สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

True Innovation

True Innovation

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




จุดเริ่มต้นของนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ล้วนเริ่มต้นมาจากแนวความคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหา

ผมเพิ่งมีโอกาสไปร่วมชมการตัดสินรางวัล True Innovation ซีซั่นสอง รอบชิงชนะเลิศ และร่วมให้คะแนนตัดสินร่วมกับกรรมการหลักอีกสี่ท่านด้วย ผมมีความรู้สึกปลาบปลื้มและดีใจมากที่เด็กไทย คนไทยมีความสามารถด้านนวัตกรรมในระดับนั้น และก็ดีใจที่ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการส่งเสริมนวัตกรรมอย่างจริงจัง

การประกวดปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ Idea Seed หรือนวัตกรรมระดับเล็ก เป็นจุดเริ่มต้นหรือจุดประกายทำนวัตกรรม ระดับนี้เป็นการแข่งขันที่แนวความคิดว่า ความคิดของใครโดดเด่นกว่า มีโอกาสความเป็นไปได้สูงกว่า มีศักยภาพทั้งทางพาณิชย์และเทคโนโลยีสูงกว่า รุ่นนี้เป็นการแข่งขันกันระหว่างนักศึกษาครับ คือ เอาเด็กมาแข่งกันโดยที่ยังไม่ได้มีการผลิตจริง แต่ว่ามีต้นแบบความคิดที่พร้อมจะพัฒนาได้ระดับหนึ่ง

ส่วนอีกรุ่นเป็นรุ่นใหญ่เรียกว่า Inno Tree รุ่นนี้ชกกันระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ คือ คนส่งประกวดจะต้องมีของจริงแล้ว ผลิตได้แล้ว แต่ปรับจูนแง่มุมของนวัตกรรมให้มีความน่าสนใจและเร่งศักยภาพจนถึงจุดสูงสุดเพื่อความสามารถในการแข่งขัน

อาจจะเรียกว่า รุ่นแรกเป็นรุ่นไลท์เวท ส่วนรุ่นที่สองเป็นรุ่นเฮฟวี่เวท แยกกันแข่ง ไม่ปนกันให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และที่สำคัญคือ ต้องมากันเป็นทีมครับ เพราะนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องที่จะทำคนเดียว ต้องมีทีมงานเสมอ

ผมอยากจะเล่าย่อๆ ถึงแนวคิดการพัฒนาโปรดักส์นวัตกรรมของแต่ละทีมสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นถึง ความสามารถของคนไทย ที่เราควรจะร่วมกันภูมิใจครับ

ทีมแรกคือ “กันลืม” เป็นการนำเสนออุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ประโยชน์ของอุปกรณ์ก็อย่างชื่อตรงตัวเลยคือ ช่วยผู้ป่วยไม่ให้ลืมกินยา ซึ่งสำคัญมากที่สุดในการลืม เพราะจะยิ่งส่งผลเสียต่อความสามารถในการจำเป็นลูกโซ่ไป แนวคิดของน้องนักศึกษากลุ่มนี้คือ ใช้สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ไปจับกับคลื่นสมอง โดยส่งสัญญาณไฟฟ้าอย่างอ่อนไปสื่อสารกับสมองเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกตัวว่า จะต้องรับประทานยา หรือถึงเวลาทานยาแล้วนั่นเอง

ลักษณะของอุปกรณ์เหมือนกับหมวกที่มีกล่องส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ไปยังสมองโดยตรง ดูแล้วอาจจะเหมือนหนังวิทยาศาสตร์ไปสักนิด แต่โครงการนี้เป็นการสู้กันด้วยแนวคิดครับ สิ่งที่เด็กกลุ่มนี้คิด ผมเห็นว่ามีประโยชน์มากกับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โลกของเรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ คนที่ป่วยเป็นโรคหลงลืม ในอนาคตจึงจะยิ่งมีมากขึ้น ถ้าหากมีเครื่องไม้เครื่องมือที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ช่วยเหลือตัวเองได้เบื้องต้น จึงมีประโยชน์และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ทีมที่สองคือ “บัมเบิลเบรลล์” ชื่อคล้ายรถยนต์ตัวเอกในหนังเรื่อง ทรานส์ฟอร์เมอร์ แต่เปลี่ยนคำลงท้ายเป็นเบรลล์ ซึ่งหมายถึง อักษรเบรลล์นั่นเอง

ที่มาของแนวความคิดคือ ปัจจุบันนั้นกระบวนการในการผลิตสิ่งพิมพ์ที่เป็นอักษรเบรลล์นั้น มีความยุ่งยากและมีราคาแพงมาก ทำให้หนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตาหายากและราคาสูง ไม่เป็นที่แพร่หลาย เวลาที่มีหนังสือมาก็จะใช้กันจนตัวอักษรเลือนแทบอ่านไม่ออก

วิธีคิดของเขาคือ ใช้ซอฟต์แวร์ในการแปลภาษาจากภาษาปกติเป็นตัวอักษรเบรลล์ จากนั้นพัฒนาเครื่องพิมพ์แบบเข็มใหม่ ให้สามารถพิมพ์กดเป็นร่องนูนได้ ดังนั้นจึงสามารถแปลงตัวอักษรปกติให้เป็นตัวอักษรเบรลล์ได้ทันทีอย่างรวดเร็ว

อีกครั้งครับ โครงการนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น โดยน้องนักศึกษาเขามีเพียง Mock up ต้นแบบคร่าวๆ ให้ดูแบบในหนังเท่านั้น ยังไม่สามารถใช้งานได้จริงแต่อย่างใด

