าจะทำไมหรือเพราะอะไร อย่างน้อยที่สุด การวิ่งก็ทำให้ร่างกายแข็งแรง

คนเคยวิ่งจะรู้ว่าจากกิโลเมตรแรกถึงก้าวสุดท้าย สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความฟิตของร่างกาย คือ "หัวใจ" เราเอง

หลายครั้ง สิ่งที่พาให้เราวิ่งถึงเส้นชัยในระยะ 100 เมตรสุดท้ายตรงหน้า ไม่ใช่กำลังขาทั้งสองข้าง

ถึงอย่างนั้น จิตใจที่เข้มแข็งมักอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง ไม่ว่าบททดสอบข้างหน้าจะขรุขระหรือยาวไกลสักแค่ไหน ถ้าร่างกายและหัวใจแข็งแรงก็ไม่มีอะไรน่ากลัว


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เสริมสร้าง สมรรถภาพทางใจ

view