แต่นี่แหละครับที่มีความสำคัญมากอย่างยิ่งต่อกระบวนการพัฒนานวัตกรรม

เพราะจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย ล้วนเริ่มต้นมาจากแนวความคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหา

แน่นอนครับว่า การแก้ไขปัญหาย่อมต้องใช้เวลา และเกี่ยวพันกับหลายเรื่องตั้งแต่ เทคโนโลยีที่รองรับจนถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และแน่นอนอีกเช่นกันว่า แนวคิดนั้นอาจไปไม่รอด ฝันอาจสลาย

ซึ่งถ้าหากเรารักที่จะทำนวัตกรรม เราต้องยอมรับเรื่องของความล้มเหลวให้ได้ เหมือนเด็กที่ต้องล้มก่อนที่จะเดินหรือวิ่งได้ แต่ถ้าหากเราไม่กล้าล้ม หรือกลัวการล้มจนเกินไป เราก็จะเดินได้ช้า หรือไม่ก็อาจเดินไม่เป็นเลยก็ได้

ผมจึงเห็นว่า การประกวดอย่างนี้เป็นก้าวสำคัญมาก ต่อการพัฒนานวัตกรรมของคนไทย

ส่วนรุ่นใหญ่นั้น มี 2 ทีมที่มาชกกันในรอบสุดท้าย ทีมแรกคือ “ชุดทดสอบสังกะสีภาคสนาม” นำทีมโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งทำชุดทดสอบคุณภาพของดินที่ใช้ปลูกข้าวอย่างง่ายและเร็ว

ถามว่า ทำไมถึงทำเรื่องนี้ จุดเริ่มคือ การปลูกข้าวของคนไทยนั้น มี yield หรือผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก ซึ่งเป็นเพราะเราบำรุงดินไม่ถูกวิธี หรือเพาะปลูกซ้ำบนดินผืนเดียวกันเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้คุณค่าของสารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกนั้นลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะเรื่องข้าว สารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของข้าวคือ ซิงค์ หรือสังกะสี ซึ่งถ้าหากในดินมีสังกะสีมาก จะส่งผลโดยตรงต่อปริมาณเมล็ดข้าวต่อรวง

ดังนั้น เมื่อมีชุดทดสอบอย่างเร็ว ก็จะทำให้ชาวนารู้ว่า ที่นาของตนนั้นมีสังกะสีมากหรือน้อยเพียงใด จากนั้น จะได้สามารถเติมแร่ธาตุโดยการใส่ปุ๋ยต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่การอัดปุ๋ยอย่างสะเปะสะปะ สิ้นเปลืองต้นทุนโดยที่ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ

โครงการนี้ มีการผลิตจริงแล้ว และพร้อมจำหน่าย เมื่อมาแข่งกันจึงเป็นการเทียบกันในเรื่องของสาระ ศักยภาพ โอกาส และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

อีกทีมคือ “กระดุมโชติกา” ซึ่งเป็นกลุ่มแพทย์และผู้ประกอบการจากเชียงใหม่ คำว่า กระดุมหมายถึง อุปกรณ์ที่ใช้ติดกะโหลกศีรษะคนเข้าด้วยกันใหม่ หลังการผ่ากะโหลกเพื่อรักษาแล้ว ที่ผ่านมาใช้อุปกรณ์ที่ทำให้รอยต่อไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร ถ้าหากใช้วัสดุนำเข้าก็มีราคาแพง เกินความสามารถในการใช้งานของผู้ป่วยยากจน

กระดุมโชติกา ทำมาจากกระดูกวัวครับ โดยขั้นตอนในการผลิตผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางสาธารณสุขแล้ว และมีการทดลองในมนุษย์จริงแล้ว มีคนใช้งานไปแล้วได้ผลทางการรักษาเป็นที่พอใจ เนื่องจากเป็นวัสดุจากธรรมชาติ หาได้ง่าย และมีราคาต่ำกว่าวัสดุนำเข้ามาก

ในความเห็นของผม ทั้งสองโครงการใน Inno Tree นั้น สมควรอย่างยิ่งที่จะยกระดับให้เป็นโครงการแห่งชาติ เพราะหนึ่ง เราปลูกข้าวกันมาก โดยที่เรามีผลผลิตต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุน การใช้เครื่องมือมาช่วยให้ชาวนาทำการวิเคราะห์ช่วยเหลือตนเองได้ ก็เท่ากับการช่วยเหลือชาติในทางตรง ส่วนอีกโครงการหนึ่งนั้น เป็นการแสดงถึงศักยภาพของคนไทย ในการผลิตอุปกรณ์ที่มีความละเอียดอ่อน ต้องการความแม่นยำถูกต้องสูง และต้องผ่านมาตรฐานสาธารณสุขในระดับสากล จึงสมควรเป็นโครงการที่เชิดหน้าชูตาของประเทศได้

True Innovation สำหรับผมจึงไม่ได้หมายถึง นวัตกรรมของบริษัท ทรู เท่านั้น แต่ผมเห็นว่า นี่แหละเป็นนวัตกรรม “ตัวจริง” ของประเทศ ที่บริษัททั้งหลายสามารถยึดเป็นแบบอย่างแนวทางในการพัฒนาได้ เพื่อให้เกิดเป็น True Thai Innovation สำหรับประเทศต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : True Innovation

view